24 มิถุนายน 2567

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรครบ 83 ปี จัดใหญ่ “มหกรรมคุณภาพและการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร ครั้งที่ 1”

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จัดงานครบรอบ 83 ปี เนื่องในวันสถาปนาโรงพยาบาลฯ โดยจัดให้มีการประชุมวิชาการและบริการทางการแพทย์ฟรี ให้บริการตรวจประเมินความเสี่ยงในการเดินของผู้สูงอายุ  ผู้ที่มีปัญหาการนอน รวมถึงการตรวจสุขภาพด้านจิตใจ  และที่พิเศษคือสำหรับผู้ที่มาเที่ยวชมที่ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ช่วงวันที่ 24-25 มิถุนายนนี้ ถ่ายรูปเช็คอินครบ 5 จุด รับน้ำมันกระดูกไก่ดำแก้ปวดลดอักเสบไปใช้ที่บ้านได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

พญ.ชนิดา สยุมภูรุจินันท์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า “วันที่ 24 มิถุนายน ปีนี้เป็นปีที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมีอายุ 83 ปี  ซึ่งถ้าเทียบกับอายุคนก็คืออยู่ในวัยสูงอายุ  ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว  เก็บเกี่ยวประสบการณ์ทั้งดีและร้ายระหว่างทาง และพร้อมเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้คนอื่นได้รับรู้  ในปีนี้จึงได้มีการหารือกันว่าเราควรบอกเล่าเรื่องราวที่เป็นจุดแข็งและเป็นตัวตนของอภัยภูเบศร ออกไปให้สาธารณชนได้รับรู้”


พญ.ชนิดา กล่าวอีกว่า “วันนี้ถ้าเราพูดถึงอภัยภูเบศร คนจะนึกถึง ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  การแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม พัฒนาต่อยอดจนได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงไปในระดับนานาประเทศ ถือเป็นหนึ่งซอฟท์พาวเวอร์ สำคัญที่จะโปรโมทควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวของไทยได้ ซึ่งเราพร้อมที่จะพัฒนาคุณภาพและการบริการให้ได้มาตรฐานในระดับสากล แต่ยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญาโบราณไว้ด้วย จึงเป็นที่มาของการจัดงานนี้ และเป็นที่มาของการประชุมมหกรรมสุขภาพและการแพทย์แผนไทยครั้งที่ 1 ซึ่งตั้งใจจะจัดต่อเนื่องทุกปี“



สำหรับรูปแบบการจัดงาน ผู้อำนวยการ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ”จะมีการนำเสนอผลงานการพัฒนาคุณภาพของบุคลากรในโรงพยาบาลและในจังหวัดใกล้เคียง  การบรรยายวิชาการ  โดยปีนี้เน้นการพัฒนาบริการทางการแพทย์แผนไทยให้เข้าสู่การรับรองมาตรฐานของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. และ การประชุมวิชาการร่วมกับเครือข่ายโรงพยาบาล ในการขับเคลื่อนให้การรักษาโรคสะเก็ดเงินด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย ที่ได้รับการบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์  เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย”


“ที่ผ่านมา เราได้พัฒนาบริการทางการแพทย์แผนไทยเพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคสะเก็ดเงิน ซึ่งเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่พบได้ 1-2% ของประชากรทั่วโลก ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วย และค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูง จากการวิเคราะห์ข้อมูลการรักษาผู้ป่วยของเราพบว่า ให้ผลในการรักษาดีพอๆกับยาแผนปัจจุบัน มีการดูแลตั้งแต่พื้นฐานของโรคและเน้นการปรับพฤติกรรมของผู้ป่วย เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ดังนั้นจึงคิดว่าควรมีการแลกเปลี่ยนกับเครือข่าย เพื่อจัดทำให้เกิดแนวปฏิบัติเดียวกัน  และมีการประเมินผลการรักษาอย่างเป็นระบบ เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยต่อไป“ พญ.ชนิดา กล่าว