วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมความก้าวหน้าของงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมฮาลาล ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) หน่วยงานที่ได้รับการยอมรับกันว่าคือสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกในโลก อันกลายเป็นต้นแบบให้เกิดการพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลในหลายประเทศมุสลิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีการแข่งขันสูงด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตรสู่กลุ่มประเทศมุสลิมที่เป็นสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลามหรือโอไอซี ในเมื่อประเทศไทยมิใช่ประเทศมุสลิม ทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จึงเสนอแนวทางลดความเสียเปรียบต่อประเทศสมาชิกอาเซียนที่เป็นมุสลิมด้วยการสร้างความเชื่อมั่นด้านการรับรองฮาลาลของประเทศไทยโดยใช้ศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่พัฒนาขึ้นก่อนหน้านั้นโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันเป็นที่มาของการสนับสนุนงบประมาณจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) ใน พ.ศ.2546 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ศวฮ.ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทุกชุดในการพัฒนางานสาขาต่างๆทางวิทยาศาสตร์ฮาลาล กระทั่งได้รับรางวัลระดับนานาชาติมากมาย พัฒนานวัตกรรมขึ้นมากกว่า 150 ชิ้น
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) กล่าวว่า พ.ศ.2558 และ พ.ศ.2562 รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มอบหมายให้ ศวฮ.พัฒนางานด้านดิจิตอลเทคโนโลยี ได้แก่ งานพัฒนา Thailand Diamond Halal และ Halal Blockchain เพื่อความสะดวกของผู้บริโภคมุสลิมในประเทศและต่างประเทศในการทวนสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่ผลิตจากประเทศไทย โดยขณะนี้ ศวฮ.อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาแพลตฟอร์มภายใต้ชื่อ Thailand Diamond Halal Blockchain 4.0 นำเสนอต่อทีมงานนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังพัฒนานวัตกรรมด้าน Halal Plant-Based Products, Halal Herbal Metabolomic Bioactives รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรมูลค่าสูงสำหรับตลาดมุสลิม ซึ่งจะเป็นโอกาสในการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลมูลค่าสูงจากประเทศไทยที่มีอนาคตสดใสรออยู่ ซาอุดีอาระเบียที่เริ่มพัฒนาความสัมพันธ์อันเป็นปกติกับประเทศไทยภายใต้การดำเนินการของรัฐบาลชุดนี้ ให้ความเชื่อมั่นด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ฮาลาลจากประเทศไทยอันเป็นผลจากความมั่นใจในความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่พัฒนาขึ้นโดย ศวฮ.
นอกเหนือจากงานการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ งานด้านการยกระดับคุณภาพกระบวนการรับรองฮาลาลในประเทศไทย ศวฮ.ทำการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์อาหารและมิใช่อาหารที่เข้ารับการวางระบบการมาตรฐานฮาลาล จำนวนถึง 188,731 การวิเคราะห์ จากโรงงานอุตสาหกรรม 1,112 แห่งทั่วประเทศไทย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศวฮ. กล่าวว่าหากแพลตฟอร์มด้าน Diamond Halal Blockchain สำเร็จลง ผู้บริโภคจะมีความสะดวกในการทวนสอบย้อนกลับสภาพฮาลาลของแต่ละผลิตภัณฑ์ที่เข้าร่วมโครงการ นอกเหนือจากนี้ ศวฮ.ยังพัฒนาระบบฐานข้อมูลสารเคมีฮาลาลที่เรียกว่า H-number เพื่อความสะดวกของภาคอุตสาหกรรม ช่วยให้เกิดความได้เปรียบด้านการแข่งขันในตลาดอาหารฮาลาลที่มีอยู่สูง
ศวฮ.ในปัจจุบันทำหน้าที่เผยแพร่องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล โดยทำการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการแก่นักวิทยาศาสตร์นานาชาติจาก 24 ประเทศจำนวน 118 คน และอบรมเชิงปฏิบัติการแก่นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆในประเทศไทยจำนวน 271 คน ในส่วนงานสุดท้ายที่ ศวฮ.พัฒนาขึ้นคือการร่วมกับมหาวิทยาลัยในเยอรมนีพัฒนาห้องปฏิบัติการด้าน Halal Molecular Sensory Science ขึ้นตลอดจนร่วมงานกับคณาจารย์ในคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพัฒนางานด้าน Halal Metabolomic Bioactives นอกเหนือจากนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจจาก ศวฮ.อีกมากมายที่มีวัตถุประสงค์ให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมฮาลาล
โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความชื่นชมและยินดีในโอกาสเยี่ยมชมศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกล่าวว่ารัฐบาลเห็นถึงความตั้งใจในการพัฒนาศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลให้เป็นแหล่งศึกษานวัตกรรมฮาลาลซึ่งเป็นที่น่าภาคภูมิใจสำหรับคนไทยและประเทศไทย โดยศูนย์แห่งนี้มีบทบาทสำคัญในการสร้างประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้สินค้าฮาลาลของไทยมีมาตรฐานในระดับสากล สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ โดยจะต้องมุ่งพัฒนาการร่วมมือและการวิจัยให้มากขึ้น แม้ประเทศไทยจะทำการเกษตรกรรมแต่ต้องเพิ่มรายได้ทางอุตสาหกรรมควบคู่กันไปด้วย รวมทั้งการแปรรูปอาหารเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และสามารถขยายตลาดอาหารฮาลาลสู่ตลาดโลกได้ เพราะอาหารเป็นหนึ่งใน soft power ที่ต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนไปให้ได้ แม้มีอุปสรรคก็ต้องมีแนวทางในการแก้ปัญหาให้ผ่านไปให้ได้ พร้อมเน้นย้ำการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมทั้งการพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์ซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญ ช่วยสร้างแรงจูงใจผู้บริโภค นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการเกษตรทั้งพืชและปศุสัตว์ เชื่อมโยงการพัฒนาด้านฮาลาล และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจระดับบนให้มีความเข้มแข็ง
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ชื่นชมผลการดำเนินงานของศูนย์ฯ ขอให้ร่วมกันพัฒนาคิดค้นและวิจัยงานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลต่อไป ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ร่วมพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคม การให้ความรู้ สร้างความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มกับผลผลิตและประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ฮาลาลสู่กระบวนการรับรองผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค ช่วยส่งเสริมมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพิ่มโอกาสและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และร่วมกันพลิกบทบาทนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ฮาลาลไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติต่อไป
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยต่างๆ ของศูนย์ฯ อาทิ ห้องปฏิบัติการวิจัยชีววิทยาโมเลกุล, ห้องปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ฮาลาล ตันสรี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ และห้องปฏิบัติการวิจัยชีวเคมีโภชนาการ ซึ่งเป็นห้องวิจัยทดสอบนวัตกรรมใหม่ ๆ ด้านอาหาร โภชนาการ และคอสเมติก รวมถึง เยี่ยมชมนิทรรศการงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาลต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เส้นปลาจากปลาทับทิมเสริมคุณค่าทางอาหารด้วยสมุนไพรไทย การพัฒนาคัสตาร์ดมันหวานญี่ปุ่นเสริมสารห่อหุ้มจากน้ำมันสมุนไพร นวัตกรรมไข่จากพืช พร้อมชมองค์ความรู้ความเป็นมาของระบบมาตรฐานฮาลาล HAL-Q และผลงานวิจัยนวัตกรรมภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ฯ ที่นำไปสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ครีมกันแดด อาหารเสริม สบู่เหลว