14 มีนาคม 2566

ภาคธุรกิจไทย TBCSD และ TEI ร่วมสนับสนุนส่งเสริมและขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา PM2.5

องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ผนึกกำลังร่วมกับภาครัฐและองค์กรสมาชิกที่เป็นภาคธุรกิจไทยชั้นแนวหน้าของประเทศไทยที่เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้จัดงานสัมมนาวิชาการ “บทบาทภาคธุรกิจไทย TBCSD ในการร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา PM2.5” ณ ห้องประชุมสวนสน ชั้น 6 บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) อาคาร ENCO B กรุงเทพฯ และ ผ่านทาง Facebook Live เพจของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5 ของประเทศ และแนวทางการบริหารจัดการแบบบูรณาการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งการนำเสนอบทสรุปและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหา PM2.5 จากกลุ่ม TBCSD ที่จะนำไปขับเคลื่อนและเสนอแนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง



โดยงานในวันนี้ได้รับเกียรติจาก นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริหารองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) มากล่าวต้อนรับ และ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) มากล่าวเปิดงานและกล่าวว่า “องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) มีความมุ่งมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ (Country Issue) ซึ่งปัญหา PM2.5 ถือได้ว่าเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศไทยที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ เศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา TBCSD ได้เดินหน้าขับเคลื่อนงานเพื่อร่วมแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการประชุมหารือกันทั้งภายในสมาชิกเอง กับองค์กรพันธมิตรและภาคส่วนน ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้และสร้างความเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงและแนวทางที่เป็นไปได้ในการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบของปัญหาในด้านต่าง ๆ รวมทั้ง ได้มีการกำหนดมาตรการที่สมาชิก TBCSD ดำเนินการเพื่อร่วมแก้ไขปัญหา PM2.5 ผ่านมาตรการ 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ 1) มาตรการที่สมาชิกดำเนินการเองโดยสมัครใจ ได้แก่ การตรวจเช็คสภาพรถและเครื่องยนต์อยู่เสมอ การบรรทุกและขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ และการมีพฤติกรรมการขับขี่ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ 2) มาตรการที่ขอความร่วมมือจากสมาชิกในช่วงวิกฤต สมาชิก TBCSD เลือกใช้น้ำมันที่เป็น Bio-based หรือ ก๊าซธรรมชาติ (CNG) หรือน้ำมันที่มีสารกำมะถันต่ำ (ไม่เกิน 10 ppm) หรือ ตามมาตรฐาน Euro 5 การเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายสินค้า ลดการนำรถบรรทุกดีเซลขนาดใหญ่เข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ลดการใช้รถใช้ถนน และส่งเสริมการทำเกษตรที่ไม่เผาชีวมวล และ 3) การสร้างการรับรู้แก่พนักงานขององค์กรและประชาชนทั่วไป (เพื่อสร้างแนวร่วมในการแก้ไขปัญหา) การสร้างการรับรู้ถึงปัญหาผลกระทบของฝุ่น PM2.5 และวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดย การประชาสัมพันธ์ในเชิงรุกและใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์ ซึ่งสามารถส่งข้อมูลถึงคนได้ในวงกว้างและรวดเร็ว เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา PM2.5 นอกจากนี้ TBCSD ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นธุรกิจเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ยังได้มีการคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และลดผลกระทบในทุกด้าน อันเป็นการแสดงถึงพลังจากการรวมตัวขององค์กรภาคธุรกิจในการขับเคลื่อนสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อช่วยผลักดันให้สังคมไทยให้เกิดความยั่งยืน ในทุกมิติทั้งด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อม”

ภายในช่วงการเสวนา หัวข้อ “บทบาทภาครัฐและภาคเอกชนไทย TBCSD ในการร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา PM2.5”  โดยผู้บริหารทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนชั้นนำ มาร่วมเป็นวิทยากรเพื่อร่วมนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวม บทบาทภาครัฐและภาคเอกชนไทย TBCSD ในการร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา PM2.5 และต้นทุนของสังคมไทยจากมลพิษทางอากาศและแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยความร่วมมือจากภาคธุรกิจไทย รวมทั้ง การสื่อสารข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้ของประชาชน ดังนี้

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า “รัฐบาลได้มีการกำหนดนโยบายและขับเคลื่อน การดำเนินงานการแก้ไขปัญหา PM2.5 ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และได้กำชับให้ทุกหน่วยงานบูรณาการและเข้มงวดการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษานฝุ่นละออง ปี 2566 ตามกรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” ซึ่งปีนี้ ให้มีการมุ่งเน้นลดมลพิษที่แหล่งกำเนิดหลักใน 3 พื้นที่ ได้แก่ 1.พื้นที่เมือง 2.พื้นที่ป่า และ 3. พื้นที่เกษตรกรรม ควบคู่ไปกับมาตรการติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ การยกระดับการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน และกาด้รประสานความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อลดผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดน รวมถึงติดตามและประเมินสถานการณ์ ซึ่งจะมีการยกระดับมาตรการเมื่อสถานการณ์อยู่ในระดับวิกฤต ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ จะนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณายกระดับปฏิบัติการตามมาตรการเร่งด่วน และมาตรการระยะยาวตามที่ได้เสนอ และขอให้ทุกหน่วยงานทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพในมาตรการที่กำหนดร่วมกันให้เป็นผล เพื่อป้องกันและลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในสถานการณ์วิกฤต และช่วยบรรเทาสถานการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน”

