14 ธันวาคม 2563

เริ่มแล้ว!งานสังคมสุขใจ “เราปรับ โลกเปลี่ยน” 11-13 ธันวาคม ที่สวนสามพราน

ปลุกคนไทยตื่นตัวบริโภคอาหารอินทรีย์เพิ่มภูมิคุ้มกัน ป้องกันโควิด-19
พร้อมเปิดทริปเที่ยววิถีอินทรีย์ เปิดตัวสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทยเป็นครั้งแรกในไทย

ภายใต้คอนเช็ปต์ “เราปรับ...โลกเปลี่ยน” ชีวิตวิถีใหม่ ขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์  งานสังคมสุขใจครั้งที่ 7
จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 ธันวาคม พ.ศ. 2563  ณ สวนสามพราน จ.นครปฐม ได้รับความสนใจจากคนไทยจำนวนมากที่ตื่นตัวและห่วงใยสุขภาพ มาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง   ทั้งมาช้อปพืชผักอาหารอินทรีย์มาเรียนรู้มาหาแรงบันดาลใจใหม่ๆเพื่อการปรับตัว พึ่งพาตนเอง สร้างการเปลี่ยนแปลง และเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ห่างไกลจากโรค โควิด-19 ทั้งนี้ได้รับเกียรติจากหม่อมหลวง ปนัดดา ดิศกุล  สมาชิกวุฒิสภา เป็นประธานพิธีเปิดงาน

งานสังคมสุขใจ ครั้งที่ 7 “เราปรับ...โลกเปลี่ยน”  ปีนี้มีความพิเศษมากกว่าปีก่อนๆ โดยเฉพาะบรรยากาศงานสุดชิคเนื่องจากใช้พื้นที่หมู่บ้านปฐมออร์แกนิกเชื่อมต่อกับตลาดสุขใจ ในสวนสามพราน เป็นที่ตั้งบูธ กิจกรรมเวทีกลาง และฐานเรียนรู้มีชีวิตต่างๆ โดยในพื้นที่มีภูมิทัศน์สวยงามร่มรื่น มีแปลงเกษตรอินทรีย์สาธิต  โปร่ง กว้าง เดินสะดวก มาได้ทุกวัย วีลแชร์ก็มาสะดวก และสามารถเว้นระยะห่างทางสังคมได้อย่างสบาย ทั้งนี้พื้นที่จัดงานได้รับมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (SHA ) จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ให้ทุกคนร่วมมืออย่างเคร่งครัด มีการตรวจวัดอุณหภูมิ  ใส่หน้ากากอนามัย สแกนไทยชนะก่อนเข้างาน แต่ละจุดมีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และได้รับความร่วมมือจากสาธารณสุขอ.สามพราน สาธารณสุขจ.นครปฐม มาช่วยดูแลเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ชมงานตลอด 3 วัน



หม่อมหลวง ปนัดดา ดิศกุล   สมาชิกวุฒิสภา ประธานพิธีเปิดงานสังคมสุขใจกล่าวว่า   แนวคิด “เราปรับ โลกเปลี่ยน” ของงานสังคมสุขใจปีนี้  นับว่ามีความสอดคล้องกับสถานการณ์และมีความสำคัญยิ่ง เพราะการปรับตัวที่เริ่มจากตัวเรานั้นมีความจำเป็น ซึ่งเวลาพูดว่า “เราจะปรับ” อาจจะดูเหมือนง่าย แต่ความจริงต้องอาศัยแรงบันดาลใจ มีการเรียนรู้  มีการฝึกฝน ตลอดจนมีสังคมกัลยาณมิตรช่วยหนุนเสริม ซึ่งภายในงานที่มีคนทั้งห่วงโซ่โดยเฉพาะเกษตรกรอินทรีย์ทั่วทุกภาค และปราชญ์ ที่พร้อมถ่ายทอดความรู้ ก็น่าจะเป็นโอกาสดี สำหรับการเรียนรู้ เพื่อเริ่มต้นสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องอาหาร ที่เป็นปัจจัย 4 ที่สำคัญ และต้องเลือกบริโภคให้ปลอดภัย

นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมกล่าวว่า  สถานการณ์โควิด- 19  ทำให้เรื่องเกษตรอินทรีย์ อาหารปลอดภัย ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น   จากการขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อเนื่องในจังหวัดนครปฐม    ทำให้มีเกษตรกรอินทรีย์และศูนย์การเรียนรู้หลายแห่งโดยเฉพาะในเครือข่ายที่สามพรานโมเดลได้ทำมาต่อเนื่อง  พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสามารถสร้างความยั่งยืน สุขภาพดีขึ้น พึ่งพาตนเองได้ มีภูมิคุ้มกันทางจังหวัดจึงอยากส่งเสริมให้ประชาชนทั้งในจังหวัดและที่อยู่ใกล้เคียงได้ใช้โอกาสงานสังคมสุขใจ เข้ามาเรียนรู้ และนำไปปรับใช้ รวมถึงเป็นทางเลือกในการเริ่มทำอาชีพใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง

นายอรุษ นวราช เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ กล่าวถึงไฮไลต์ของงานสังคมสุขใจว่าเป็นการรวมพลคนในห่วงโซ่สังคมอินทรีย์ที่ครบถ้วนมากที่สุด โดยตลอด 3 วัน  ทุกคนจะได้เจอเกษตรกรอินทรีย์ในเครือข่ายสามพรานโมเดลและจากเครือข่ายในระบบการรับรองอย่างมีส่วนร่วม (PGS)ครอบคลุมทุกภาคของประเทศกว่า 300 รายที่พร้อมแชร์องค์ความรู้กระบวนการทำเกษตรอินทรีย์ ที่มีการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง ลดต้นทุน พึ่งพาตนเองได้ รวมถึงได้เจอผู้ประกอบการที่มีวิสัยทัศน์ตลอดจนปราชญ์เกษตรอินทรีย์ที่มีชื่อเสียงเช่น คุณโจน จันไดและผู้นำการขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ เช่น คุณวิฑูรย์ เรืองเลิศปัญญากุล  ,คุณนคร ลิมปคุปตถาวร, คุณนภ พรชำนิ  ศิลปินLIFEiS ขณะที่ในด้านความรู้มีฐานการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ เพื่อการพึ่งพาตนเองสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ทุกคนสามารถเข้าไปทดลองทำพร้อมนำไอเดียไปใช้งานได้จริง 


และที่นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของสังคมอินทรีย์ คือ มีการเปิดตัวสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทยเป็นครั้งแรกในประเทศไทย  (TOCA: Thai Organic Consumer Association)เพื่อเชื่อมโยงผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ร่วมขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์พร้อมเปิดรับสมัครสมาชิกและมีการเปิดตัวทริปเที่ยววิถีอินทรีย์ถึง 20 โปรแกรม ให้ไปสัมผัสเสน่ห์ฟาร์มจริง  รวมถึงมีการเปิดตัวธุรกิจต้นแบบเกื้อกูลสังคม ที่แม้ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับอาหาร แต่เมื่อนำสามพรานโมเดล (โมเดลธุรกิจเกื้อกูลสังคม) ไปขยายผลกับพนักงานและชุมชน ก็เกิดเป็นนวัตกรรมความร่วมมือสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในส่วนของผลผลิตสินค้าอินทรีย์ ปีนี้นับว่ามีความโดดเด่นเช่นกัน คือมีทั้งพืชผักตามฤดูกาล ผักใบเขียวสดใหม่จากสวน อาหารพื้นบ้านจากภาคต่างๆ รวมถึงพืชผักเมืองหนาว  อาหารพื้นถิ่น เช่น รากชู คะน้าดอย กุ้งโก่ง อีกทั้งยังมีสินค้าแปรรูป ไลฟ์สไตล์อินทรีย์มากมาย เช่นผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติจากสระแก้ว และอีกมากมาย



สำหรับครอบครัวที่อยากให้ลูกหลานได้เรียนรู้วิถีอินทรีย์ ภายในงานทีมปฐม และสวนสามพรานจัดกิจกรรมให้สนุกสนานอย่างเต็มที่ เปิดโซนเกษตรอินทรีย์ ให้ทดลองทำจริงทั้ง ดำนา สีข้าว ฝัดข้าวเวิร์คช็อปลูกต้นกล้าในเปลือกไข่หรือปลูกในกระถาง สาธิตการสีข้าวที่โรงสีข้าว ทุกวัน เวลา 15.00 น. ส่วนเกษตรกรที่สนใจการ  ทำเกษตร เฉพาะวันเสาร์มีคลินิกเกษตร 2 รอบ คือ เวลา10.00 น.และ14.00 น.ที่บริเวณศาลาปัจจัยการผลิต ซึ่งมีเจ้าหน้าที่พร้อมให้คำปรึกษา

