08 เมษายน 2564

อิเมจิน ไทยแลนด์ ผนึกกำลัง ศิลปินแห่งชาติ-ปราชญ์-ปัญญาชน ทำพื้นที่สร้างสรรค์ให้เยาวชน

ทำพื้นที่สร้างสรรค์ให้เยาวชนมั่นใจช่วยลดปัจจัย เสี่ยงสืบสานศิลปวัฒนธรรม
และลดช่องว่างระหว่างรุ่นได้

เข้มข้น และจุดประกายสุดๆ สำหรับเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างความร่วมมือ กระบวนการห้องปฏิบัติการทางสังคม “โครงการศิลปินแห่งชาติ ปราชญ์ ปัญญาชน สร้างพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเยาวชนเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง”  จัดโดยดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทางสังคม ประเทศไทย และผู้ริเริ่มการขับเคลื่อน Imagine Thailand Movement สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ที่สวนสามพราน จ.นครปฐม  โดยชวนศิลปินแห่งชาติ ศิลปินและศิลปินพื้นบ้าน  ปราชญ์ ปัญญาชน  ภาคธุรกิจ และเยาวชน เกือบ 50 คน  มาเรียนรู้ร่วมกันเป็นเวลา 3 วัน

ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทางสังคม (ประเทศไทย) และผู้นำการขับเคลื่อน Imagine Thailand Movement  กล่าวว่า  ศิลปินแห่งชาติ ปราชญ์ และผู้ร่วมกิจกรรมห้องปฏิบัติการทางสังคม ซึ่งมีทั้งผู้สูงวัย วัยกลางคน คนรุ่นใหม่ และเยาวชน  ต่างแสดงความเป็นห่วงและอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีหลายเรื่องโดยเฉพาะช่องว่างระหว่างวัย  ทำอย่างไรให้คนต่างรุ่นเข้าใจกัน สื่อสารกันให้มากขึ้น  รวมถึงห่วงผลที่ตามมาจากเทคโนโลยีและสังคมโซเซียลมีเดีย ทำให้คนจำนวนไม่น้อยปรับรับการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน  ผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะได้พูดคุยกับลูก  เด็กจำนวนมากเหงา จึงมีโอกาสถูกชักจูงเข้าสู่ปัจจัยเสี่ยงได้ง่าย   ส่วนผู้สูงวัยก็เป็นห่วงความปลอดภัยของลูกหลาน และห่วงคนรุ่นใหม่ไม่สืบทอด ภูมิปัญญา วัฒนธรรมไทย พลันจะสูญหายอย่างน่าเสียดาย  



“ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  มีการพูดถึงพื้นที่สร้างสรรค์ว่า ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่เด็กและผู้ใหญ่สามารถเรียนรู้ร่วมกันได้จริงๆ  รับฟังซึ่งกันและกัน ให้เด็กมีส่วนคิด ร่วมให้ความเห็น และร่วมลงมือทำ  โดยอาจเป็นทั้งพื้นที่จริง  หรือเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ออนไลน์   ที่มีเป้าหมาย ทำให้เยาวชน ชุมชน และสังคม มีสุขภาวะที่ดี ทั้ง 4 มิติ  คือ กาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ”

โครงการศิลปินแห่งชาติ ปราชญ์ ปัญญาชน ร่วมสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ฯ เริ่มตั้งแต่ปี 2563   โดยขณะนี้ศิลปินแห่งชาติ ศิลปิน และปราชญ์ ได้เริ่มทำพื้นสร้างสรรค์แล้วหลายแห่ง  เช่น  ศูนย์การเรียนรู้เสริมทรัพย์เกษตรอินทรีย์ อ. ปัว จ. น่าน ของ พ่อครูเสริม คำแปง  ที่ได้เปิดบ้านจัดอบรมบูรณาการคนสามวัย ถ่ายทอดความรู้เกษตรอินทรีย์  โดยชวนกำนัน ต. เจดีย์ชัย และผู้ใหญ่บ้าน มาร่วมทำพื้นที่สร้างสรรค์ด้วย

ขณะที่พื้นที่เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี  ก็กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลง หลังจากคุณครูเล็ก “ภัทราวดี มีชูธน” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ปี 2557 (ละครเวทีและภาพยนตร์)  ได้ชวนผู้ใหญ่บ้าน ผู้ประกอบการ วัด หัวหน้าชุมชน  ปราชญ์ มาร่วมกันเปลี่ยนพื้นที่ลานเอนกประสงค์ข้างวัดเสมียน มาทำเป็นพื้นที่สร้างสรรค์  โดยทำเป็นลานสเก็ต  เพื่อดึงดูดใจเยาวชน คนรุ่นใหม่  ที่ปกติจะไปรวมตัวกันในพื้นที่มืด (ไม่ให้ผู้ใหญ่รู้)  ให้เข้ามาใช้พื้นที่   ซึ่งควบคู่ไปก็สามารถส่งเสริมอาชีพ  ถ่ายทอดวัฒนธรรม  เกิดการท่องเที่ยว  ที่เด็กๆ สามารถทำกิจกรรมร่วมกับผู้ใหญ่ เช่นลุกขึ้นมาเป็นมัคคุเทศก์น้อย นำเที่ยวชมแหล่งผลิตของดีเจ็ดเสมียน ที่มีทั้ง การทำมีด ศิลปะ อาหารขึ้นชื่อ ไชโป้วเจ็ดเสมียน

