มกราคมเดือนแห่งการรณรงค์ต่อต้านมะเร็งปากมดลูก พญ.สุขุมาลย์ สว่างวารี สูติแพทย์ มะเร็งนรีเวชวิทยา และผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช รพ.เปาโล พหลโยธิน เปิดเผยว่า จากสถิติล่าสุดขององค์การอนามัยโลกพบผู้ป่วยรายใหม่มะเร็งปากมดลูกปีละ 604,000รายต่อปี และเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกทั่วโลก 342,000รายต่อปี โดยมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดใน 23 ประเทศทั่วโลก และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของสตรีที่สำคัญใน 36 ประเทศทั่วโลก
โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปี ค.ศ.2030 ลดอุบัติการณ์ผู้ป่วยรายใหม่น้อยกว่า 4 ราย ต่อ100000รายในทุกประเทศทั่วโลก (จากข้อมูล IARC ประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ต่อประชากร 100,000 คนต่อปี อยู่ท่ 25.6) และตั้งเป้าผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกจะได้รับการรักษาที่เหมาะสมมากถึงร้อยละ 90 นอกจากนี้ยังตั้งเป้าในประเด็นการป้องกันโรคโดยการครอบคลุมการฉีด
วัคซีนเอชพีวีมากถึงร้อยละ 90ในสตรีวัยรุ่น และสตรีทั่วโลกได้รับการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพสูง (High performance test) มากถึงร้อยละ 70 (อ้างอิงข้อมูลWHO 17 November 2020)
และในทุกเดือนมกราคมของทุกปี องค์การอนามัยโลกจัดให้เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ต่อต้านมะเร็งปากมดลูก (January is Cervical Health Awareness Month) โดยในปี 2024 นี้องค์การอนามัยโลกได้มุ่งเน้นในเรื่องสุขภาพของปากมดลูกและการป้องกันมะเร็งปากมดลูกการตรวจคัดกรองไวรัสเอชพีวีที่องค์การอนามัยโลกตั้งเป็นเป้าหมายหนึ่งในการกำจัดโรคมะเร็งปากมดลูกทั่วโลกนั้น คือ การตรวจค้นหาเชื้อไวรัสเอชพีวีในสิ่งส่งตรวจของปากมดลูกไวรัสเอชพีวี คือ ไวรัสที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งปากมดลูก โดยเชื้อเอชพีวีมีหลายร้อยสายพันธ์แต่สายพันธ์ที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งจะจัดเป็นกลุ่ม ไวรัสเอชพีวีกลุ่มเสี่ยงสูง (High risk HPV type) ได้แก่สายพันธ์ที่ 16, 18, 31, 33, 34, 35, 39, 45, 51, 52, 56, 58, 59, 66, 68, 70, 73,82 เป็นต้น
ซึ่งเป็นไวรัสที่มีศักยภาพในการก่อโรคมะเร็งปากมดลูกที่พบได้บ่อยที่สุดหากมีการติดเชื้อชนิดดังกล่าว โดยกลไกการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก เริ่มตั้งแต่สตรีผู้นั้นได้รับเชื้อ HPV เข้าสู่ปากมดลูก แล้วมีการติดเชื้อแบบคงอยู่เรื้อรัง ( Persistent infection) เป็นเวลานาน จากนั้นตัวเชื ้อ HPV เข้าสู่เซลล์ของร่างกายก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในเซลล์ในระดับยีนจนเกิดรอยโรคใต้เยื่อบุผิวปากมดลูก(Cervical intraepithelial lesion) แล้วลุกลามจนเป็นมะเร็งปากมดลูกในที่สุด
ดังนั้นหากตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการติดเชื้อก็จะสามารถดูแลและรักษาได้อย่างทันท่วงทีก่อนจะกลายเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก โดยการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV พบว่ามีความไว (sensitivity) ในการตรวจสูงถึง ร้อยละ 98.1 (96.7%-100%) และ มีความแม่นยำในผลการตรวจสูง (Negative predictive value 98.48% (97.75%-99.23%) specificity
83.6-90.8 % แปลความว่ากรณีที่ตรวจไม่พบการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีนั้น จะพบโอกาสผิดพลาดจากการผลการตรวจที่จะค้นหารอยโรคใต้เยื่อบุผิวขั้นสูง (High grade cervical lesion) จนถึงโรคมะเร็งปากมดลูกนั้นต่ำมาก จึงมีแนวทางปฏิบัติจากองค์การอนามัยโลกรับรองว่า หากสตรีตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจ Primary high-risk human papillomavirus (hrHPV) testing แล้วผลไม่พบการติดเชื้อเอชพีวีสามารถเว้นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 5 ปี (USPSTFguidelines ) และหรือตรวจคู่กับการตรวจทางเซลล์วิทยา Co-testing (hr HPV testing andcytology) ก็ได้
จะเห็นได้ว่าแนวทางการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในปัจจุบันมีวิวัฒนาการสูงถึงการตรวจหาไวรัสโดยตรงที่เป็นต้นตอของโรคมะเร็งปากมดลูกแล้ว และในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกยังมีคำแนะนำในเรื่องการฉีดวัคซีนเอชพีวี และการลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์อย่างเหมาะสม การงดสูบบุหรี่ เป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้กำจัดโรคมะเร็งปากมดลูกไปจากประชากรของโลกนี้ได้ตามปณิธานที่องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าหมายไว้รวมไปถึงวัคซีน HPV ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่สูงขึ้นและสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีเป็นต้นไปทั้งเพศชายและเพศหญิงเพื่อป้องกันทั้งโรคมะเร็งปากมดลูกและโรคมะเร็งที่เกี่ยวเนื่องกับเชื้อHPV อื่น ๆ ได้ด้วย