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ(สสส.) กล่าวว่า การกินอาหารที่ปลอดภัยนั้น จะเชื่อมโยงไปถึงระบบสุขภาพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี  ซึ่งการที่งานสังคมสุขใจ เน้นสร้างคุณค่าวิถีอินทรีย์ ให้ทุกคนพึ่งพาตัวเองแบบองค์รวม จะช่วยสร้างแรงกระเพื่อมให้คนไทยตระหนักถึงปัญหาสถานการณ์โควิด-19 และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDsสิ่งสำคัญทุกคนต้องมีองค์ความรู้เรื่องอาหารเพื่อการบริโภคที่ปลอดภัย สสส. ยินดีอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมพื้นที่สังคมอินทรีย์ สร้างผู้บริโภคที่เข้มแข็ง ขยายการผลิตอาหารสู่ไลฟ์สไตล์วิถีอินทรีย์  จุดประกายให้ทุกคนบนแผ่นดินไทยเข้ามามีส่วนร่วมเข้าใจ และนำสามพรานโมเดลไปปรับใช้




คุณปทิตตา ตันติเวชกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
 (ททท.)  กล่าวว่า ความพิเศษของงานสังคมสุขใจครั้งที่ 7 ที่มีการเปิด 20 โปรแกรมการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ (Organic Tourism)  เชื่อมั่นว่าจะเป็นแม่เหล็กสำคัญที่ดึงดูดให้คนไทยมาเที่ยวงานสังคมสุขใจ

ในปีนี้ มากขึ้น เพราะปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ  การได้ไปสัมผัสเสน่ห์ฟาร์มจริงในพื้นที่จริง  ที่ได้รับมากกว่าความเพลิดเพลิน แต่เป็นคุณค่าทางจิตใจ ได้สนับสนุนท้องถิ่น ได้เรียนรู้เรื่องอาหาร  การพึ่งพาตนเอง ได้สัมผัสกับธรรมชาติได้อย่างสบายใจ จะเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง

ด้าน  คุณจิรุตถ์  อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) กล่าวว่า  งานสังคมสุขใจ ถือเป็นโอกาส ที่จะเปิดมิติความร่วมมือสู่การเป็นพันธมิตรใหม่ๆ ระหว่างผู้ประกอบการ กับเกษตรกรอินทรีย์ ซึ่งปีนี้เป็นที่น่ายินดี ที่มีผู้ประกอบการมามีส่วนร่วมมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการที่เคยร่วมโครงการ Farm to Functions กับทางสสปน. และสามพรานโมเดล  เช่นห้องอาหารสีฟ้า ก็ยังเหนียวแน่น มาสนับสนุนการทำBusiness Matching  ในกลุ่มข้าวและกาแฟอินทรีย์ รวมถึงเรื่อง Food waste ManagementและCircular Economy  ที่จัดขึ้นเป็นพิเศษในงานนี้ด้วย 

ท่ามกลางธรรมชาติและโลกที่เปลี่ยนแปลงไป  การปรับตัวที่สำคัญและง่ายที่สุด คือ เริ่มจากตัวเราเอง เช่น เริ่มจากช้อปรักษ์โลก พกถุงผ้า ตะกร้า มาเที่ยวงานให้ความร่วมมือคัดแยกเศษขยะก่อนทิ้ง และแน่นอนคือเริ่มรู้จักกับวัตถุดิบอาหารอินทรีย์ด้วยการพูดคุยกับเกษตรกรอินทรีย์ ปราชญ์ นักขับเคลื่อนที่พร้อมให้ข้อมูลอย่างไม่กั๊ก



งานสังคมสุขใจครั้งที่ 7  “เราปรับ...โลกเปลี่ยน” เป็นความร่วมมือของทั้งสามพรานโมเดล สวนสามพราน  จังหวัดนครปฐม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ชีวจิต บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล โรงพยาบาลมหาชัย 2  แบรนด์ปฐม เครือข่ายYoung  Happy  สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย พีจีเอส เครือข่ายมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย สมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย ( TOCA) เกษตรกรอินทรีย์ และภาคี ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาจัดขึ้นระหว่าง  วันที่ 11-13 ธันวาคมนี้  ณ สวนสามพราน จ.นครปฐม ตั้งแต่  เวลา 09.00-17.00 น.


โดยสอบถามโปรแกรมและข้อมูลการเดินทางได้ที่โทร 034 322 588-93 หรือ
ดูรายละเอียดที่ FaceBook: https://www.facebook.com/SangkomSookjai