10 สิงหาคม 2565

พาณิชย์-DITP”ชี้เป้าส่งออก “อาหารมังสวิรัติ” เจาะตลาดผู้บริโภคชาวไต้หวัน



กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผย “อาหารมังสวิรัติ” มีแนวโน้มเติบโตในตลาดไต้หวัน หลังผู้บริโภคเริ่มหันมาบริโภคมากขึ้น และผู้ประกอบการหันมาผลิตสินค้าตอบสนองความต้องการ ชี้เป็นโอกาสของผู้ส่งออกไทย ที่จะใช้ความได้เปรียบด้านความเชี่ยวชาญอาหาร ผลิตและส่งออกป้อนตลาด  

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่าง ๆ ล่าสุดได้รับรายงานจาก นางสาวกัลยา ลีวงศ์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) ถึงผลการสำรวจตลาดอาหารมังสวิรัติในไต้หวัน โดยพบว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจ มีโอกาสเติบโตสูง เพราะผู้บริโภคในไต้หวันมีการรับประทานอาหารมังสวิรัติเป็นประจำคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของจำนวนประชากรทั้งหมด (จำนวนประชากรไต้หวัน 23 

ล้านคน) ซึ่งมีเหตุผล เพราะต้องการรักษ์โลก ต่างจากอดีตที่เป็นความเชื่อทางศาสนาและสุขภาพ จึงเป็นสินค้าที่ไทยมีโอกาสในการขยายตลาดส่งออกเข้าสู่ไต้หวันได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้รายงานว่า ปัจจุบัน Plant-Based แบรนด์สินค้าเนื้อสัตว์จากพืชของไต้หวัน ซึ่งประสบความสำเร็จในการทำตลาดสหรัฐฯ จนสามารถเข้าวางขายสินค้าในเชนซุปเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังอย่าง ALDI ได้สำเร็จ ได้หันมาจับมือกับคาร์ฟู ไฮเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ในไต้หวัน ผลักสินค้าเนื้อสัตว์จากพืชแบบ Ready-to-cook คือ กะเพราหมู เนื้อย่างเกาหลี ไส้กรอกแบบยุโรป และลูกชิ้นแบบยุโรป เข้าสู่ตลาด อีกทั้งยังเตรียมที่จะวางตลาดสินค้าเนื้อสัตว์จากพืชรสต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน ไก่ทอดตะไคร้ราดพริก ซึ่งต่างก็เป็นอาหารไทยที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในตลาดไต้หวัน

ขณะเดียวกัน Plant-Based ได้พัฒนาอาหารปรุงสำเร็จโดยใช้เนื้อสัตว์จากพืชแบบ Ready-to-cook 

รวม 9 เมนู จากเดิมที่บริษัทพัฒนาสินค้าจากผักเป็นหลัก เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคอาหารเจของเหล่า

ผู้นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานและกลุ่มลัทธิอีก้วนเต้า แต่เนื่องจากรสชาติของอาหารจากผักส่วนใหญ่

จะค่อนข้างจืดและไม่มีความหลากหลายทางรสชาติ ทำให้ยังไม่เป็นที่ยอมรับของตลาดส่วนใหญ่ บริษัทจึงพัฒนาสินค้าจนทำให้ได้เนื้อสัตว์จากพืชที่มีรสชาติอันหลากหลาย และประสบความสำเร็จในการรุกเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ 

ผ่านซุปเปอร์มาร์เก็ต ALDI เมื่อสองปีก่อน และด้วยความที่รสชาติคล้ายกับอาหารที่ไม่ใช่อาหารเจมากจนแยก

ไม่ออก ทำให้สามารถสร้างยอดขายได้สูงถึงเกือบ 20,000 กิโลกรัม ในช่วงที่แรกที่เข้าสู่ตลาด

อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก ทำให้ค่าขนส่งเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้บริษัทตัดสินใจชะลอการรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศและหันมารุกตลาดในประเทศแทน และหันมาร่วมมือกับคาร์ฟูที่ถือเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ที่มีสาขาอยู่มากมายทั่วไต้หวัน ผลิตเมนูอาหาร Ready-to-cook โดยบริษัทได้อาศัยกระแสความนิยมอาหารไทยในตลาดไต้หวันผลิตเมนูอาหารไทยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค


“จากกระแสความต้องการบริโภคอาหารมังสวิรัติ จนทำให้ผู้ประกอบการในไต้หวันหันมาบุกเบิกตลาดสินค้ามังสวิรัติรสชาติไทยออกมาวางขายมากขึ้น โดยเฉพาะเมนูที่มีชื่อเสียง เช่น กะเพราหมู ต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะใช้ความได้เปรียบในด้านความเชี่ยวชาญอาหารไทย พัฒนาสินค้าอาหารไทยมังสวิรัติมาวางขาย เพื่อตอบรับความต้องการอาหารมังสวิรัติในตลาดไต้หวันต่อไป”นายภูสิตกล่าว

       สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายด่วนการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169