12 ตุลาคม 2564

โครงการ“พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน”(ตามรอยพ่อฯ) ปี 9

ขยายผลแคมเปญ “รวมพลังสู้โควิด-19” สู่การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก

โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” (ตามรอยพ่อฯ) ปี 9 นำโดย บริษัท  เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และพันธมิตร ขยายผลแคมเปญ
“รวมพลังสู้โควิด-19”จากการรับมือวิกฤตโควิด-19 สู่การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในลุ่มน้ำป่าสักพื้นที่ จ.สระบุรี โดยร่วมกับศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สวนล้อมศรีรินทร์ และศูนย์การเรียนรู้โคกหนองนา
โคกนาศัยด้วยการส่งมอบชุดยังชีพน้ำสมุนไพร 7 นางฟ้า และชุดดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยสีเขียวที่พักรักษาตัวที่บ้าน หรือกล่องกรีนบ็อกซ์ ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังความสามัคคีของเครือข่ายลุ่มน้ำป่าสัก ที่นอกจากจะสามารถพึ่งตนเองได้ด้วยการปฏิบัติตามแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นยังเป็นที่พึ่งให้ผู้อื่นในภาวะวิกฤตได้อีกด้วย

สู้ทุกวิกฤตด้วยศาสตร์พระราชาและพลังสามัคคี
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า “ขณะที่วิกฤตโรคระบาดจากไวรัสโควิด-19ยังไม่ทันผ่านพ้นไป ก็เกิดอุทกภัยใหญ่ขึ้นมาอีก สร้างผลกระทบแก่ประชาชนกว่า 300,000 ครัวเรือนใน 32 จังหวัดซึ่งเป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานข้อความเตือนสติคนไทยผ่าน ส.ค.ส. ปี พ.ศ. 2547 ที่ว่า ’สามัคคีเป็นพลังค้ำจุนแผ่นดินไทย’ พร้อมทรงวาดภาพระเบิด 4 ลูกล้อมรอบประเทศไทยอยู่ ซึ่งถึงวันนี้ประจวบเหมาะพอดีกับสถานการณ์ปัจจุบัน ระเบิด 4 ลูก หมายถึงวิกฤต 4 ด้านที่เรากำลังเผชิญอยู่ คือ วิกฤตด้าน

สิ่งแวดล้อม โรคระบาด ภัยแล้ง หมอกควัน วิกฤตด้านเศรษฐกิจ วิกฤตด้านความเหลื่อมล้ำทางสังคม และวิกฤตด้านการเมือง จะเห็นได้ว่าทรงคาดการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ ทรงเตือนคนไทยล่วงหน้าหลายปีเพื่อให้เตรียมพร้อมระวังภัย และได้พระราชทานศาสตร์พระราชาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้คนไทยปฏิบัติเพื่อพึ่งพาตัวเองได้และใช้ชีวิตอย่างพอเพียงเพื่อเป็นทางรอดจากทุกวิกฤตดังกล่าว

โดยเฉพาะลุ่มน้ำป่าสักมีความลาดชันสูง จัดการยาก โครงการจึงเร่งรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักหาวิธีเก็บน้ำไว้ใช้ในครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นตุ่ม แท็งก์ ปลูกไม้ใหญ่เพราะรากไม้จะช่วยขุดดินลึกลงไปหลายสิบเมตร เป็นแหล่งเก็บน้ำตามธรรมชาติอย่างดี ใครมีที่ดินก็ทำโคกหนองนา ขุดบ่อขุดหนองและนำดินมาถมให้สูงเป็นโคกเพื่อทำที่อยู่อาศัย ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ในหนองก็ปลูกข้าว เลี้ยงปลา จากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องก็ได้พิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า พื้นที่โคกหนองนาตามศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นทำให้คนสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีพื้นฐานปัจจัย 4 ครบ ทั้งอาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ทำให้คนมีฐาน 4 พอที่มั่นคง คือ พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น และยังสามารถแบ่งปัน สร้างรายได้ เป็นการสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไร ก็สามารถอยู่รอดและยังช่วยเหลือผู้อื่นได้อีกด้วย”

