21 กุมภาพันธ์ 2566

ดีอีเอส เผยสถิติเฟคนิวส์รายสัปดาห์ ประชาชนแห่สนใจข่าวปลอมรักษาโรค

ขณะที่ข่าวปลอมนโยบายรัฐยังนำโด่ง ควบคู่แบงค์พาณิชย์ปลอมระบาดหนัก

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เผยตัวเลขเฟคนิวส์รายสัปดาห์ แม้ข่าวปลอมนโยบายรัฐนำโด่ง แต่เรื่องของสุขภาพยังมาแรง พบประชาชนสนใจ และค้นหามากที่สุด ขณะที่ มิจฉาชีพปลอมตัวเป็นแบงค์พาณิชย์ไม่แผ่ว เตือนประชาชนอย่าเสียรู้โจร เช็คข้อมูลทุกด้านให้ดีก่อนหลงเชื่อ

นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า สรุปผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประจำวันที่ 10 - 16 กุมภาพันธ์ 2566 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 3,234,788 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 246 ข้อความ แบ่งเป็นข้อความที่มาจาก Social listening จำนวน 200 ข้อความ และข้อความที่มาจาก Line Official จำนวน 46 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 123 เรื่อง 

ทั้งนี้ ดีอีเอสได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจ เป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 ข่าวปลอมเรื่องนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศจำนวน 69 เรื่อง

กลุ่มที่ 2 ข่าวปลอมเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย จำนวน 27 เรื่อง

กลุ่มที่ 3 ข่าวปลอมเรื่องภัยพิบัติ จำนวน 6 เรื่อง

กลุ่มที่ 4 ข่าวปลอมเศรษฐกิจ จำนวน 21 เรื่อง

สำหรับข่าวปลอมทั้ง 4 กลุ่มมีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องโควิค-19 จำนวน 2 เรื่อง 

“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าภาพรวมที่ประชาชนสืบค้นส่วนใหญ่เป็นข่าวปลอมเกี่ยวกับเรื่องของสุขภาพและการรักษาโรค ซึ่งข้อความที่โพสต์นั้นมีความเกินจริงอยู่มาก จึงอยากให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น โรงพยาบาล หรือสถานบริการด้านสาธารณสุข เพราะเป็นเรื่องของชีวิต และความเป็นความตาย อย่าหลงเชื่อและทำตามข้อความเหล่านั้น อีกเรื่องที่ดีอีเอสมีความเป็นห่วงคือ เรื่องโจรไซเบอร์ที่ปลอมตัวเป็นธนาคารพาณิชย์ และนับวันจะสร้างการปลอมแปลงที่ดูมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย เช่น นำโลโก้ของธนาคารพาณิชย์ มาเป็นสัญลักษณ์ ผ่านข้อความเชิญชวนให้กู้เงินออนไลน์ หรือแอบอ้างเป็นผู้ให้บริการเงินกู้จากสถาบันการเงิน หลอกลวงประชาชน ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้ง ข้อความในโทรศัพท์มือถือ สื่อสังคมออนไลน์ เช่น ไลน์ เฟสบุ๊ก และแอปพลิเคชั่นเงินกู้ จึงอยากเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอให้ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นผู้ให้บริการที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อป้องกันการสูญเสียทรัพย์สิน” นางสาวนพวรรณ กล่าว 

สำหรับข่าวปลอมที่มีคนสนใจสูงสุด 10 อันดับระหว่างวันที่ 10 - 16 กุมภาพันธ์ 2566 ดังนี้

อันดับที่ 1 เรื่อง ออมสิน เปิดให้กู้สินเชื่อธุรกิจบุคคลธรรมดา ผ่านเพจ Yayee GSB

อันดับที่ 2 เรื่อง กรมขนส่งเปิดอบรมใบขับขี่ออนไลน์ที่บ้าน

อันดับที่ 3 เรื่อง ออมสินเปิดกู้ SMEs เต็มสุข เต็มสิบ ผ่านเพจ Popppp

อันดับที่ 4 เรื่อง ดื่มน้ำต้มใบและดอกมะละกอ ช่วยรักษามะเร็ง

อันดับที่ 5 เรื่อง ห้ามกินลูกพลับต่อด้วยนมเปรี้ยวและกล้วยหอม จะทำให้เป็นพิษต่อร่างกาย

อันดับที่ 6 เรื่อง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร G-Herb ป้องกันมะเร็งผิวหนัง กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง บำรุงร่างกาย ผื่นคัน เป็นหนอง

อันดับที่ 7 เรื่อง กระเจี๊ยบมอญหรือกระเจี๊ยบเขียว รักษาโรคโปรตีนรั่วได้

อันดับที่ 8 เรื่อง ผลิตภัณฑ์ P57 Hoodia ลดน้ำหนักได้สูงสุดถึง 10 กก. ต่อเดือน และช่วยลดการดูดซึมไขมัน เร่งการเผาผลาญ ยับยั้งความอยากอาหาร

อันดับที่ 9 เรื่อง ชาสมุนไพรธัมม์ดี บำรุงร่างกาย ต้านไวรัส บำรุงปอด ปรับสมดุลของความเป็นกรดและด่างในเลือด บำรุงเลือด ภูมิต้านทานดี ปรับสมดุลธาตุและล้างสารพิษ

อันดับที่ 10 เรื่อง ดื่มมะระขี้นกชงกับน้ำร้อน ช่วยกำจัดเซลล์มะเร็งเเละเนื้องอก

ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ติดตามความเคลื่อนไหวข้อความที่ผิดปกติในทุกช่องทาง และได้มีการติดตามการกระทำผิดอย่างต่อเนื่องเพื่อปกป้องประชาชนจากมิจฉาชีพในทุกรูปแบบ หากท่านได้รับการแจ้งข้อมูลที่ผิดปกติ ผ่านเอสเอ็มเอส หรือทางโทรศัพท์ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ขอให้ท่านตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายอยู่บนโซเชียลมีเดีย และออนไลน์ โดยสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้

ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/
ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87