นายกิตติพันธ์ จันทาศรี ผู้อำนวยการกองส่งเสริมโครงการพระราชดำริการจัดการพื้นที่และวิศวกรรมเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร 

นายกิตติพันธ์ จันทาศรี ผู้อำนวยการกองส่งเสริมโครงการพระราชดำริการจัดการพื้นที่และวิศวกรรมเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า “กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดเกษตรกรมากที่สุด โดยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั้งระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล โดยมีบทบาทภารกิจที่เกี่ยวข้องกับอาชีพการเกษตร โดยเฉพาะเรื่องส่งเสริมการปลูกพืชเป็นหลัก และมีส่วนในการขับเคลื่อนงานสนับสนุนการแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นละออง PM2.5 โดยส่งเสริมการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์และใช้เครื่องจักรกลการเกษตรหรือเทคโนโลยีอื่นที่เหมาะสมเพื่อทดแทนการเผา โดยกำหนดแนวทางให้ทุกสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ กำกับดูแลพื้นที่การเกษตรไม่ให้มีการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างเข้มงวด และดำเนินการตามมาตรการ ดังนี้ มาตรการที่ 1 เร่งสร้างการรับรู้ รณรงค์ และประชาสัมพันธ์ มาตรการที่ 2 เตรียมการป้องกันและเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง มาตรการที่ 3 การส่งเสริมและสร้างเครือข่ายในการงดเผาในพื้นที่เกษตรกรรม หยุดเผาได้ 5 ดี.....อากาศดี....สุขภาพดี....คุณภาพดินดี....รายได้ดี...และสิ่งแวดล้อมดี “เกษตรกรยุคใหม่ ร่วมใจหยุดเผากันครับ”

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ
สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า “ด้วยสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไม
ครอน (ฝุ่น PM2.5) ในปัจจุบัน ส่งผลอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร สสส. จึงยกระดับปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นประเด็นเร่งด่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งและขับเคลื่อนการแก้ไขผ่าน 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) พลังสังคม หนุนเสริมการแก้ไขปัญหาระดับภูมิภาคกับเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ (สภน.) และนำแนวคิดเขตควบคุมมลพิษต่ำ Low Emission Zone มาใช้ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร 2) พลังวิชาการ พัฒนาความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม ข้อเสนอทางวิชาการกับศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) 3) พลังนโยบาย ผลักดันให้เกิดกฎหมายอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพกับเครือข่ายอากาศประเทศไทย และนโยบายการบริหารจัดการเชื้อเพลิง (Burn Check) กับกรมควบคุมมลพิษ 4) การสื่อสารสังคม สร้างองค์ความรู้เพื่อตระหนักถึงปัญหาสุขภาพในพื้นที่เสี่ยง (ห้องเรียนสู้ฝุ่น) กับ กทม. อบจ. สพฐ. กว่า 120 โรงเรียนทั่วประเทศ แต่ปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วย สสส. ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพียงลำพัง ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ต้องร่วมมือกัน จึงจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง เกิดเป็นค่านิยมและพฤติกรรมใหม่ได้ โดยมีเป้าหมายที่จะหายใจอากาศสะอาด”

รองศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

รองศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “มลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมาก ทำให้ครัวเรือนไทยต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายจากการรักษาอาการป่วย สูญเสียโอกาสในการทำงาน และอื่น ๆ งานวิจัยพบว่า มูลค่าความเสียหายจาก PM2.5 ต่อครัวเรือนไทยในปี 2562 สูงถึง 2.173 ล้านบาท โดยกรุงเทพฯ พบมูลค่าความเสียหายมากที่สุดถึง 4.36 แสนล้านบาท งานศึกษายังพบว่ามลพิษทางอากาศก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบกับธุรกิจ เช่น ผลิตภาพของพนักงานลดลงทั้งในสำนักงานและกลางแจ้ง ผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลงในวันที่มลพิษทางอากาศสูง เป็นต้น เพื่อลดต้นทุนของสังคมไทยจาก PM2.5 ควรมีมาตรการ ดังนี้ ในภาคยานยนต์ : 1) ควรปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่เพื่อระบายสต็อครถเก่าและเพิ่มมาตรการเข้มงวดกับรถเก่า; 2) ในภาคเกษตร  ควรเพิ่มมาตรการลดเผาในข้าวและข้าวโพด; ส่งเสริมตลาดเช่าบริการเครื่องจักรกลการเกษตร; สนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มและใช้เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ในภาคป่าไม้ ควรให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขพร้อมความรู้ในการทำวนเกษตรแทนการปลูกพืชไร่ สำหรับภาคอุตสาหกรรม ควรเร่งติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดมลพิษที่ปลายปล่องทุกโรงงาน และพัฒนาระบบฐานข้อมูลการปล่อยมลพิษของทุกโรงงานในพื้นที่ให้ชุมชนเข้าถึงได้”

