23 เมษายน 2563

สมาพันธ์ SME ไทย ชื่นชม "กระทรวงแรงงาน"



 “ครม. มีมติเห็นชอบให้ขยายความครอบคลุม ในกรณีผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้ และไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ไม่ว่านายจ้างจะหยุดประกอบกิจการเอง หรือหยุดประกอบกิจการ ตามคำสั่งของทางราชการ ผู้ประกันตนมีสิทธิรับเงินกรณีว่างงาน 62% ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน เช่นกัน” โดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าว

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช เลขาธิการสมาพันธ์ SME ไทย และประธานสมาพันธ์ SME ไทย ส่วนภูมิภาค กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดเหตุการณ์วิกฤตโควิด-19 หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะสำนักงานประสังคม กระทรวงแรงงาน ได้ออกมาตรการค่อยข้างดีและเยอะสำหรับการให้การช่วยเหลือและเยียวยา พร้อมทั้งยืนเคียงข้างทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้างมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับเรื่องสิทธิของผู้ประกันตนกับการรับเงินกรณีว่างงาน 62% กรณีนายจ้างหยุดประกอบกิจการเอง หรือหยุดประกอบกิจการ ตามคำสั่งของทางราชการ เพื่อประคับประคองการดำเนินชีวิตในช่วงระยะเวลา 3 เดือน หรือ 6 เดือน
ทั้งนี้ตามมติความเห็นชอบของ ครม.นั้น อาจจะมีผู้ประกันตนทั้งเห็นชอบและไม่เห็นชอบ โดยผู้ที่ไม่เห็นชอบผมคิดว่า อาจเป็นในกรณีที่สถานประกอบการหักเงินลูกจ้างเพื่อส่งเงินสมทบเข้าสำนักงานประกันสังคมที่มีมานานมากกว่า 5 ปี หรือ 10 ปี ควรได้รับเงินกรณีว่างงานในขณะนี้มากกว่าสถานประกอบการที่เพิ่งจะส่งเงินสมทบเข้าสำนักงานประกันสังคม นับเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจทุกฝ่าย เพราะเป็นสถานการณ์หรือวิกฤตสุดวิสัยที่ไม่เคยเกิดขึ้นในโลกที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมากมายเช่นนี้ ผู้ประกอบการก็แย่ หากถึงขั้นปิดกิจการทุกอย่างจบหมดเลย แต่ถ้ายังสามารถประคองตัวไปได้ เหมือนร่างกายที่บอบช้ำ วันหนึ่งก็ฟื้นคืนตัว นั่นหมายถึง ทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้างหรือแรงงานยังคงดำเนินต่อไปได้
“อย่างไรก็ตามขอให้ทุกฝ่ายมีความอดทน เราจะเรียนรู้การสู้วิกฤตเพื่อความอยู่รอดไปด้วยกัน จะว่าไปแล้วนายจ้างกับลูกจ้างก็เสมือนคนในครอบครัวกัน ควรเห็นอกเห็นใจกัน แล้วเชื่อว่าภาครัฐก็ไม่ได้ทอดทิ้งหรือนิ่งนอนใจ โดยเฉพาะมีการเตรียมงานประมาณช่วยเหลือและเยียวยา อย่างสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงาน ได้มีโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน วงเงินไม่เกิน 30,000 ล้านบาท แล้วท้ายที่สุดอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้ฟังเสียงสะท้อนทั้งจากผู้ประกอบการและลูกจ้างให้มากขึ้นด้วย”

