03 กันยายน 2567

พม. ร่วมกับ TEI และ สสส. ดึงภาคประชาสังคม สร้างกลไกขับเคลื่อนองค์กรสุขภาวะ

ประกาศเจตนารมณ์ “ภาคประชาสังคมยุคใหม่ใส่ใจสุขภาวะ”


      วันที่ 3 กันยายน 2567 ณ ห้องปรินซ์บอลรูม 2 ชั้น 11  โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพฯ โดยมี นางภิญญา จำรูญศาสน์ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ  เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ผนึกกำลังร่วมขับเคลื่อนองค์กรสุขภาวะภาคประชาสังคม” พร้อมปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกับการผลักดันงานสุขภาวะองค์กรกลุ่มภาคประชาสังคม” ร่วมกับ นายวิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย นายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูรณ์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักสนับสนุนสุขภาวะในองค์กร (สำนัก 8) และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมด้วยภาคีภาคประชาสังคมทั่วประเทศ ร่วม “สร้างกลไกการขับเคลื่อนงานองค์กรสุขภาวะกลุ่มภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน” เผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์โรค และปัจจัยที่ส่งผลต่อปัญหาพฤติกรรมสุขภาพของคนทำงานภาคประชาสังคม และ Kick of การส่งเสริม พัฒนาศักยภาพและขับเคลื่อนองค์กรแห่งความสุข ลดปัจจัยเสี่ยง สร้างปัจจัยเสริมด้านสุขภาพให้บุคลากร นำไปสู่ผลลัพธ์ทางสุขภาวะที่ดีครบทั้ง 4 มิติ ได้แก่ ร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม ตามแนวทางความสุขแปดประการ (Happy 8) แนวทางการสร้างเสริมสุขภาพ (7+1) สสส. พร้อมทั้งร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ภาคประชาสังคมยุคใหม่ใส่ใจสุขภาวะ ผนึกกำลัง “ลด แอลกอฮอล์บุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อสุขภาพที่ดีของคนทำงาน



   นางภิญญา กล่าวว่า ความร่วมมือในวันนี้เป็นโอกาสสำคัญในการสร้างกลไกขับเคลื่อนองค์กรสุขภาวะภาคประชาสังคม ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทำงานและเสริมสร้างศักยภาพขององค์กรภาคประชาสังคมให้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศร่วมกับภาครัฐ โดยการขับเคลื่อนนี้สอดคล้องกับนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากรของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มุ่งเน้นการเสริมพลัง การเพิ่มโอกาส และการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อคนทุกช่วงวัย โดยอาศัยพลังจากทุกภาคส่วนมาร่วมพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ ต้องขอบคุณสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และ สสส. ให้ความสำคัญกับบทบาทขององค์กรภาคประชาสังคม โดยขับเคลื่อนโครงการและสร้างความตระหนักรู้ให้คนวัยทำงานเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาวะที่ดีขึ้นนำไปสู่ความเข้มแข็งขององค์กรกลุ่มภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่อง






   ดร.วิจารย์ กล่าวว่า ภาคประชาสังคม มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศร่วมกับภาครัฐ ซึ่งการทำงานของภาคประชาสังคมที่ผ่านมาต้องเผชิญกับสถานการณ์และปัญหาที่ซับซ้อนในประเด็นการทำงานที่หลากหลาย จึงส่งผลต่อแรงกดดันและพฤติกรรมการใช้ชีวิต อันส่งผลต่อสุขภาพการและสุขภาพจิตที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้ โครงการในวันนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่กลุ่มภาคประชาสังคมจะร่วมเรียนรู้ ส่งเสริม พัฒนาศักยภาพ และร่วมขับเคลื่อนงานสุขภาวะองค์กร “ลดปัจจัยเสี่ยง สร้างปัจจัยเสริม” ด้านสุขภาพให้กับคนทำงานให้เกิดผลลัพธ์ทางสุขภาวะที่ดีขึ้น 4 มิติ ได้แก่ กาย ใจ ปัญญา และสังคม ตามแนวทางขององค์กรสุขภาวะ (Happy Workplace) แนวคิดความสุขแปดประการ (Happy 8) และแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพ (7+1) ของ สสส.

   นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ (ผอ.สสส.) กล่าวว่า ในฐานะที่ สสส. เป็นหน่วยงานหลักในการเสริมสร้างสุขภาวะองค์กรมาอย่างต่อเนื่องทั้งในกลุ่มองค์กรภาคสาธารณะ ภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญในการขยายผลแนวทางสุขภาวะองค์กร ซึ่งโครงการและความร่วมมือในวันนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพและปรับมุมมองระบบการดูแลสุขภาพ เป็นการ “สร้างเสริม” เพื่อลด “ซ่อมสร้าง” เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดียิ่งขึ้นตามแนวคิด  Healthy Workplace Framework ของกรมอนามัยโลก พัฒนาคนในองค์กรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งกาย ใจ และสังคม ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์และเป้าหมายสำคัญของ สสส.

   นอกจากนี้ งานในวันนี้ยังมีกิจกรรมสำคัญอีกมากมาย เช่น เวทีเสวนาแลกเปลี่ยน “ทิศทางกลไกการขับเคลื่อนความร่วมมืองานสุขภาวะองค์กรกลุ่มภาคประชาสังคม” กิจกรรม เสริมพลัง Happy Workplace สร้างสุของค์กรภาคประชาสังคม บูธนิทรรศการประเด็นงานส่งเสริมสุขภาวะจากหลายองค์กร เช่น SAANSOOK สสส. สำนัก 8 กรมส่งเสริม อุตสาหกรรม เครือข่ายคนไทยไร้พุง  ธนาคารจิตอาสา และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย