14 ธันวาคม 2566

อิมเมจิน ไทยแลนด์ ร่วมกับ สสส. จัดเวทีสาธารณะ รวมพลัง “ผู้ก่อการดี”

อิมเมจิน ไทยแลนด์ ร่วมกับ สสส. จัดเวทีสาธารณะ สรุปผลขับเคลื่อน 8 พื้นที่สุขภาวะต้นแบบชื้โลกป่วน สังคมเปลี่ยน ถึงเวลารวมพลัง “ผู้ก่อการดี” สู้ภัยปัจจัยเสี่ยงแนะเรียนรู้จากต้นแบบ และลงมือทำทันที เริ่มจากตนเองและในครอบครัว

Imagine Thailand Movement ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีสาธารณะรวมพลังผู้ก่อการดี 8 พื้นที่สุขภาวะต้นแบบ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ภายใต้แนวคิด
“ร่วมกัน...เราทำได้ Co-creating Wellbeing Society” เพื่อสรุปผลการขับเคลื่อนพื้นที่สุขภาวะในพื้นที่ต่างๆ พร้อมจัดเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้พื้นที่อื่นๆ ได้นำไปขยายผลสู่การสร้างพื้นที่สุขภาวะในประเทศไทยให้มากขึ้น



โดยในงานได้รับเกียรติ ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ กรรมการบริหารแผนคณะ 1 สสส. มาให้ข้อคิด ให้กำลังใจ กับผู้ก่อการดี จาก 8 พื้นที่สุขภาวะ อาทิ ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน คุณแม่ศรีนวล ขำอาจ พ่อเสริม คำแปง ป้าแจ๋ว จงดี เศรษฐอำนวย ดร. วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร ดร. อภิลักษณ์ เกษมผลกูล กำนันอิทธิฤทธิ์ ยะแสง กำนันตำบลเจดีย์ชัย จ.น่าน และ กำนันสมิทธิ สุภาพพรชัย กำนันตำบลเจ็ดเสมียน จ.ราชบุรี เป็นต้น
ดร. อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทางสังคม (ประเทศไทย) และริเริ่มการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ Imagine Thailand Movement กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้วของโลกยุคใหม่ ที่มาพร้อมกับปัจจัยเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ มากมาย ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของคนทุกวัยในสังคม จนยากเกินกว่าใครคนใดคนหนึ่งจะแก้ไข ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพและพลังความร่วมมือ ตลอดกว่า 2 ปีที่ผ่านมานี้ การดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ โดยการสนับสนุนของสสส. ทำให้เห็นถึงความรักความปรารถนาดีของผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ผู้นำทางความคิด ปราชญ์ ศิลปิน ศิลปินแห่งชาติ อสม. ผู้สูงอายุ จิตอาสา ผู้ประกอบการ รวมถึงเยาวชน ที่รวมเรียกว่า “ผู้ก่อการดี” ซึ่งเมื่อได้รับรู้ถึงสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาปัจจัยเสี่ยง ที่มีต่อเยาวชนและชุมชน ต่างยินดีมาร่วมก่อการดี ด้วยเป้าหมายที่มีคุณค่า สร้างตำบล ชุมชน และสังคมที่มีสุขภาวะทุกมิติ คือทั้ง กายดี ใจดี สังคมดี และสิ่งแวดล้อมดี

ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ กรรมการบริหารแผนคณะ 1 สสส. กล่าวว่า การรวมพลังของเครือข่ายผู้ก่อการดีขับเคลื่อนพื้นที่สุขภาวะ นับเป็นตัวอย่างของพลังความร่วมมือที่มีศักยภาพในหลายพื้นที่ นำโดยผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้นำทางศาสนา และศิลปินแห่งชาติ ได้เข้ามามีส่วนร่วมผลักดันให้เรื่องการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนชุมชน โดยได้มีการสร้างพื้นที่สุขภาวะ กำหนดกติกา/ข้อตกลงร่วมในการอยู่ร่วมกัน และบรรจุเรื่องนี้เข้าไปในธรรมนูญของชุมชนเพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคนในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เยาวชนได้มีพื้นที่ทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ส่งผลให้ห่างใกล้จากปัจจัยเสี่ยง อาทิ บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และแอลกอฮอล์ เป็นต้น อันเป็นเป้าหมายสำคัญของสสส. ในการดูแลสภาพแวดล้อมให้ปลอดควันบุหรี่ และป้องกันเยาวชนไม่ให้เป็นนักสูบหน้าใหม่ในอนาคต

