03 กุมภาพันธ์ 2565

กยศ. ตัวช่วยหรือภาระ

บทความพิเศษ โดย ดร. กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

          เพราะรัฐมุ่งหวังจะให้โอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชน จึงได้สร้างระบบกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ขึ้น ให้ประชาชนที่มีฐานะยากจนหรือขาดโอกาสและไม่มีทรัพยากรสนับสนุนเพียงพอ ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา โดยมีเงินทุนให้กู้ยืมเพื่อพัฒนาตนเอง สร้างอาชีพและมีชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต 

          อย่างไรก็ตามสิ่งที่มุ่งหวังจะให้เป็นตัวช่วยมีหลายกรณีที่กลับกลายเป็นภาระ ที่เด็กและเยาวชนผู้กู้ยืมกองทุนเพื่อการศึกษาต้องชดใช้เมื่อเรียนจบ และเมื่อไม่พร้อมใช้ทุนก็จะถูกฟ้องคดี เกิดหนี้เสีย มีการยึดทรัพย์สินผู้ค้ำประกันเพื่อขายทอดตลาด  เกิดผลกระทบอย่างมหาศาลทั้งต่อตัวเด็กเยาวชนผู้กู้ยืม ครอบครัวของเด็ก รวมทั้งผู้ค้ำประกัน

          จุดอ่อนของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามีอย่างน้อย 3 ประการคือ

               1) นิยามหรือหลักการในการจัดตั้งกองทุนซึ่งมีคำสำคัญสามคำที่ต้องเลือกใช้คือ “ให้ทุน” เป็นการให้ทุนแบบให้เปล่า ให้ขาด ไม่รับเงินคืน เช่นให้ทุนสำหรับผู้เรียนดี ทุนการศึกษาเด็กพิการผู้ยากไร้ รับทุนแล้วไม่ต้องคืน “ให้ยืม” เป็นการให้เงินเพื่อนำไปใช้ในการศึกษา เมื่อเรียนจบก็ขอคืนเฉพาะเงินต้นโดยไม่มีดอกเบี้ย เงินต้นที่ได้คืนมาก็หวังเพียงเพื่อนำไปเป็นเงินทุนสำหรับคนรุ่นต่อไป “ ให้กู้ยืม”  คือต้องคืนทั้งเงินต้นเเละคิดดอกเบี้ย ซึ่งในประเทศไทยใช้นิยามและหลักการที่ 3 คือ  “ ให้กู้ยืม” ในการดำเนินการคือ เมื่อรับทุนไปแล้ว เรียนจบ ต้องใช้หนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 

               2)ในช่วงเริ่มต้นของกองทุน กยศ. มีกองทุนอีกหนึ่งกองทุนจัดตั้งควบคู่กันคือกองทุนเงินกู้ที่ผูกติดกับรายได้ในอนาคต Income Contingency loan ( ICL) เป็นการให้ทุนแบบให้กู้ยืมแต่ไม่ต้องชดใช้จนเป็นภาระแก่ผู้รับทุน แต่ระบบจะดำเนินการหักทุนคืนเอง เมื่อ ผู้เรียนเรียนจบและมีรายได้ หากยังไม่มีงานหรือตกงานกองทุนก็จะไม่หักทุนคืนโดยระบบนี้อาจพ่วงไปกับระบบการคิดภาษีประจำปี ซึ่งทำให้ภาระของผู้ใช้หนี้ไม่ยุ่งยากหรือซับซ้อนจนเกินไป น่าเสียดายเมื่อต้องเลือกให้เหลือเพียงกองทุนเดียวเพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการ รัฐได้เลือกใช้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ) แทนกองทุนเงินกู้ที่ผูกติดกับรายได้ในอนาคต(ICL) จึงทำให้เกิดความซับซ้อน ยุ่งยาก และหนี้สินของผู้กู้เกิดดอกเบี้ยทบต้น หมดความสามารถในการใช้หนี้ มีผลกระทบไปถึงทุกฝ่าย  

               3) เมื่อเลือกใช้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ) หน่วยงานที่ดูแลกองทุนดังกล่าวเป็นกระทรวงการคลัง แทนที่จะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้ระบบบริหารจัดการใช้แนวคิดการบริหารการเงินเป็นสำคัญ ต่างจากการบริหารจัดการของ กองทุนที่กระทรวงศึกษาธิการดูแล ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างโอกาส ช่วยเหลือ ผ่อนปรน และเน้นประโยชน์แก่ผู้กู้ โดยเชื่อว่าการลงทุนเพื่อสร้างคน หวังผลกำไรคุณภาพคนในอนาคต มากกว่าหวังเงินต้นหรือดอกเบี้ยและการใช้กระบวนการบังคับใช้ทางกฎหมายเพื่อเรียกเงินคืน

