19 กุมภาพันธ์ 2566

“กมล”ขึ้นเขา ลงห้วย เยี่ยม “สว.เมี่ยน” ปลื้ม กศน.ตบเท้าเข้าเรียน หวังพัฒนาคุณภาพชีวิต

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์) พร้อมคณะทำงาน ทีมเสมา 3 ตามไปดูการจัดการศึกษาบนพื้นที่สูง และการจัดกิจกรรมเพื่อร่วมสร้าง”สังคมสูงอายุที่มีสุขภาวะ” แก่กลุ่มชาติพันธุ์ ของ กศน. ณ ศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนชาวไทยภูเขา(ศศช. )บ้านใหม่ในฝัน ต. สะเนียน อ. เมือง จ. น่าน 

กศน.ยังคงยึดมั่น สืบสานพระราชปณิธานของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “เราจะร่วมกัน ทำให้ชาวโลกอ่านออกเขียนได้” จึงได้จัดการศึกษาให้ประชาชนทุกช่วงวัย และทุกกลุ่ม ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะบนดอยสูง ตามเกาะแก่ง ในถิ่นทุรกันดารที่ความเจริญไปไม่ถึง ไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปา ซึ่งพื้นที่เหล่านี้จะมีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่มอาศัยอยู่ และไม่สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้ 

ศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนชาวไทยภูเขา(ศศช. )บ้านใหม่ในฝัน ในสังกัด กศน.ตั้งอยู่ในชุมชนของชาวไทยภูเขาเผ่า”เมี่ยน” หรือ “อิ้วเมี่ยน”(เย้า) ซึ่งมีผู้สูงอายุ (สว.เมี่ยน) ที่ยังอ่านและเขียนภาษาไทยไม่ได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นปัญหาต่อการสื่อสารและพัฒนาคุณภาพชีวิต ศศช.บ้านใหม่ในฝันจึงได้จัดการศึกษาสอนภาษาไทยเพื่อให้ชาวเมี่ยนอ่านออกเขียนได้ สามารถติดต่อสื่อสาร ค้าขาย และพูดคุยบอกเล่าอาการเมื่อไปหาหมอที่โรงพยาบาลได้ รวมทั้งจัดการศึกษาพัฒนาอาชีพที่ชาวเมี่ยนสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ อาทิ การเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่  การทำไข่เค็ม การปักผ้า การทำเครื่องเงินที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของชนเผ่าโดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่น การทำเกษตรอินทรีย์ ตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมเพื่อร่วมสร้าง ”สังคมสูงอายุที่มีสุขภาวะ”  เพื่อคงสมรรถนะทางกาย จิต และสมองให้แก่ผู้สูงอายุ(สว.เมี่ยน)  ในรูปแบบกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตใน 4 มิติ (มิติเศรษฐกิจ มิติสุขภาพ มิติสภาพแวดล้อม และมิติสังคม)  



ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ.พบว่าที่หมู่บ้านในฝันแห่งนี้ พอจะมีสัญญาณจากเครือข่ายโทรศัพท์ จึงได้เสนอแนวความคิดว่า “นอกจากการจัดการศึกษาให้ชาวเมี่ยน อ่านออกเขียนได้ และสอนวิชาชีพ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ในชุมชนแล้ว ควรเพิ่มช่องทางในการติดติอสื่อสารกับบุคคลภายนอก โดยการสอนให้ใช้โทรมือถือ สอนให้รู้จักสังคมออนไลน์ที่มีการตอบสนองทางสังคมได้หลายทิศทาง เพื่อเผยแพร่ ศิลปวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวเมี่ยนให้ชาวโลกรับรู้ ซึ่งจะเป็นประตูสู่การส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชน  และเปิดตลาดการค้าออนไลน์ขายพืชผลและผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่งามวิจิตรและทรงคุณค่าอย่างผ้าปักมือ เครื่องเงินที่ใช้ประดับเสื้อผ้าและสวมใส่


เสียงสะท้อนจาก "สว.เมี่ยน" อยากมาเรียนทุกวัน เมื่อลูกหลานออกไปทำงาน พวกเรามี ครูกศน.เป็นเพื่อน คอยดูแล และสอนหนังสือให้พวกเราอ่านออกเขียนได้ ค้าขายกับคนเมืองได้ เวลาไปโรงพยาบาลก็สามารถพูดคุยกับหมอได้ อ่านซองยาได้ว่าควรกินยาอย่างไร พวกเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเมื่อเราอ่านออกเขียนได้ ครู กศน.ใจดี และใจเย็นทุกคน “แหลงจิงช้ำ กศน.” (ขอบคุณมาก กศน.)