นายอนันต์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ความท้าทายทางประชากรศาสตร์มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทั่วโลก แม้ว่าประชากรโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 8 พันล้านคน แต่อัตราการเพิ่มจำนวนประชากรนั้นกลับช้าลงมาก ในขณะที่จำนวนประชากรผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ถึงประมาณ 1 พันล้านคน คิดเป็นร้อยละ 14 ของประชากรโลก สำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงทางประชากรที่สำคัญที่สุดของโลก เนื่องจากอายุคาดเฉลี่ยที่ยืนยาวขึ้นและอัตราการเจริญพันธุ์ที่ต่ำลง ซึ่งคาดการณ์ว่า ในช่วงระหว่างปี 2553 ถึง 2593 จำนวนผู้สูงอายุในภูมิภาคนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า หรือจะมีจำนวนถึง 1.3 พันล้านคน และภายในปี 2593 ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด การสูงวัยของประชากรโลก ก่อให้เกิดความท้าทายหลายประการ เช่น การเปลี่ยนแปลงของอัตราการเกิดโรค ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและการดูแลระยะยาวที่สูงขึ้น การขาดแคลนแรงงาน และปัญหาด้านความมั่นคงทางรายได้ในวัยชรา ความท้าทายเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและปัญหาในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมสู่ความยั่งยืน นอกจากนี้ แนวโน้มของขนาดครัวเรือนที่เล็กลงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการสูงวัยของประชากร การพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นเมือง และการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัว
นายอนันต์ กล่าวต่อไปว่า คุณค่าของครอบครัวและความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในครอบครัว ส่งผลกระทบต่อสมาชิกทุกคน เมื่อครัวเรือนมีขนาดเล็กลง และองค์ประกอบของครอบครัวมีความซับซ้อนมากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจำเป็นต้องมีระบบสนับสนุนเพื่อรองรับโครงสร้างครอบครัวที่หลากหลาย รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกของคนระหว่างรุ่น การสร้างคุณค่าของครอบครัว และการสนับสนุนนโยบายด้านการดูแลเด็กและผู้สูงอายุ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ มีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับการพัฒนานโยบายหรือมาตรการในการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีผ่านพลวัตครอบครัวและความสัมพันธ์ของคนระหว่างรุ่นนั้น ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศ
นายอนันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนปฏิบัติการระหว่างประเทศมาดริดว่าด้วยผู้สูงอายุ (MIPAA) เน้นย้ำถึงยุทธศาสตร์สำคัญด้านผู้สูงอายุกับการพัฒนา การสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีและมีสุขภาวะ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนและที่เหมาะสม ซึ่งเป็นสาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้ โดยคาดหวังว่าจะเป็นการร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิด แนวปฏิบัติประสบการณ์ ความท้าทาย โอกาสของสังคมสูงวัย ในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ และจะร่วมกันหาหนทางแห่งความร่วมมือเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีและรับมือกับวิกฤติประชากร ร่วมกันเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ ร่วมกันแสวงหาแนวทางส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของคนทุกวัยด้วยมุมมองแบบองค์รวมภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม