รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีจำนวนผู้ประกันตนทั้งสิ้น 3,604,602 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะลงทะเบียนในสถานบริการระดับ 100 เตียงขึ้นไป ยังขาดการเชื่อมต่อกับหน่วยบริการในระดับปฐมภูมิ ซึ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา พบว่าการส่งต่อผู้ประกันตนที่ติดเชื้อไปยังหน่วยบริการนั้น มีความยากลำบากมาก เพราะขาดหน่วยบริการเชื่อมต่อ หรือหน่วยบริการเบื้องต้นก่อนการส่งต่อในกลุ่มผู้ประกันตน ตัวอย่างเช่น ช่วยการระบาดหนักในแคมป์คนงาน โดยกระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเร่งออกมาตรการ Bubble and seal ในแคมป์คนงานที่มีการระบาดจำนวนมาก
“หน่วยบริการปฐมภูมิจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นด่านหน้าใกล้ชิด เป็นจุดเชื่อมต่อบริการจากบุคคล ครอบครัว ชุมชน โรงงาน บริษัท สถานประกอบการไปยังหน่วยบริการขนาดใหญ่ ทำให้การเข้าถึงบริการมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ จำเป็นต้องได้รับการยกระดับมาตรฐานการบริการสาธารณสุข มีการติดตามผลลัพธ์เชิงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการส่งเสริมนำเทคโนโลยีด้านการดูแลรักษาผ่านระบบทางไกล (Telehealth medicine) เพื่อลดช่องว่างการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ตอบโจทย์การบริการเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่อยู่ท่ามกลางสังคมเมือง ดังเช่นกรุงเทพมหานคร” รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว