21 มีนาคม 2565

ดร.สายสม วงศาสุลักษณ์ จัดกิจกรรม “อบรมอาสาสมัครในโครงการพระราชดำริ เฉลิมพระเกียรติ 90 พรรษา สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง”

“อบรมอาสาสมัครในโครงการพระราชดำริ เฉลิมพระเกียรติ 90 พรรษาสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง” 

เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระชนมายุครบ 90 พรรษา และในโอกาสครบรอบ 60 ปี แห่งการก่อตั้งมูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ดร.สายสม  วงศาสุลักษณ์ ประธานมูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จึงได้จัดกิจกรรม “อบรมอาสาสมัครในโครงการพระราชดำริ เฉลิมพระเกียรติ 90 พรรษา สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ขึ้นเมื่อวันพุธที่ 9 มีนาคม 2565 ณ ห้องประชุมหทัยนเรศวร์ ชั้น 7 มูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์

กิจกรรมดังกล่าว ถือเป็นโครงการสำคัญในการให้ความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนการบูรณาการด้านการดูแลผู้พิการทางสติปัญญา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานด้านอาสาสมัคร ในการลงพื้นที่และเข้าถึงการดูแลผู้ป่วยอย่างแท้จริง อีกทั้งยังถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญในโอกาสครบรอบ 60 ปี แห่งการก่อตั้งมูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์  และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ 90 พรรษา สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งพระองค์ท่านฯ ได้ทรงพระราชทานโครงการอาสาสมัครในพระราชดำริ ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 นับแต่วันนั้นมา มูลนิธิฯ ได้น้อมนำโครงการอาสาสมัครในพระราชดำริ โดยการออกเยี่ยมผู้พิการทางสติปัญญา และครอบครัวผู้พิการทางสติปัญญา โดยช่วยเหลือด้วยการให้ความรู้ คำแนะนำ ตลอดจนให้คำปรึกษาด้านการดูแลผู้พิการทางสติปัญญาและครอบครัว อีกทั้งยังมอบถุงยังชีพและเงินสงเคราะห์เพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ


การจัดอบรมอาสาสมัครในโครงการพระราชดำริครั้งนี้ เป็นการบูรณาการในเชิงความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ และมากประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้พิการทางสติปัญญา โดยได้รับความกรุณาจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมบรรยาย ได้แก่​แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา บรรยายเรื่อง “ ภาวะปัญญาอ่อน ” ,นายชูศักดิ์  จันทยานนท์ นายกสมาคนสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย บรรยายเรื่อง “ สิทธิคนพิการ ” ,นางสาวอุ่นใจ  จาวโกนันท์ นักกายภาพบำบัด ศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง  บรรยายเรื่อง  “ กายภาพบำบัด ” ,นายศักดา – นางนฤมล   สัจจะมิตร กรรมการบริหารและรองประธานฝ่ายหาทุนมูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ บรรยายเรื่อง “ประสบการณ์ของผู้ปกครองที่มีลูก เป็นเด็กบกพร่องทางสติปัญญา”​

การบรรยายเริ่มต้นที่ แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา เป็นท่านแรก โดยคุณหมอ กล่าวว่าอาการที่แสดงภาวะบกพร่องทางสติปัญญาต้องแสดงก่อนอายุ 18 ปี อย่างไรก็ตามเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ที่มีอาการแสดงภาวะบกพร่องทางสติปัญญายังไม่ควรได้รับการวินิจฉัยว่ามีความบกพร่องทางสติปัญญา แต่ควรได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะบกพร่องทางพัฒนาการมากกว่า จากนั้นจึงคอยติดตามผล และเมื่อเด็กมีอายุมากขึ้นจึงจะมีการวินิจฉัยความบกพร่องทางสติปัญญา

​พญ.มธุรดา ยังกล่าวถึงคุณสมบัติที่ดีของการเป็นอาสาสมัครที่ต้องดูแลบุคคลที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา ว่าหน้าที่ของจิตอาสาที่สำคัญคือ “การฟังและการให้กำลังใจ” การช่วยเหลือบุคคลที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา จะเน้นการฟื้นฟูสมรรถภาพของสมองและร่างกาย มากกว่าการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว การวินิจฉัยให้เร็วที่สุด และการฟื้นฟูสมรรถภาพทันทีที่วินิจฉัยได้ จะช่วยหยุดยั้งความพิการมิให้เพิ่มขึ้น

“แนวทางการฟื้นฟูสมรรถภาพทำได้ด้วยทางการแพทย์ ทางการศึกษา ทางอาชีพ และการป้องกันภาวะบกพร่องทางสติปัญญาในช่วงระยะก่อนตั้งครรภ์ ระยะตั้งครรภ์ และหลังคลอด”

พญ.มธุรดา ได้ฝากข้อคิดในการดูแลรักษาบุคคลที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา ว่า เราต้องให้บุคคลที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาสามารถเรียนรู้ ดำเนินชีวิตอย่างทัดเทียมและมีความสุขในสังคมได้เช่นเดียวกับบุคคลปกติ ถ้าสังคมเปิดโอกาสและให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม จะช่วยเอื้ออำนวยให้บุคคลที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาได้ใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่า

​ด้าน นายชูศักดิ์  จันทยานนท์ นายกสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการผลักดันทางด้านกฎหมายเพื่อคนพิการว่ามี 2 ฉบับ ด้วยกันได้แก่ พรบ. ส่งเสริมการศึกษาสำหรับคนพิการ และพรบ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ  นอกจากนี้ก็ยังกฎหมายที่สำคัญสำหรับคนพิการ 1 ฉบับ คือ พรบ.สุขภาพจิต

​นายชูศักดิ์ ยังแนะด้วยว่าการจะมาเป็นอาสาสมัครเพื่อดูแลคนพิการ จะต้องมีความรู้ติดตัว คือ1. ประเภทคนพิการ​แบ่งออกเป็นแบบประจักษ์   :   กาย ตา หู   และแบบไม่ประจักษ์   :   สติ ออทีสติก แอลดี(LD : Learning Disorder = โรคการเรียนรู้บกพร่อง) และจิต ,2. บัตรคนพิการ การมีบัตร คือ การมีสิทธิต่างๆ ทางกฎหมายตั้งแต่แรกเกิดไปถึงปลายทาง​ของชีวิต ,3. เบี้ยคนพิการ คนพิการทุกคนจะได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 800 บาทต่อเดือน และได้เพิ่มอีก 200 บาท ถ้ามีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ มีอายุไม่เกิน 18 ปี นอกจากนี้ คนพิการที่มีอายุ 60-69 ปี จะได้รับเงินช่วยเหลือ 800 บาท กับเบี้ยยังชีพอีก 600 บาท เท่ากับ 1,400บาท ,อายุ70-79 ปี จะได้รับเงินช่วยเหลือ800บาท กับเบี้ยยังชีพอีก 700 บาทเท่ากับ 1,500 บาท ,อายุ 80-89 ปี ได้รับเงินช่วยเหลือ800บาท กับเบี้ยยังชีพอีก800 บาทเท่ากับ1,600 บาท และถ้ามีอายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินช่วยเหลือ800บาท กับเบี้ยยังชีพ1,000 บาท เท่ากับ 1,800 บาท สุดท้ายข้อที่ 4. สิทธิการรักษาพยาบาล​ ประกอบด้วย สิทธิของการรักษาพยาบาล ,สิทธิด้านการฝึกและฟื้นฟูกระตุ้นพัฒนาการทางร่างกาย,สิทธิทางการศึกษา

​นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า การมีบัตรคนพิการไม่ใช่เป็นบุคคลไร้ความสามารถ การเป็นบุคคลไร้ความสามารถต้องมีศาลสั่งโดยผ่านการพิจารณาว่าพึ่งตนเองไม่ได้ ไร้ความสามารถและเสมือนไร้ความสามารถ ดังนั้น คนพิการสามารถเปิดบัญชีธนาคารได้ มีใบขับขี่ได้ เป็นต้น นอกจากนี้กฎหมายคนพิการ ยังมีสาระสำคัญอื่นๆ ที่น่ารู้อีก อาทิ

