04 กันยายน 2567

กรมกิจการผู้สูงอายุ จัดงานประชุมเชิงวิชาการระดับภูมิภาค

“รูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับผู้สูงอายุในประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม (ASEAN+3 Regional Conference on Life-long Learning)”  


วันนี้ (4 ก.ย. 2567) เวลา 09.00 น. นางพรนิภา มาสิลีรังสี รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดงาน ประชุมเชิงวิชาการระดับภูมิภาค เรื่อง “รูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับผู้สูงอายุในประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม (ASEAN+3 Regional Conference on Life-long Learning)” เพื่อรวบรวม จัดทำข้อมูลด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดทุกช่วงวัย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้สูงอายุในกลุ่มประชาคมอาเซียนบวกสาม และสร้างเครือข่ายในเชิงวิชาการด้านผู้สูงอายุในกลุ่มประชาคมอาเซียนบวกสาม โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร รักษาการอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต้อนรับ ผู้บริหารกระทรวง พม. ผู้ประสานงานหลักสาขาสวัสดิการสังคมและการพัฒนา (SOMSWD Focal Points) จากประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศบวกสาม สำนักเลขาธิการอาเซียน องค์การระหว่างประเทศ องค์กรเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ โรงแรมอโนมา แกรนด์ กรุงเทพมหานคร




นางพรนิภา กล่าวว่า ประเทศไทยเล็งเห็นว่าการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิตมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในบริบทของสังคมไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ซึ่งจะมีบทบาท ดังนี้ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีทักษะและความรู้ใหม่ๆ ที่จำเป็นในยุคปัจจุบัน ส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันภาวะซึมเศร้า การมีส่วนร่วมในสังคม เพิ่มโอกาสในการทำงานหรือกิจกรรมที่มีคุณค่าและลดช่องว่างระหว่างวัย การปรับตัวกับเทคโนโลยี ช่วยให้ผู้สูงอายุใช้เทคโนโลยีได้ดีขึ้นและส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลและบริการต่างๆ การส่งเสริมเศรษฐกิจ ผู้สูงอายุที่มีความรู้และทักษะสามารถทำงานหรือประกอบอาชีพได้นานขึ้น โดยเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนบูรณาการ เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังสูงวัยผ่านการบูรณาการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวง พม. ส่งเสริมให้ “ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นพลังขับเคลื่อนสังคม” ดังนั้น จึงได้ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดทุกช่วงวัยเพื่อให้ผู้สูงอายุอยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่ามีศักดิ์ศรี 



นางพรนิภา กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมภายในงานวันนี้ เป็นการการบรรยายแลกเปลี่ยนในหัวข้อ “รูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตในประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม” โดยผู้แทนสำนักเลขาธิการอาเซียน และการนำเสนอผลงานของประเทศอาเซียนในประเด็นนโยบายมาตรการและการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนรู้ และกำหนดนโยบายและแนวทางร่วมกันต่อไป