          เมื่อจัดให้มีกองทุน กยศ. ขึ้น ได้มีผู้เข้ามาใช้บริการจำนวนมาก มีเงินทางหมุนเวียนถึงปัจจุบัน 5-6 แสนล้านบาท ข้อมูลเมื่อ 31 ตุลาคม 2564 พบว่ามีผู้กู้ 6,146,444 คน ชำระเงินกู้เรียบร้อยแล้ว 1,516,085 คน(25%) อยู่ในระหว่างชำระหนี้ 3,571,544 คน (81%) ปลอดหนี้ 992,903 คน(16%) เสียชีวิตและทุพพลภาพ 65,912คน(1%) มีคนที่ไม่มีความสามารถในการผ่อนชำระถูกฟ้องร้องจำนวนมาก ซึ่งเกิดผลกระทบอย่างมหาศาล อันเป็นเพราะเงื่อนไขที่ถูกกำหนดจากกองทุน อาทิ ดอกเบี้ยสูง การต้องใช้เงินคืนในขณะที่ยังไม่มีรายได้หรือมีความพร้อม และระบบการค้ำประกัน ที่ทำให้ผู้ค้ำซึ่งหลายกรณีเป็นครอบครัว ครูอาจารย์ คนรู้จัก ที่บางคนแทบจะไม่เกี่ยวข้องกับผู้กู้เลยเเต่พลอยต้องรับผิดชอบไปด้วย 

          จากการสำรวจของพรรคภูมิใจไทย ผู้เสนอนโยบายปลดหนี้กองทุน กยศ. ได้ศึกษาวิจัยในช่วงการเลือกตั้งปี 2562 พบว่า แนวทางที่นักเรียนต้องการให้ใช้เพื่อแก้ปัญหามี 5 ข้อ คือ 1) การไม่ต้องมีผู้ค้ำ หรือปลดผู้ค้ำ 2) ไม่คิดดอกเบี้ย 3) ไม่มีเบี้ยปรับจากการชำระไม่ตรงเวลา 4)พักชำระหรือมีช่วงปลอดหนี้ 5 ปี และ 5) ใช้ภาษีเงินได้ประจำปีมาลดเงินกู้  ซึ่งหากอธิบายอย่างง่ายก็คือ ควรปรับจากระบบ “ให้กู้ยืม ” มาเป็น “ให้ยืม “  นั่นเอง เพราะนี่คือการสร้างคน มิใช่สร้างกำไรทางการเงิน

          ช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา มีการพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยนำเสนอเป็นกฎหมาย เข้าสู่สภาและอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาวาระที่สองและสาม เพื่อนำไปสู่การประกาศใช้ต่อไป โดยหลักการสำคัญ คือทำให้ผู้ใช้หนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามีความสะดวกมากขึ้น เช่นมีระบบปลอดผู้ค้ำ ลดดอกเบี้ย มีระยะปลอดหนี้ มีการใช้หนี้เป็นการปฏิบัติงาน การทำกิจกรรมจิตอาสา การยกหนี้ให้ผู้มีผลการเรียนดี รวมทั้งเปลี่ยนจากการให้กู้เฉพาะเพื่อการศึกษาในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่นกู้เรียนมัธยมปลายหรืออุดมศึกษา ที่ต้องใช้เงินมาก ใช้เวลาเรียนนาน และกว่าจะมีงานทำ กว่าจะมีเงินใช้คืน ก็ล่วงเลยไปหลายปีทำให้กองทุนขาดสภาพคล่องเเละเป็นภาระของรัฐ มาเพิ่มเป็นให้กู้เพื่อเรียนหลักสูตรระยะสั้นด้วย โดยอาจเป็นหลักสูตร สามเดือน หกเดือน หนึ่งปี ซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนัก ผู้เรียนจบเเล้วมีงานทำ สามารถใช้หนี้กองทุนได้โดยเร็ว รวมทั้งเป็นการกระจายรายได้ไปยังสถานศึกษาขนาดเล็ก รวมทั้งโรงเรียนเอกชนนอกระบบ ที่จัดการศึกษานอกระบบและอาชีพ ซึ่งได้เเก่ โรงเรียนวิชาชีพ ศิลปะเเละกีฬา สร้างเสริมทักษะชีวิต กวดวิชา และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง หรือกลุ่มองค์กรที่จัดตั้งสถานศึกษานอกระบบ ซึ่งเปิดหลักสูตรระยะสั้น นอกจากนี้การให้ทุนกู้ยืม หากเป็นหลักสูตรที่ตอบสนองทิศทางการพัฒนาประเทศ s-Curve หรือ New s- Cueve ก็อาจเปลื่ยนจากให้กู้ เป็นทุนให้เปล่าเพื่อผลิตกำลังคนตอบสนองทิศทางการพัฒนาประเทศอีกด้วย

          กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ถูกจัดตั้งขึ้นโดยเจตนาดี และด้วยความมุ่งหวังว่าจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของประชาชนผู้จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการกองทุน อาจจะเกิดปัญหาขึ้นด้วยหลักการที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง หรือกระบวนการบริหารจัดการที่เน้นตัวเลขจำนวนเงิน มากกว่าจำนวนผู้ประสบความสำเร็จที่จะส่งผลกระทบเขิงบวกต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต เราจึงจำเป็นต้องปรับ ทั้งระบบคิด วิธีบริหารจัดการ และแนวทางการดำเนินการใหม่ อย่างน้อยก็ด้วยความหวังว่า นี่จะเป็นตัวช่วยสำหรับนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ที่ขาดโอกาส แทนที่จะเป็นภาระให้ต้องตามไปแก้ไข เพราะวันหนึ่งเมื่อผู้เรียนเรียนจบจากสถานศึกษา เขาเหล่านี้ควรจะมีเเต่เฉพาะรอยยิ้มแห่งความหวังสำหรับอนาคต โดยไม่ควรต้องมีคราบน้ำตาอันเกิดจากภาระในการใช้เงินกู้ยืมเหมือนที่เกิดขึ้นเช่นในปัจจุบัน