1.สถานศึกษาใดที่ไม่รับเด็กพิการหรือปฏิเสธการเข้ารับการศึกษา ถือว่าเลือกปฏิบัติ ดังนั้น จึงต้องรับเข้าศึกษา ตามมาตรา 157 โดยโรงเรียนต้องปรับสภาพแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้พิเศษ และผลักดันให้เกิดการศึกษาทางเลือก กศน. ด้านการศึกษาพิเศษ เพื่อนำวุฒิการศึกษาไปประกอบอาชีพในด้านต่างๆ,2. มาตรา 33,34,35 กฎหมายบังคับให้สถานประกอบการที่มีพนักงาน 100 คน ต้องมีการจ้างคนพิการ 1 คน โดยมีรายได้ในอัตรา คือ แรงงานขั้นต่ำ คูณ 365 วัน เป็นต้น

​ส่วน นางสาวอุ่นใจ  จาวโกนันท์ นักกายภาพบำบัด ศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง กล่าวถึงบทบาทของการทำกายภาพบำบัดสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาว่า มีความสำคัญในการฟื้นฟูอย่างมาก เช่น ภาวะของกระดูกและกล้ามเนื้อใช้วิธีการออกกำลังกายที่สม่ำเสมอเพื่อพัฒนาขา แขน และกล้ามเนื้อ ให้มีการฟื้นฟู ตลอดจนการสังเกตการณ์ปวดการชาของกล้ามเนื้อไปด้วย โดยการบริหารกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ ในส่วนการกายภาพด้ายระบบประสาท มักจะเกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดในสมอง (Stroke) ที่ต้องมีการฝึกทางกายภาพพร้อมๆ กับการดูแลของแพทย์

​นางสาวอุ่นใจ กล่าวต่อว่า การทำกายภาพบำบัดในผู้ป่วยเด็ก ใช้สังเกตอาการของเด็กโดยเฉพาะภาวะความบกพร่องทางสติปัญญา ด้านการตรวจประเมิน การซักประวัติ การสังเกต การตรวจกล้ามเนื้อ ดูองศาความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ การเดิน-วิ่ง การทรงตัว การนั่ง การยืน และที่สำคัญคือการแก้ไขปัญหาและความกังวลของผู้ป่วยเพื่อการวิเคราะห์ในรายละเอียดที่นำไปสู่การให้การบำบัดฟื้นฟูทางกายภาพ

​​​“ความบกพร่องทางสติปัญญานั้น มักมีปัญหาเกือบทุกด้านในชีวิตประจำวัน รวมทั้งปัญหาการเรียน เพราะเด็กจะมีข้อจำกัดในการเรียนรู้ ทำให้ไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้เท่ากับผู้อื่น” นางสาวอุ่นใจกล่าวทิ้งท้าย

​นายศักดา สัจจะมิตร คนไทย   เชื้อสายอินเดีย นับถือศาสนาซิกข์ เกิดในแผ่นดินรัชกาลที่ 9  เล่าประสบการณ์ของการเป็นพ่อแม่ของลูกสาวที่มีความบกพร่องทางสติปัญญามากว่า 40 ปี อย่างมีความสุข เริ่มจากพันธะสัญญาทางใจที่ได้รับมอบการเลี้ยงดูลูกสาวของพี่สาวแท้ๆ ของตน มาอุปการะ