สำหรับ 8 พื้นที่สุขภาวะต้นแบบเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ประกอบด้วย 1.โรงเรียนภัทราวดี หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์ 2.แหล่งเรียนรู้ลำตัดและเพลงพื้นบ้านภาคกลาง พ่อหวังเต๊ะ -แม่ศรีนวล อ.บางเลน จ. นครปฐม 3.ชุมชนบ้านท่ามะพร้าว อ.คลองท่อม จ. กระบี่ 4.ชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ อ.พุทธมณฑล จ. นครปฐม 5.ตลาดในสวนบ้านหัวอ่าว อ.สามพราน จ.นครปฐม 6.ชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 7.ตำบลเจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี และ 8.ตำบลเจดีย์ชัย อ.ปัว จ.น่าน

จากการขับเคลื่อน ก่อเกิดตัวอย่างกิจกรรมสร้างพื้นที่สุขภาวะหลากหลายรูปแบบ ที่สามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่ เช่น ที่โรงเรียนภัทราวดี หัวหิน คุณครูเล็ก ภัทราวดี ศิลปินแห่งชาติ ได้นำแนวคิดเรื่องการสร้างสุขภาวะ ไปใช้ในการเรียนการสอน เกิดเป็น Hub of Education / แม่ศรีนวล ขำอาจ ศิลปินแห่งชาติ ใช้ศาสตร์เพลงพื้นบ้านถ่ายทอดแนวคิดเรื่องการสร้างสุขภาวะ /การเปิดตลาดในสวน ตลาดชุมชนที่เป็นจุดเชื่อมต่อ สุขภาวะของคนทุกวัย ของชุมชนบ้านหัวอ่าว / การเปลี่ยนจุดเสี่ยงให้เป็นจุด Check in ที่ ต.เจดีย์ชัย / การเปลี่ยนแหล่งมั่วสุม ให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ใช้สอนมวยไทยให้เยาวชน ที่บ้านท่ามะพร้าว / การปรับปรุงพื้นที่อาคารเอนกประสงค์ ศาลปู่ยอง เป็นลานฝึกตระกร้อ ให้เยาวชนกลุ่มเสี่ยง ที่เจ็ดเสมียน เหล่านี้เป็นต้น



ในเวทีสาธารณะได้มีการสรุปผลลัพธ์จากการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ 6 เรื่องหลักๆ ดังนี้
1. เกิดพื้นที่สุขภาวะต้นแบบ ทั้งในระดับแหล่งเรียนรู้ ระดับหมู่บ้าน และระดับตำบล
2.เกิดการนำเรื่องการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ บรรจุในแผนงานของเทศบาล แผนของชุมชน และมีการ บูรณาการเข้าไปในกิจกรรม
3.เกิดตัวอย่างกิจกรรมสร้างพื้นที่สุขภาวะหลากหลาย ที่สามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่อื่นๆ
4. เกิดแกนนำขับเคลื่อนสุขภาวะรุ่นใหม่ ที่ลุกขึ้นมามีส่วนร่วมนำการเปลี่ยนแปลงชุมชนในมิติต่างๆ
5.ได้ผลวิจัยพฤติกรรมการบริโภคปัจจัยเสี่ยง จากการเก็บข้อมูลในพื้นที่เจ็ดเสมียน พบว่าในช่วงที่มีการขับเคลื่อนพื้นที่สุขภาวะ จำนวนผู้สูบบุหรี่ และผู้ดื่มแอลกอฮอล์ ลดลงอย่างมีนัย
6.เกิดนักสื่อสารพื้นที่สุขภาวะ ที่สามารถให้คำแนะนำ เชื่อมต่อการทำงานร่วมกับเครือข่ายต่างๆ


“เชื่อมั่นว่า ผลจากการขับเคลื่อน 8 พื้นที่สุขภาวะต้นแบบนี้ จะจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้พื้นที่อื่นๆ ได้เห็นว่า การสร้างพื้นที่สุขภาวะสามารถเริ่มได้ทันที โดยเริ่มจากสิ่งที่มี คือ เริ่มจากตัวเราเอง จากคนดี ของดีที่มีอยู่ในพื้นที่ และการเป็นพื้นที่สุขภาวะ ไม่ได้เป็นเพียงเป้าหมายปลายทาง หากแต่สุขภาวะเป็นความงดงามระหว่างทาง กับความจริงที่ว่า การดูแลและการสร้างสุขภาวะนั้นเป็นงานที่ไม่มีวันจบ แต่ต้องมีการพัฒนาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือทุกคนสามารถเป็นผู้ก่อการดีได้ ” ดร.อุดม กล่าว

ผู้สนใจติดตามความเคลื่อนไหวการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ Imagine Thailand Movement ได้ทาง FacebookPage: Imagine Thailand Movement : https://www.facebook.com/imaginethailandmovement และ Website https://www.imaginethailandmovement.com