นอกจากนี้ในส่วนของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ  ก็มีการทำงานร่วมกับปราชญ์เกษตรอินทรีย์ คือ พ่อเสริม คำแปง และ รศ. ดร. สมพร แสงชัย ปราชญ์มวยไทยสายพระยาพิชัยดาบหัก     จัดให้มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาให้ชุมชนที่ห้องสมุดในหลายจังหวัด  ทำให้ห้องสมุดเป็นมากกว่าคลังหนังสือ แต่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ส่งต่อความรู้และบูรณาการคนหลายวัย   ด้านบ้านท่ามะพร้าว  จ. กระบี่   ทั้งบังเฉม บังวี ผู้นำชุมชน ก็ได้ชวนมัสยิด และโรงเรียน ให้มาร่วมคิดเพื่อทำพื้นที่สร้างสรรค์สืบสานสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม ให้เด็กๆยังคงหวงแหนป่าชายเลน ที่ร่วมกันฟื้นคืนกลับมาเมื่อหลายปี   ส่วนเครือข่ายบางกอกนี้ดีจัง กรุงเทพ นำโดยผู้นำเยาวชนอย่างเช่นน้องแวน  ก็กำลังเชื่อมโยงกับศิลปิน ปราชญ์ ให้เข้ามาถ่ายทอดภูมิปัญญา สอนศิลปวัฒนธรรม  เทคนิคการสื่อสารให้เยาวชนทำคลิปเล่าของดีชุมชนวัดโพธิ์เรียง  


คุณแม่ศรีนวล ขำอาจ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ศิลปะพื้นบ้าน-ลำตัด) ปี2562 ซึ่งเปิดบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้การแสดงลำตัด  กล่าวว่า   อยากให้เด็กๆ มาเรียน มาฝึกทักษะ ร้องลำตัด เพราะพบว่าหลายคนที่มาฝึกฝน สามารถต่อยอดเป็นอาชีพได้ดี ไม่ไปทางเสียหาย หรือเกเรเลย

ขณะที่ในส่วนของเยาวชน อย่างเช่น แอนน์ชิสา วัฒนอุดมศิลป์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนมาแตร์เดอี วิทยาลัย  สะท้อนว่า พื้นที่สร้างสรรค์ควรมีความน่าสนใจ ทันสมัย ต้องตา ต้องใจ ดึงดูดใจให้เยาวชนออกจากโลกออนไลน์แล้วเข้ามาเรียนรู้   คือเป็น Young Gen Centric    เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง  ให้โอกาสเด็กได้ร่วมคิด ได้แสดงออก เหมือนดังเช่นที่มาในห้องปฏิบัติการทางสังคม  ที่รู้สึกปลอดภัย รู้สึกความคิดเห็นมีคุณค่า ผู้ใหญ่ก็น่ารัก รับฟัง  ถ้าเป็นแนวสร้างสรรค์อย่างนี้ก็เชื่อว่า จะช่วยลดช่องว่างระหว่างรุ่นได้   

ศิลปินแห่งชาติ  ศิลปินพื้นบ้าน ปราชญ์ ปัญญาชน และเยาวชน  ที่มาร่วมระดมสมองและสานความร่วมมือ ในครั้งนี้ อาทิ ภัทราวดี มีชูธน ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ปี 2557 (ละครเวทีและภาพยนตร์) คุณแม่ศรีนวล ขำอาจ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ปี 2562 (ศิลปะพื้นบ้าน-ลำตัด) ดร.วินัย พันธุรักษ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ปี2562 (ขับร้อง-เพลงไทยสากล)  นักแสดงและที่ปรึกษาคณะละครชราชาตรี   วิสาหกิจเพื่อสังคมอาภานวดแผนไทย “ป้าปุ้ม”  นพ. แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ  คุณวินัย ปราบริบู ผู้ก่อตั้งหอศิลป์ริมน่าน ดร. บุญธรรม  เทิดเกียรติชาติ อธิการมหาวิชชาลัยชุมชนศิลปินพื้นบ้านศรีวิชัย   รศ. ดร. สมพร แสงชัย ปราชญ์มวยไทยสายพระยาพิชัยดาบหัก  พ่อเสริม คำแปง ป้าประหยัด ปานเจริญ ปราชญ์เกษตรอินทรีย์ ศ.ดร.  ศักดิ์ ประสานสันติ ประธานมหาวิทยาลัยโพธิศาสตร์

ผู้สนใจมีส่วนร่วมสร้างพื้นที่สร้างสรรค์  ลดปัจจัยเสี่ยงให้เยาวชนไทย
สามารถดูรายละเอียดได้ที่  Facebook:  Imagine Thailand Movement  https://www.facebook.com/imaginethailandmovement/  หรือ
ติดต่อโครงการฯ ที่เบอร์โทรศัพท์ 082-995-1415  หรือ Line @ : https://lin.ee/C17rI97