23 มีนาคม 2566

“ตรีนุช”กางโรดแมป19พ.ค.นี้ตั้ง“กรมส่งเสริมการเรียนรู้”


นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงการตั้งกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ.2566 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 ซึ่งเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับตั้งแต่วันประกาศฯ หรือ วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 จะมีการยกเลิก พ.ร.บ. ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 25561 และ ยกฐานะสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) จากหน่วยงานภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) เป็น กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (กสร.) ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ภายในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการเรียนรู้ 3 รูปแบบ คือ
1.การเรียนรู้ตลอดชีวิต 2.การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และ 3.การเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ 


รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ศธ.ได้กำหนดภารกิจที่ต้องทำให้เสร็จในกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้เกิดการตั้งกรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ เช่น กำหนดอำนาจหน้าที่ โครงสร้าง และหน่วยงานภายในของ กสร., ประสาน สป.ศธ.เพื่อออกแบบและแนวทางให้ได้มาซึ่งคณะอนุกรรมการขัาราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กสร. และประสานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพื่อออกแบบและแนวทางให้ได้มาซึ่งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ. )กสร. , การจัดตั้ง ยุบ รวม เลิก รวมถึงโอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้สิน รวมถึงข้าราชการ ลูกจ้างและอัตรากำลังทั้งหมด จากสป.ศธ.ไปขึ้นกับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวม วิเคราะห์ และเสนอถ่ายโอนเรื่องต่างๆ , เร่งรัดให้มีการจัดทำกฎหมายลำดับรอง ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 เพื่อจัดเตรียมกฎหมาย ประกาศกระทรวง ประกาศกรม และระเบียบกรมไว้ เพื่อให้เกิดการจัดทำให้แล้วเสร็จทันตามกรอบของระยะเวลาในแต่ละมาตรา และ การปฏิรูปหลักสูตรการเรียนรู้ ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นต้น 

“ กฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญมาก จะทำให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยเข้าถึงการเรียนรู้ได้ตามความพร้อมและศักยภาพของบุคคล ทำให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียมกันของทุกคนในการได้รับการศึกษา นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งกรมส่งเสริมการเรียนรู้ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้อยู่ในวัยเรียนแต่ไม่ได้รับการศึกษา , ผู้ซึ่งพ้นวัยที่จะศึกษาในสถานศึกษา ,ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือทุรกันดารและไม่มีหน่วยงานใดไปดำเนินการ เพื่อให้ได้รับการศึกษาเพื่อดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งสำนักงาน กศน.หรือ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ในอนาคตจะต้องมีการปรับปรุงระเบียบ กฎหมาย รวมถึงปรับภารกิจให้ทันการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการเรียนรู้และกลุ่มเป้าหมายที่สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ดิฉันเชื่อมั่นว่าความร่วมมือร่วมใจอย่างเข้มแข็งจากทุกภาคส่วนของคน กศน. และภาคีเครือข่าย จะขับเคลื่อนให้การดำเนินงานตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อไป” นางสาวตรีนุช กล่าว.