เปิดตัวแอปฯ “ZERO CARBON” บพข. ยกระดับท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
วันที่ 11 กรกฎาคม 2566, กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) แผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB) และบริษัท พิมส์ เทคโนโลจิส จำกัด ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวแอปพลิเคชัน “ZERO CARBON” ภายใต้ “โครงการการขับเคลื่อนและผลักดันการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย แผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. พัฒนาชุดแอพพลิเคชันบนโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับผู้ประกอบการเพื่อใช้ในการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการชดเชยคาร์บอน จากกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” สนับสนุนทุนวิจัยโดย บพข. กองทุน ววน. ณ โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพ
ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. |
ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข.และผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. (ในฐานะผู้แทน ผู้อำนวยการ สกสว. และ ผู้อำนวยการ บพข.) กล่าวว่า สกสว. ขับเคลื่อนแผนงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ.2566 – 2570 พัฒนาและเร่งแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการบริโภคอย่างยั่งยืนและการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีแผนงานที่เกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการพัฒนานโยบายและต้นแบบเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม
“บพข. โดยการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุน ววน. มุ่งสนับสนุนการวิจัยเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยให้เติบโตไปในทิศทางเดียวกับแนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของโลกที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีเป้าหมายความสำเร็จในกรอบ 5 ปี (ปีพ.ศ.2566-2570) มุ่งให้ประเทศไทยเป็น Carbon Neutral Tourism Destination ด้วยการสร้างนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวจากการท่องเที่ยวแบบปกติให้เป็นการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism) ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวคุณภาพ เกิดผลกระทบเชิงบวกทางต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เหมาะสมกับบริบทของภาคธุรกิจของไทย ผู้ประกอบการและชุมชนท่องเที่ยว ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พร้อมเร่งดำเนินการขยายเครือข่ายผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้ครอบคลุม ชุมชน ธุรกิจขนส่ง/เดินทาง ธุรกิจที่พัก ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจสินค้าที่ระลึก ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์ ร้านอาหาร/เครื่องดื่ม ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ผู้ประกอบการทางทะเล กว่า 500 ราย ในขณะเดียวกันได้วางแผนการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ที่มีเป้าหมายราว 1,500 เส้นทาง ภายในปี 2569 และวางแผน Net Zero Emission Route ในปี 2569 – 2570 ราว 100 เส้นทาง โดยมี Carbon Neutral Tour Operator / Hotel กว่า 200 ราย รวมทั้งจะมีผู้ประกอบการ Tour Operator / Hotel ที่เป็น Net Zero เพิ่มเติม” ผศ.สุภาวดี กล่าวทิ้งท้าย
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ TGO |
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ TGO กล่าวว่า การส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคการท่องเที่ยว มุ่งสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และ Net Zero เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันปัญหาโลกร้อนเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือในการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างกลไกให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมุ่งสู่ความยั่งยืน ทาง TGO จึงได้พัฒนาเครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับกิจกรรมการท่องเที่ยวขึ้น เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะบริษัทนำเที่ยวนำไปใช้คำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทราบแหล่งและปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญของกิจกรรมท่องเที่ยวของตน ถือเป็นประโยชน์อย่างมากที่ทาง บพข.