ทางด้าน คุณกอล์ฟ ผู้ประกอบรายหนึ่ง กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่กดดันและบีบคั้นผู้ประกอบการมาก กรณีการจ่ายชดเชยค่าแรงในวิกฤตดังกล่าว ซึ่งสถานประกอบการไม่สามารถดำเนินธุรกิจใดๆได้เลย นับว่าเป็นเรื่องที่ลำบากมากอย่าว่าแต่เพียงจ่าย 62 % น้อยกว่านี้ก็แย่ สินค้าและบริการขายไม่ได้ จะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย จะอยู่กันไปได้นานแค่ไหน โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ SME  ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากต่อการทำความเข้าใจกับแรงงาน อยากให้หน่วยงานเข้ามาให้ความชัดเจน และเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยและลดช่องว่างระหว่างนายจ้างกับแรงงาน สร้างความเข้าใจในตัวบทกฎหมาย ทั้งนี้บางคนที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบของแรงงาน อาจยังไม่ทราบว่า ตามกฎหมายแรงงานผู้ประกอบการไม่สามารถส่งเงินประกันตนได้เหมือนกับแรงงานที่ดูแล ต้องออกค่าประกันตนให้กับแรงงานคนละครึ่ง
 “ตอนนี้ก็พยายามประคับประคองทั้งสถานประกอบการทั้งแรงงานให้อยู่รอดได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างเวลานี้ได้รับภาระในเรื่องการช่วยค่าอาหารของแรงงานทั้ง 3 มื้อ ก็อยากให้สำนักงานประกันสังคมเข้ามาเยียวยาผู้ประกอบการที่กำลังบอบช้ำอย่างทั่วถึง ซึ่งก็ทราบว่าได้ออกมาตราการดำเนินการช่วยเหลือและเยียวยาแล้ว อยากให้กำลังใจทุก ๆ ฝ่าย ซึ่งเราจะต้องฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน ไม่มีผู้ประกอบการและแรงงานเศราฐกิจของประเทศจะอยู่ได้อย่างไร”

 ทางด้าน คุณณภัค เอี่ยมอาจิณ พนักงานของบริษัทแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ในฐานะแรงงานตอนนี้ก็เปรียบเสมือนนั่งเรืออยู่ท่ามกลางลมมรสุม โดยมีนายจ้างเป็นคนบังคับเรือ เชื่อว่า การมีสติจะทำให้เราไม่หวั่นไหว ไม่ตกใจ เราต้องเป็นกำลังใจให้นายจ้าง อาจจะโชคดีกว่าหลายคนที่เราอยู่กันมานานเสมือนครอบครัวใหญ่ จึงมีความเห็นอกเห็นใจกัน พร้อมทั้งเป็นกำลังใจให้นายจ้างสามารถบังคับเรือฝ่ามรสุมไปให้ถึงฝั่งอย่างปลอดภัย แม้จะยังไม่ทราบระยะทางหรือระยะเวลาก็ตามที

 “ถามว่าผลกระทบต่อตนเองมั้ย มีแน่นอน ตอนนี้เงินถูกลดลงไปบางส่วนและตามสัดส่วนฐานเงินเดือนของพนักงานอย่างเหมาะสม ในเรื่องของการทำงานก็มีทั้งในทำที่บ้านและที่ทำงาน สลับวันกันไป ทำให้ประหยัดค่ารถและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ลดไป ขณะเดียวกันก็ต้องทำใจหากว่า บริษัทไม่สามารถต้านวิกฤตโควิด-19 ได้ ทำให้ต้องหยุดหรือปิดกิจการก็ต้องว่ากันไปตัวบทกฎหมายแรงงาน ซึ่งตนเองอยู่ในสถานการณ์ที่บริษัทปิดมาแล้วถึง 2 บริษัท โดยได้รับเงินชดเชยจากสำนักงานประกันสังคมอย่างครบถ้วน ถึงแม้ว่าครั้งนี้หากต้องได้รับเงินเพียงแค่ 62 % ตามมติ ครม. ตนเองก็ยินดีถึงแม้ว่าจะประกันตนมานานหลายปี ถ้าหากเราฟื้นบริษัทตายเราก็แย่ แต่ถ้าหากเราฟื้นและบริษัทฟื้น เราก็รอด ซึ่งผลกระทบในครั้งนี้อยู่นอกเหนือเหตุปัจจัยทั่วไป เชื่อว่ากระทรวงแรงงานก็ไม่ทอดทิ้งทั้งผู้ประกอบการและแรงงานอย่างแน่นอน”