09 กุมภาพันธ์ 2564

พม. ลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือคนเปราะบางให้เข้าถึงสิทธิโครงการ “เราชนะ”

วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 15.00 น. นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พร้อมด้วยอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ช่วยเหลือคนเปราะบาง ในศูนย์คนไร้บ้าน “สุวิทย์ วัดหนู” แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เพื่อค้นหากลุ่มคนเปราะบางที่เข้าไม่ถึงโครงการเราชนะ และประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารการเปิดช่องทางลงทะเบียนกับธนาคารกรุงไทย สำหรับผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนในการลงทะเบียน


นายโชคชัย กล่าวว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ โดย บ้านมิตรไมตรีธนบุรี และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ได้ทำการสำรวจกลุ่มเป้าหมายที่เข้าไม่ถึงโครงการ “เราชนะ” ในศูนย์คนไร้บ้าน “สุวิทย์ วัดหนู” พบว่า มีสมาชิกอาศัยอยู่ทั้งสิ้น 50 ราย สามารถแบ่งกลุ่มตามโครงการเราชนะ ได้ ดังนี้ 1) เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 24 ราย  2) เป็นผู้ที่มีแอพพลิเคชั่นคนละครึ่ง จำนวน 22 ราย 3) เป็นผู้ที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เราชนะ จำนวน 2 ราย 4) ไม่มีบัตรประชาชน จำนวน  2 ราย ทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิโครงการของรัฐได้ ทั้งนี้ บ้านมิตรไมตรีธนบุรี ได้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล และยื่นขอทำบัตรประชาชน เพื่อให้บุคคลทั้งสองได้เข้าถึงสวัสดิการของรัฐต่อไป

นายโชคชัย กล่าวต่อว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง คนไร้ที่พึ่ง
คนไร้บ้าน ให้สอดรับกับสถานการณ์ COVID-19 โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ 

กลุ่มที่ 1 ผู้ใช้บริการภายในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 11 แห่งทั่วประเทศ ได้มีมาตรการ Lockdown ไม่ให้บุคคลภายนอกเข้า-ออกอาคารที่พัก ปรับรูปแบบ การทำงาน งดการจัดกิจกรรมกลุ่ม สวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง และฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้ออาคารสถานที่อย่างสม่ำเสมอ 

กลุ่มที่ 2 คนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่ง ที่อาศัยอยู่ที่สาธารณะ ได้มีแนวทางในการช่วยเหลือ ดังนี้ 1) บูรณาการลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์เชิญชวนเข้ารับบริการในศูนย์พักพิงที่จัดให้ พร้อมแจกหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ วัดไข้ ให้ความรู้ด้านการดูแลป้องกันตนเองจาก COVID-19 ตลอดจนประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ โครงการ “เราชนะ” เพื่อให้กลุ่มเปราะบางได้รับทราบ และเข้าถึงสิทธิของรัฐมากขึ้น 2) เปิดจุดคัดกรองเฉพาะกิจ บริเวณใกล้แยกโบสถ์แม่พระดินแดง โดยมีการคัดกรองโรค บริการที่พัก อาหารฟรี และหลังจากกักตัวครบ 14 วันแล้ว จะประสานส่งต่อไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือ หรือประสานติดตามญาติ 3) บริการบ้านปันสุข (บ้านมิตรไมตรีธนบุรี) ให้บริการที่พักชั่วคราวค้างคืน ตั้งแต่เวลา 16.00 – 09.00 น. 4) เปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว รับกลุ่มเป้าหมายจากจุดคัดกรองเฉพาะกิจ ประกอบด้วย 4 แห่ง ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี นิคมสร้างตนเองลำตะคอง และสถาบันการพัฒนาความรู้ฯ จังหวัดราชบุรี สามารถรองรับได้แห่งละ 40 คน 

ในส่วนภูมิภาค ดำเนินงานเชิงรุก ส่งทีมเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 77 แห่งทั่วประเทศ ลงพื้นที่ค้นหาผู้ประสบปัญหาทางสังคม เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือตรงกับสภาพปัญหาและความต้องการ อาทิ ให้คำปรึกษาแนะนำ ประสานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้บริการสถานที่พักชั่วคราว รวมถึงการติดตามหาญาติ ครอบครัว



    ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาคนไร้ที่พึ่งและเร่ร่อนนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย ชุมชน ไปจนถึงครอบครัว ในการร่วมสอดส่อง ดูแลซึ่งกันและกัน เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มคนเปราะบางในพื้นที่ ออกมาเร่ร่อน ใช้ชีวิตในที่สาธารณะต่อไป