ภายใต้กิจกรรม เปิดประตูท่องเที่ยว สู่แดนดิน ถิ่นลเวือะ
เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2563 เวลา 16.00 ที่ผ่านมา ณ เขตพัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงห้วยผึ้ง บ้านละอูบ หมู่ที่ 6 ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน นายอนันต์ ดนตรี รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ Kick off ด้านการท่องเที่ยวภูมิวัฒนธรรม เพื่อสร้างสวัสดิการสังคม ภายใต้กิจกรรม เปิดประตูท่องเที่ยว สู่แดนดิน ถิ่นลเวือะ
นายอนันต์ กล่าวว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ โดยกองพัฒนาสังคมกลุ่มเป้าหมายพิเศษมีภารกิจ ในการส่งเสริมสวัสดิการ เพื่อให้ราษฎรบนพื้นที่สูงเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน โดยใช้ทุนทางสังคม ขนบธรรมเนียม ประเพณี อันเป็นอัตลักษณ์ เพื่อสร้างโอกาสให้ราษฎรบนพื้นที่สูงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
โดยในปีงบประมาณ 2561 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการท่องเที่ยวภูมิวัฒนธรรม กับกรมการท่องเที่ยว องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมบูรณาการวางแนวทางการพัฒนาการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมพื้นที่ 20 จังหวัด และในปีงบประมาณ 2562 ได้เปิดพื้นที่การท่องเที่ยวภูมิวัฒนธรรมแล้ว ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ตาก ลำพูน และอุทัยธานี ในปีงบประมาณ 2563 กำหนดเปิดพื้นที่ขยาย ด้านการท่องเที่ยวภูมิวัฒนธรรม ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี กำแพงเพชร เพชรบุรี น่าน และแม่ฮ่องสอน
นายอนันต์ กล่าวต่อไป โครงการ Kick off การท่องเที่ยวภูมิวัฒนธรรม ในครั้งนี้ ได้เลือกหมู่บ้านละอูบ ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเปิดพื้นที่ให้สื่อมวลชนและหน่วยงานภาคีเครือข่าย เข้าร่วมทดลองโปรแกรมการท่องเที่ยว ที่ดำเนินการในช่วงเช้า เมื่อเวลา 9.30 น.
โดยใช้เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวภูมิวัฒนธรรมบนพื้นที่สูง การทดลองโปรแกรมการท่องเที่ยว.(Product.Testing) ได้กำหนดการทดลองโปรแกรมการท่องเที่ยวของ บ้านละอูบ จำนวน 6 จุด ได้แก่ 1) จุดบรรยายข้อมูลพื้นฐานบ้านละอูบ 2) จุดกลุ่มทำเครื่องเงิน 3) จุดกลุ่มกาแฟ 4) จุดกลุ่มผ้าทอ 5) จุดกลุ่มโฮมสเตย์ 6) จุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวภูมิวัฒนธรรมของราษฎรบนพื้นที่สูง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่งเสริม รักษา ไว้ซึ่งอัตลักษณ์ ประเพณีวัฒนธรรมของราษฎรบนพื้นที่สูง และเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนบนพื้นที่สูง โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งสิ้น 520 คน
กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เห็นความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบนพื้นที่สูงในชุมชนให้ดีขึ้น โดยมีการส่งเสริมสวัสดิการสังคม ด้านอาชีพ และรายได้ จากทุนทางสังคมด้านวัฒนธรรม ประเพณีอันเป็นอัตลักษณ์ของราษฎรบนพื้นที่สูงที่มีอยู่ในชุมชน รวมถึงแหล่งธรรมชาติอันงดงามในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวภูมิวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ก่อให้เกิดความเข็มแข็งและความสามัคคีในชุมชนกลุ่มเป้าหมายมีอาชีพ รายได้ที่มั่นคงต่อไป นายอนันต์ กล่าวในตอนท้าย