นำร่อง จ.สุพรรณบุรี ผ่านกลไกโรงเรียนผู้สูงอายุ
วันนี้ (18 เม.ย. 67) เวลา 09.30 น. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อการพัฒนาด้านดนตรีบำบัดสำหรับประชาชน
คนทุกช่วงวัย ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล กับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมี นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ นางพรนิภา มาสิลีรังสี รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ รองศาสตราจารย์ ดร.ภก.สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายแผนพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล นายณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ร่วมลงนามเป็นพยาน ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ดนตรีอุษาคเนย์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
นายอนุกูล กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตความรุนแรงและปัญหาสุขภาพจิตหลากหลายรูปแบบและมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้สำรวจข้อมูลสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตของคน 4 กลุ่ม ได้แก่ เด็กและเยาวชน คนวัยทำงาน ผู้สูงอายุ และกลุ่มคนเปราะบาง ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนา “ระบบสุขภาวะทางจิต” ที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนและทุกระดับของสังคม ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาทักษะสุขภาพจิตส่วนบุคคลพฤติกรรมวิถีชีวิต การเยียวยารักษา ไปจนถึงการออกแบบและพัฒนานโยบายที่เป็นไปตามหลักสากลที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะทางจิตที่ดี ตามแนวทางการสร้างเสริมป้องกันคัดกรองรักษาและฟื้นฟู ซึ่งมีลักษณะเป็นเชิงรุกดนตรีบำบัด (Music Therapy) นับเป็นเครื่องมือที่สำคัญและเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในทางการแพทย์ โดยใช้องค์ประกอบทางดนตรีเป็นตัวช่วยในการบำบัด สามารถช่วยฟื้นฟูได้ทั้งด้านกายภาพและจิตใจ รวมถึงช่วยพัฒนาทักษะในการสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง กล่าวว่า ขอขอบคุณกระทรวง พม. ที่ให้ความไว้วางใจมหาวิทยาลัยมหิดลในการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ โดยการนำดนตรีไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคม ซึ่งดนตรีนั้นมีคุณูปการมากมายในทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดนตรีกับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งทำให้เด็กที่อยู่ในครรภ์มีความเจริญเติบโตค่อนข้างดี ซึ่งพอเด็กโตขึ้นมาก็จะช่วยเรื่องวินัยและการควบคุมอารมณ์ สามารถเข้าสู่สังคมได้ดีขึ้น และดนตรียังช่วยในเรื่องสันทนาการ การปลูกเล้ากิจกรรมต่างๆ แม้แต่ทางกองทัพก็ยังใช้ดนตรีในการสร้างความฮึกเหิม เป็นต้น แม้กระทั่งผู้สูงอายุในขณะนี้ การใช้ดนตรีบำบัดสามารถช่วยชะลอความทรงจำ ช่วยเรื่องการออกกำลังกายโดยการใช้กำลังเปล่งเสียง การฝึกลมหายใจ และช่วยเรื่องสมอง หรือแม้กระทั่งการรักษาโรคความจำเสื่อม ซึ่งต้องขอขอบคุณกระทรวง พม. ที่จะนำความรู้เหล่านี้ไปขยายผลให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางต่อไป
#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธศิลปอาชา #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #ดนตรีบำบัด