นายจักรวาล เพิ่มญาณวรรธนะ ผู้ชำนาญการฝ่ายแผนกลยุทธ์และความยั่งยืน
บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)

นายจักรวาล เพิ่มญาณวรรธนะ ผู้ชำนาญการฝ่ายแผนกลยุทธ์และความยั่งยืน บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “สถานการณ์ของฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว IRPC ตระหนักถึงความสำคัญและความรุนแรงของปัญหาดังกล่าว จึงได้กำหนดมาตรการทั้งในระดับการเฝ้าระวัง อาทิ มีการรายงานคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของไออาร์พีซี จังหวัดระยอง ผ่าน application IRPC Air  สำหรับชุมชนและพนักงานโดยรอบเขตประกอบการฯ มีการแจ้งเตือนสถานการณ์ความเสี่ยงต่อสุขภาพ และอนุญาตให้พนักงาน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง สามารถ work from home ได้ นอกจากนี้ มาตรการระยะยาว บริษัทฯ ได้ปรับเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงสะอาด เพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อเป็นแหล่งดูดซับมลพิษทางอากาศ รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศ ส่งมอบอากาศที่บริสุทธิ์ให้แก่สังคม เพราะ IRPC เชื่อมั่นว่าการเข้าถึงอากาศสะอาดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ บริษัทฯ พร้อมสนับสนุนความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับปณิธานการดำเนินธุรกิจของ IRPC ที่มุ่งมั่นสร้างการเติบโตควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน”

นายชูโชค ศิวะคุณากร Head of Environmental Social Governance and
Business Stakeholder Engagement บริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน)

นายชูโชค ศิวะคุณากร Head of Environmental Social Governance and Business Stakeholder Engagement บริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “จากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่กลายเป็นปัญหาในวงกว้างของประเทศไทยที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือช่วยกันป้องกันและแก้ไขปัญหา ซึ่ง SCG ในฐานะของตัวแทนกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ตระหนักถึงปัญหาในจุดนี้ โดยในปัจจุบันผลกระทบที่เกิดจากอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ได้แก่ ของเสียที่เกิดจากกระบวนการทำงาน เช่น วัสดุเหลือใช้จากงานก่อสร้าง หรือ ช่องว่างเกี่ยวกับมาตรฐานการก่อสร้าง โดยเฉพาะในกลุ่มกลาง – เล็ก ซึ่งในส่วนนี้ SCG มองว่าการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และ ดิจิทัล ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างเข้ามาประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง จะสามารถช่วยบรรเทา หรือ ลดปัญหาดังกล่าวได้ เช่น เลือกการก่อสร้างแบบนอกหน่วยงานให้มากกว่าทำงานในที่, การทำงานแบบ Modularity ที่ช่วยในเรื่องระยะเวลา และ คุณภาพของงาน, การนำ BIM เข้ามาช่วยในการเชื่อมโยงการทำงานตลอดกระบวนการ, การนำนวัตกรรม 3D Printing มาใช้เพื่อลดเศษวัสดุ และ สุดท้าย คือ การยกระดับความรู้ ความสามารถของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกส่วนในกระบวนการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา ผู้ควบคุมงาน หรือ วิศวกร เป็นต้น เพราะนอกจากจะได้ร่วมยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยแล้ว เรายังสามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและดูแลโลกของเราได้อีกด้วย”

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) 

จากนั้น ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ได้มีการนำเสนอบทสรุปและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหา PM2.5 จากกลุ่ม TBCSD ที่จะนำไปขับเคลื่อนและเสนอแนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคทรัพยากร ภาคคมนาคม ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และการสร้างการรับรู้แก่ประชาชน อันนำไปสู่การผลักดันนโยบายที่เป็นธรรมกับทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่แนวปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดผลสัมฤทธิ์ในการจัดการ PM2.5 ของประเทศต่อไป

และท้ายสุดหลังจากจบงานในครั้งนี้ องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) จะดำเนินการสรุปผลข้อมูลภาพรวมของงานฯ เพื่อถ่ายทอดออกมาเป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับการยกระดับมาตรฐานขององค์กรภาคธุรกิจไทยในการร่วมผลักดันนโยบายที่เป็นธรรมกับทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่แนวปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในการจัดการ PM2.5 ของประเทศ