นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวถึงร่างกฎหมายการช่วยเหลือ เยียวยาผู้เสียหาย และจำเลยในคดีอาญา เพื่อปฏิรูประบบกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ตามนโยบายของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงได้ปรับปรุงแก้ไข ร่างพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาฉบับที่ 3 พ.ศ. .... ซึ่ง กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางผ่านเว็บไซต์ โดยล่าสุดได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวิพากษ์ร่างกฎหมาย พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น ผ่านระบบ Video Conference ไปยัง 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วม 780 คน ทั้งผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมแสดงความคิดเห็น
นายเรืองศักดิ์ ยังเปิดเผยว่า การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ มีกรอบแนวคิด 2 ขยาย 2 เพิ่ม 1 ลด โดยขยายการช่วยเหลือจำเลย ในชั้นสอบสวนที่กฎหมายฉบับเดิมช่วยเหลือเฉพาะในชั้นพิจารณาคดี ขยายระยะเวลาการยื่นคำขอ จาก 1 ปีเป็น 2 ปีเนื่องจากประชาชนไม่ทราบสิทธิเท่าที่ควร ทั้งนี้ จากสถิติที่ผ่านมา
มีประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อยื่นคำขอกว่า 1,190 ราย จึงได้ขยายระยะเวลา เพิ่มการช่วยเหลือผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนที่ไม่ได้กระทำความผิดยังเป็นผู้บริสุทธิ์ถูกจับกุมดำเนินคดีควรได้รับการเยียวยาถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีในกฎหมายฉบับเดิม เพิ่มการบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบให้ประชาชนเข้าถึงอย่างทั่วถึงและกระจายการช่วยเหลือลงสู่จังหวัด ลดขั้นตอนการช่วยเหลือให้สั้นลง ไม่เพิ่มภาระให้ประชาชน โดยให้การช่วยเหลือ ภายใน 21 วัน
ทั้งนี้ ในการรับฟังความคิดเห็น ผ่านระบบ Video Conference นั้นที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการที่จะปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อยกระดับการช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อในคดีอาญา ทั้งผู้เสียหายผู้ต้องหาและจำเลยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพโดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2564 และหลังจากนั้น จะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆมาปรับปรุงแก้ไข ร่าง พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา (ฉบับที่3) พ.ศ. .... ต่อไป