04 เมษายน 2566

อย่าปล่อยให้ร่างกายอยู่ใน… “ภาวะขาดน้ำ”

         แม้ว่าในร่างกายของคนเราจะประกอบด้วย “น้ำ” ถึง 60% ของน้ำหนักตัว แต่ในทุกๆ วันร่างกายก็สูญเสียน้ำออกไปมากเช่นกัน ฉะนั้นเราควรดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย  เพื่อชดเชยน้ำที่เสียไป เพราะหากเราดื่มน้ำไม่มากพอจะส่งผลให้ร่างกายต้องตกอยู่ใน “ภาวะขาดน้ำ” อย่างแน่นอน

“ ภาวะร่างกายขาดน้ำ ” คืออะไร??

        ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) คือ ภาวะที่ร่างกายสูญเสียน้ำมากกว่าที่ได้รับ จึงมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอจนส่งผลต่อระบบไหลเวียนของเหลวและการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ ไต สมอง ทางเดินอาหาร กล้ามเนื้อ และหากปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำมากเกินไปเป็นเวลานาน  อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

จะเป็นอย่างไร?...เมื่อร่างกายขาดน้ำ!  

       อาการของผู้ที่มีภาวะร่างกายขาดน้ำจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของภาวะ

# อาการเบื้องต้นที่มีความรุนแรงระดับปานกลาง  

       กระหายน้ำ ตาแห้ง ปากแห้ง ผิวแห้ง  เหงื่อออกน้อย  ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ  ท้องผูก  มึนงง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน

# อาการที่ขาดน้ำรุนแรงและเป็นอันตราย  

       หากมีอาการเหล่านี้  ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด  กระหายน้ำอย่างรุนแรง  ปัสสาวะน้อยและมีสีเข้ม หรือไม่มีปัสสาวะ  อ่อนเพลีย มีไข้  หัวใจเต้นแรงและเร็ว หายใจหอบและถี่ ช็อก หมดสติ

เพราะอะไร?...จึงเกิดเป็น “ภาวะขาดน้ำ”

       “ น้ำ ” เป็นสิ่งสำคัญต่อร่างกาย เพราะเป็นส่วนประกอบหลักในระบบไหลเวียนต่างๆ คุณอาจคาดไม่ถึงว่า “แค่ดื่มน้ำน้อย” ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำได้ มาดูกันว่า มีสาเหตุใดบ้างที่ทำให้คุณเป็น “ภาวะขาดน้ำ”

# การที่ร่างกายสูญเสียน้ำมากเกินไป  

        อาเจียนมาก  ท้องเสียอย่างหนัก  อยู่ในที่อากาศร้อนเป็นเวลานาน  เหงื่ออกมากจากการออกกำลังกายเป็นเวลานาน  เหงื่อออกมากในผู้ที่มีไข้สูง หรือมีภาวะติดเชื้อ  ปัสสาวะมากผิดปกติในผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่ใช้ยาขับปัสสาวะ ใช้ยาความดันโลหิต รวมถึงผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก

# การที่ร่างกายได้รับน้ำไม่เพียงพอ

        การดื่มน้ำน้อยเกินไป โดยเฉพาะผู้ป่วยอาการโคม่า หรือใช้เครื่องช่วยหายใจ  ผู้ที่ป่วยเป็นหวัด เจ็บคอ ทำให้เบื่ออาหารและดื่มน้ำน้อยลง  ผู้ที่ไม่ชอบดื่มน้ำ และดื่มน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือดื่มน้อยกว่า 5 ลิตรต่อวัน

# วินิจฉัย...เพื่อหาสาเหตุ

         จะเห็นได้ว่า “ภาวะขาดน้ำ” เกิดได้จากหลายสาเหตุ จึงควรให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด

# การตรวจร่างกาย

         ๐ เพื่อหาสัญญาณของภาวะขาดน้ำ เช่น การตรวจอัตราการเต้นของหัวใจ ชีพจร และความดันโลหิตในขณะที่ผู้ป่วยเปลี่ยนจากท่านอนเป็นท่ายืน เพราะหากน้ำในเลือดน้อยเกินไปจะทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น และเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะหรือเป็นลมได้

         ๐ การตรวจปัสสาวะ  เช่น สีของปัสสาวะ การตรวจพบคีโตนในปัสสาวะ

       ๐ การตรวจเลือด  เช่น ปริมาณน้ำตาลในเลือด ปริมาณโซเดียมและโพแทสเซียมในเลือด ตรวจความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง

# ดูแลตัวเองได้เมื่อ... “ร่างกายขาดน้ำ”

       “ภาวะขาดน้ำ” เกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งมีวิธีการดูแลรักษาแตกต่างกัน หากมีอาการไม่รุนแรงมากนัก ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้ไม่ยาก

# เด็กแรกเกิดและเด็กอายุไม่ถึง 1 ปี

         ๐ ให้ดื่มนม หรือนมแม่บ่อยๆ และรีบมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล

         ๐ ในกรณีที่ต้องดื่มผงละลายเกลือแร่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้ทารกดื่ม

# เด็กอายุ 1-11 ปี

          ๐ พยายามให้เด็กดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อเป็นการชดเชยน้ำในร่างกาย

          ๐ ดื่มผงละลายเกลือแร่

          ๐ หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำผลไม้ น้ำอัดลม หรือน้ำหวานที่มีปริมาณน้ำตาลสูง

# เด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่

          ๐ หากทำกิจกรรมอยู่ควรหยุดพัก และอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก

ดื่มน้ำเปล่า หรือเครื่องดื่มเกลือแร่เพื่อเป็นการชดเชยน้ำในร่างกาย

# ดูแลตัวเองก่อน   “  ร่างกายขาดน้ำ  ”

            สิ่งสำคัญที่สุดคือ... การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วย เช่น อาเจียน ท้องเสีย มีไข้ หรือผู้ที่ต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานๆ รวมทั้งผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหนักและสูญเสียเหงื่อมากๆ ซึ่งปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อคนทั่วไป คือประมาณ 1.5-2 ลิตร หรือ 8 แก้วต่อวัน แต่หากเป็นผู้ป่วยโรคไต หรือโรคหัวใจ อาจต้องจำกัดปริมาณในการดื่มน้ำ ทั้งนี้ต้องปรึกษาแพทย์เป็นรายบุคคล

            ไม่น่าเชื่อว่า “ ภาวะขาดน้ำ ” จะส่งผลกระทบต่อร่างกายได้มากอย่างคาดไม่ถึง ฉะนั้นเราควรดูแลตัวเองและคนรอบข้างให้ดี... แค่ “ ดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ” เพื่อรักษาความสมดุลของน้ำในร่างกาย... วิธีง่ายๆ เท่านี้ก็ทำให้เราห่างไกลจากคำว่า “ ภาวะขาดน้ำ ” ได้แล้ว 


นพ. ธิติวุฒิ หู

แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

ศูนย์สร้างเสริมสุขภาพ

โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์