ได้นำเครื่องมือและองค์ความรู้ของ TGO พัฒนาสู่รูปแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้งานสามารถคำนวณคาร์บอนฟุตพรินท์ เลือกซื้อคาร์บอนเครดิต และได้รับใบประกาศเกียรติคุณเบ็ดเสร็จในแอปเดียว ผู้ใช้งานโดยเฉพาะบริษัทนำเที่ยวสามารถนำไปใช้ให้บริการกับนักท่องเที่ยวได้ นอกจากช่วยในการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในระดับสากล อีกด้วย
ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า นอกเหนือจากภาพจำของคนภายนอกที่มองว่าเราทำงานกับชุมชนอย่างเดียว แต่เรายังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมา อพท. มีการจัดกิจกรรมที่คำนึงถึง Low Carbon tourism มาแล้ว แต่ในปัจจุบันพยายามมุ่งไปสู่ Net Zero Carbon ซึ่ง อพท. มีเครือข่ายชุมชนทั่วประเทศมากมาย มีการสร้างเกณฑ์มาตรฐานในการจัดชุมชมขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยปีที่แล้วมีชุมชนที่ผ่านการคัดเลือก 2 ชุมชน คือ ชุมชนบางกอบัว จังหวัดสมุทรปราการ และชุมชนบางน้ำเชี่ยว จังหวัดตราด โดยได้วางแผนที่จะขยายไปยังตลาดท่องเที่ยวคุณภาพสูง เพื่อตอบโจทย์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่จะเป็นเทรนด์ใหม่ในอนาคต
คุณภัทร์ ศาสตร์ขำ ผู้จัดการอาวุโส TCEB กล่าวว่า บทบาทของ TCEB ในการนำ App : Zero Carbon ในอุตสาหกรรมไมซ์สามารถดำเนินการพัฒนาต่อยอด App: Zero Carbon ต่อจากเครื่องมือคำนวณที่ได้พัฒนาร่วมกันให้ตอบสนองต่อการจัดงานประชุมสัมมนาและนิทรรศการ ซึ่งมีความแตกต่างจากการท่องเที่ยวอยู่หลายบริบท และจะส่งเสริมผลักดันให้ผู้ประกอบการไมซ์นำเครื่องมือนี้ไปใช้ในวงกว้างมากขึ้น ในการส่งเสริมการจัดประชุมสัมมนา มักมีการท่องเที่ยวก่อนหรือหลังกิจกรรมประชุมสัมมนา ซึ่งผู้จัดงานมักมองหาสถานที่หรือบริการท่องเที่ยวอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อมีแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และผู้ให้บริการท่องเที่ยวสามารถให้บริการแบบคาร์บอนต่ำหรือคาร์บอนเป็นกลางได้ ก็ถือเป็นการอำนวยความสะดวกและเปิดโอกาสทางธุรกิจการท่องเที่ยวไปด้วย อีกทั้งอุตสาหกรรมไมซ์สามารถนำข้อมูลและการวิจัยด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของ บพข.(กองทุน ววน.) มาต่อยอดในบริบทของไมซ์และพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ให้ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้
คุณวสุมน เนตรกิจเจริญ นายกสมาคม TEATA กล่าวว่า TEATA ในฐานะผู้นำผลลัพธ์จากงานวิจัย บพข.
ที่น่าสนใจในหลายพื้นที่มาต่อยอดเพื่อยกระดับให้เป็นกิจกรรม หรือ เส้นทางคาร์บอนต่ำ มุ่งสู่การเป็นท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ App : Zero Carbon จะทำให้การชดเชยคาร์บอนขยายไปสู่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็น App ที่ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานรายเล็กสามารถเข้าถึงคาร์บอนเครดิตได้อย่างสะดวก ง่าย และรวดเร็ว นอกจากนั้นนักท่องเที่ยวยังสามารถจัดหาคาร์บอนเครดิตมาชดเชยจนเหมือนไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้แก่การเดินทางท่องเที่ยวได้ด้วยตนเอง
“และจุดเริ่มต้นที่สำคัญเราจะนำไปเชิญชวนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสมาชิกขององค์กรเครือข่ายที่ได้มีการลงนาม MOU ร่วมกับ TEATA จำนวน 31 องค์กร ภายใต้งานวิจัยทุน บพข.ในปีนี้ ให้นำไปใช้ทำกิจกรรมประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์อย่างเร็วและชดเชยคาร์บอนจนได้ใบประกาศเกียรติคุณจาก TGO ซึ่งจะทำให้มีฐานข้อมูลการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์จำนวนมากจากหลากหลายเส้นทางท่องเที่ยวและมากจำนวนครั้ง รวมถึงเรายังจะส่งเสริมพันธมิตร ชุมชน และผู้ประกอบการอื่นๆ ซึ่งเป็น Suppliers ด้านการท่องเที่ยว นอกเหนือจากการส่งเสริมองค์กร 31 องค์กร ให้รู้จักและใช้ App : Zero Carbon มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง” คุณวสุมน กล่าวทิ้งท้าย