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ

นางสาววนิดา ศรีเม่น (กำนันไก่) ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้โคกหนองนา

นายบุญล้อม เต้าแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สวนล้อมศรีรินทร์

นางสาวพรสุรีย์ กอนันทาผู้จัดการฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

รวมพลังเครือข่ายสู้น้ำท่วม
นางสาวพรสุรีย์ กอนันทาผู้จัดการฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัดกล่าวว่า “นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19เมื่อปีที่ผ่านมาโครงการตามรอยพ่อฯ ได้เดินหน้าจัดกิจกรรมเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งการรับมือวิกฤตครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับศาสตร์พระราชาและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแก่ชาวไทยบนเว็บไซต์และเฟซบุ๊คเพจของโครงการตามรอยพ่อฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจสู่การลงมือปฏิบัติ อันจะเป็นเกราะป้องกันจากวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตอื่นๆ ได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 โดยมีแคมเปญ ‘รวมพลังสู้โควิด-19’ เป็นกิจกรรมล่าสุด ซึ่งโครงการตามรอยพ่อฯ ได้ทำงานร่วมกับศูนย์ช่วยโควิด-19 ของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติรวม 19 แห่งทั่วประเทศจัดคาราวาน ‘รวมพลังสู้โควิด-19’ แจกตะกร้าปันสุขชุดต้มและน้ำสมุนไพร 7 นางฟ้าและกล่องกรีนบ็อกซ์ (Home IsolationGreen Box) ซึ่งเป็นชุดดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยสีเขียวที่พักรักษาตัวที่บ้านไปเป็นจำนวนมาก 

อย่างไรก็ดีหลังจากดำเนินกิจกรรมไปไม่นาน พายุ ‘เตี้ยนหมู่’ ที่พัดเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงปลายเดือนกันยายนทำให้ฝนตกหนักเกิดน้ำท่วมฉับพลันเกือบทุกภูมิภาคของประเทศไทย รวมถึงในพื้นที่ลุ่มน้ำป่า
สัก จังหวัดสระบุรีเราจึงขยายขอบเขตการดำเนินงานของแคมเปญรวมพลังสู้โควิด-19ด้วยการส่งความช่วยเหลือไปยังผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ประกอบด้วยชุดยังชีพ (ข้าวสาร น้ำมันพืช บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง น้ำปลา เทียนไข ไฟแช็ค) 500 ชุด น้ำยาอเนกประสงค์ 500 ชุด สบู่เหลวสมุนไพร 500 ชุด ครีมแก้น้ำกัดเท้า 500 ตลับ อาหารปรุงสุก 700 ชุด น้ำดื่ม 700 ชุด และชุดดูแลตนเองป้องกันโควิด-19 (กล่องกรีนบ็อกซ์ น้ำสมุนไพร 7 นางฟ้า)โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สวนล้อมศรีรินทร์ ต.หนองโน อ.เมือง จ.สระบุรี โดยนายบุญล้อม เต้าแก้ว ที่ช่วยประสานการดำเนินงานและส่งความช่วยเหลือ และศูนย์การเรียนรู้โคกหนองนาโคกนาศัย ต.ม่วงงาม อ.เสาไห้ จ.สระบุรี โดยนางสาววนิดา ศรีเม่น (กำนันไก่) เป็นศูนย์ดำเนินงานช่วยเหลือ โดยศูนย์การเรียนรู้โคกหนองนา โคกนาศัย นับเป็นโคกหนองนาแห่งแรกของโครงการตามรอยพ่อฯ ตั้งแต่ปีที่ 1 (พ.ศ.2556) ทั้งยังไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในครั้งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่ว่าศาสตร์พระราชาแก้วิกฤตได้อย่างยั่งยืน”