“เรามีความสุขมาก ในชีวิตนี้มีสิ่งดีๆ ในทุกด้านที่มีลูกคนนี้” นายศักดา กล่าว  

​นายศักดา เล่าต่อว่า ความสุขที่เราได้รับก็เริ่มมีอุปสรรค เมื่อแพทย์ได้รายงานสรุปว่า “ลักษมี” บุตรสาว   เป็นดาวน์ซินโดรมและด้วยความที่น้องลักษมี มีความพิการทางสติปัญญา พี่สาวจึงมิอาจจะยกลูกสาวให้ตนและภรรยาได้ แต่ด้วยความตั้งใจอันแรงกล้าและมีความประสงค์ที่จะรับเลี้ยงน้องลักษมี แม้จะทราบว่าสุขภาพภาวะทางร่างกายนั้นอ่อนแรงมากและนำไปสู่การที่ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมาย  อาทิ อาการชัก พัฒนาการช้า ดื่มนมช้า ทานอาหารได้ยาก และต้องพบกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตามโรค และสภาพอาการในแต่ละชนิดเฉพาะด้านบ่อยครั้ง การทานยา การรักษา การทำกายภาพ การเฝ้าดูแลอาการ และการเดินทางไปพบแพทย์หลากหลายโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่องก็มิได้ทำให้ ตนย่อท้อ

นอกจากพัฒนาการที่ยังไม่ดีขึ้นแล้ว น้องลักษมียังพบกับอาการอื่น ๆ แทรกตามมาอีก คือ ปอดบวม หลอดลมอักเสบ เมื่อพบอาการก็ต้องเริ่มต้นการรักษากันใหม่บ่อยครั้ง ทุกปัญหาที่ทั้งตนและภรรยา เผชิญไม่ทำให้เราท้อแท้เลยมีแต่ความตั้งใจที่จะดูแลน้องลักษมีอย่างดีที่สุด เพื่อให้มีสมรรถภาพที่ดีขึ้นให้มากที่สุด ทำหน้าที่พ่อแม่ให้ดีที่สุด ให้ความรักอย่างมากที่สุด ให้สมกับการที่ได้รับเลี้ยงน้องลักษมีมา แม้ว่า ณ วันนี้ น้องลักษมี อายุ 40 ปี ย่างเข้าสู่ปีที่ 41 น้องลักษมีก็ยังไม่สามารถเคี้ยวข้าวด้วยตัวเองได้เลย....  ทุกอย่างต้องตำและบดให้ละเอียดทุกอย่าง การเจ็บป่วยของลักษมีเอง น้องไม่สามารถอธิบายอาการได้เลย ดังนั้น ต้องดูตลอดเวลาและทุกวิถีทาง

นายศักดา และนางนฤมล ตอกย้ำถึงความเชื่อส่วนตัวว่า การทำความดี ทุกสิ่งที่ดีก็จะกลับมาหาเรา รอยยิ้มของลูก คือ ความสุขของเรา เรามองลักษมีด้วยความรักและพบว่าลูกคือความสุขและอยากให้น้องอายุยืนสุขภาพแข็งแรง  เด็กคนนี้มีบุญ.......ที่ได้มอบความสุขให้เรา ลูกที่เป็นแบบนี้ไม่มีวันทิ้งเรา......จะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต.......ให้ความสุขกับเรา ดังนั้น การไม่รู้ของน้องทำให้น้องไม่มีกิเลส ไม่มีปัญหา น่ารักกว่าเด็กทั่วไปหลายอย่าง  เราได้ลูกคนนี้มาเหมือนได้เทวดามาอยู่กับเรา  เป็นบุญของเราแล้ว

​“เราสามารถทำความดีด้วย กาย วาจาใจ ทรัพย์ เวลา และความรู้ การทำความดีไม่ต้องใช้เงิน เอากำลังกายมาแบ่งปัน โดยใช้ทุนที่ทุกคนมีเท่ากัน คือ เวลา......มาแบ่งปันกัน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีและจะติดตัวเราไปในภพหน้า  ดังนั้น เราควรทำความดีต่อไปโดยไม่ท้อแท้

​บุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจ ในการทำความดี และทำให้เราอยากเดินตามรอย คือพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ท่านเป็นแรงบันดาลใจในการทำความดี และระลึกถึงพระองค์ท่านอยู่เสมอ นึกถึงคุโนปการณ์และพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านไม่มีวันลืม

​การทำงานในมูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์   เรายังได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง   ที่พระองค์ท่านได้รับมูลนิธิฯ นี้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ทำให้มูลนิธิฯ เป็นที่รู้จักและน้อมนำโครงการในพระราชดำริไปปฏิบัติต่อไป” นายศักดากล่าวตอนท้าย