ด้านนายบุญล้อม เต้าแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สวนล้อมศรีรินทร์ กล่าวถึงรายละเอียดของพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักในจังหวัดสระบุรีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมว่า “ผมมีโอกาสได้ทำงานครั้งแรกกับอาจารย์ยักษ์เมื่อครั้งมหาอุทกภัย ปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ทั่วประเทศ จึงได้นำสิ่งที่เรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานกับอาจารย์ยักษ์มาใช้ในการรับมือกับอุทกภัยในครั้งนี้ ทั้งการวางแผน การจัดทัพ การวางงาน ใครมีหน้าที่อะไร โดยต้องประเมินสถานการณ์พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบให้ได้ก่อน แล้วจัดตั้งศูนย์ประสานงานความช่วยเหลือขึ้นบนพื้นที่ของเครือข่ายที่ไม่ได้รับผลกระทบและอยู่ใกล้กับพื้นที่น้ำท่วมจากนั้นให้เครือข่ายที่อยู่ในจุดที่น้ำท่วม ประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ที่ตัวเองอยู่ว่า น้ำท่วมสูงแค่ไหน มีกี่ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ อพยพไปอยู่ตรงจุดไหน วิกฤตที่เจอมีอะไรบ้าง และคนที่ออกมาแล้วมีกี่คน ผู้ชายกี่คน ผู้หญิงกี่คน เด็กกี่คน มีคนป่วยไหม เพื่อที่เราจะได้เตรียมความช่วยเหลือเข้าไปอย่างเหมาะสม หากจะต้องมีการขนย้ายอย่างเร่งด่วน เราก็จะประสานหน่วยงานเพื่อจะเอาเรือเข้าไปรับออกมา ณ พื้นที่อพยพชั่วคราวที่เตรียมไว้



เมื่อคนมารวมตัวกันเยอะๆ เราก็ต้องเตรียมเรื่องอาหาร น้ำดื่ม และยา ให้พรั่งพร้อม เพราะเรากำลังเผชิญวิกฤตวิด-19 อยู่ด้วยโดยเราได้เตรียมยาสมุนไพรต่างๆ ยาทั้งน้ำสมุนไพร 7 นางฟ้า หน้ากากอนามัย ยาหยอดจมูก และถุงยังชีพเพื่อแจกผู้ประสบภัย นอกจากนี้เรายังเตรียมทำน้ำยาเอนกประสงค์ เพื่อใช้ชำระล้างจานล้างถ้วย เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัตถุดิบธรรมชาติไม่มีสารเคมีจึงไม่ทำให้น้ำที่ท่วมขังอยู่เน่าเสีย นอกจากนั้น การปฏิบัติตามแนวทางศาสตร์พระราชาได้สร้างประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ โดยไม่เพียงทำให้เราช่วยเหลือตนเองได้ แต่ยังส่งผลให้เรามีแหล่งวัตถุดิบในการประกอบอาหารให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมอย่างไม่ขาดแคลน และเมื่อเครือข่ายของเราทั้งในสระบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงเช่นนครนายกทราบเรื่อง ก็ส่งอาหารต่างๆ มาสมทบอีกแรงด้วย” 


นางสาววนิดา ศรีเม่น (กำนันไก่) ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้โคกหนองนา โคกนาศัย ต.ม่วงงาม อ.เสาไห้ซึ่งเป็นศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมอีกแห่งหนึ่งของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ จังหวัดสระบุรี กล่าวว่า “มีความภาคภูมิใจที่เป็นเครือข่ายโครงการตามรอยพ่อฯ และตัดสินใจลงมือปฏิบัติตามศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ขุดโคกหนองนาที่แรกของโครงการนี้ เมื่อ 9 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2556) ถึงวันนี้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาทุกคนที่เคยไม่เชื่อแล้วว่า โคกหนองนาแห่งนี้ได้ช่วยให้เราสามารถพึ่งพาตนเองได้ในภาวะวิกฤตไม่ว่าจะโรคระบาดหรือน้ำท่วม และยังช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากวิกฤตได้อีกด้วย”

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมของแคมเปญ “รวมพลังสู้โควิด-19”
ในโครงการ  “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” 
ทาง www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking หรือ https://ajourneyinspiredbytheking.org