28 กุมภาพันธ์ 2566

TQMalpha ประกาศผลงานปี’ 65 โกยกำไร 885.5 ล้านบาท

รายได้ค่าบริการเพิ่มขึ้น เบี้ยประกันภัยรวมเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

บริษัท ทีคิวเอ็ม อัลฟา จำกัด (มหาชน) หรือ TQMalpha เผยผลประกอบการ ปี 2565 กวาดกำไรสุทธิ 885.5 ล้านบาท โดยมีรายได้ค่าบริการ 3,589.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% จากปี 2564  เนื่องจากเบี้ยประกันภัยรวมเติบโตที่ 18,017 ล้านบาท  ขณะที่รายได้รวมในปี 2565 เท่ากับ 3,726.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2%  หากเปรียบเทียบรายได้ปกติไม่รวมรายการพิเศษ รายได้รวมในปี 2565 จะเพิ่มขึ้น 8.7 % ชี้ประกันรถยนต์ยังเป็นยอดขายหลักหนุนให้เบี้ยเติบโต ขณะที่ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทุกปีทำให้ประกันภัยบ้านได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจาก TQM สามารถสร้างให้ลูกค้าตระหนักถึง ความสำคัญของประกันภัยบ้านและเข้าใจความคุ้มครองที่ครอบคลุม ส่งผลให้เบี้ยประกันภัยบ้านเติบโตแบบก้าวกระโดด อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณที่ดีทำให้ประกันชีวิตทั้งแบบรายเดี่ยวและแบบกลุ่มมีแรงขายมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคเห็นความสำคัญเรื่องชีวิตและสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าองค์กรที่มองหาความคุ้มครองด้านสุขภาพของพนักงานที่มากขึ้นกว่าเดิม 

ดร.อัญชลิน  พรรณนิภา  ประธานบริษัท ทีคิวเอ็ม อัลฟา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจ ของ TQMalpha ในปี 2565 สามารถสร้างผลการดำเนินงานออกมาได้ดี ผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับการทำประกันภัย โดยเฉพาะประกันรถยนต์ที่ยังคงเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่สร้างยอดขายให้เป็นไปตามเป้า ขณะที่ประกันภัยประเภทอื่นก็เริ่มส่งสัญญาณยอดขายที่กระเตื้องขึ้น อาทิ ประกันภัยบ้าน ประกันชีวิตแบบรายเดี่ยวและแบบกลุ่ม รวมถึงประกันสุขภาพก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจากการตระหนักเรื่องความเสี่ยงภัยกับปัญหาสุขภาพ ส่งผลให้ผลประกอบการปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้รวม 3,726.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2 % โดยเป็นรายได้จากการให้บริการ 3,589.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6%  ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 1,898.6 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 885.5 ล้านบาท แต่หากเปรียบเทียบโดยไม่รวมกำไรพิเศษ จะเห็นว่ากำไรสุทธิปกติส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ เพิ่มขึ้น 1.3% จากปีที่ผ่านมา เนื่องจากรายได้เพิ่มขึ้น และความสามารถในการทำกำไรจากธุรกิจปกติ ยังอยู่ในระดับที่ดี 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่บริษัทได้มีการปรับยุทธศาสตร์ใหม่จากธุรกิจนายหน้าประกันภัยขยายสู่ธุรกิจการเงิน และเทคโนโลยีแพลตฟอร์มนั้น ธุรกิจของบริษัทในกลุ่มต่างมีการเติบโตโดยรวมไปในทิศทางที่ดี มีความร่วมมือและต่อยอดธุรกิจระหว่างกัน  ทั้งนี้ธุรกิจในกลุ่มการเงิน ธุรกิจสินเชื่อโดยบริษัท อีซี่ เลนดิ้ง จำกัด แม้จะเพิ่งเริ่มดำเนินธุรกิจแต่ก็มีการเติบโตที่ดีได้รับความสนใจและสามารถปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าได้เพิ่มขึ้น ด้วยการต่อยอดจากฐานลูกค้าเดิมของกลุ่ม และขยายไปยังฐานลูกค้าใหม่ ๆ อีกทั้ง อีซี่ เลนดิ้ง ยังมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ มีการบริหารความเสี่ยงและบริหารลูกหนี้ได้ดี  ในส่วนของธุรกิจเทคโนโลยีแพลตฟอร์มนั้น ถึงแม้นจะอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ได้ร่วมมือกับพันธมิตรพัฒนาเทคโนโลยีแพลตฟอร์มเพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่สำหรับธุรกิจประกัน นับเป็นการเติบโตตามแนวทางที่วางไว้ตามกลยุทธ์ของบริษัทฯ 

พร้อมกันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ได้มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้ง ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย เป็นกรรมการอิสระใหม่ของบริษัท  ซึ่ง ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการเงิน มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท ทั้งนี้จะนำเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติต่อไป

พิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ม.ร.ว. สมลาภ กิติยากร เลขานุการในกรมหมื่นสุทธนารีนาถ

ภาพบรรยากาศ พิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ  เต็มเป็นด้วยความอาลัย โดยภายในพิธี ราชสกุลต่างๆรวมถึงบุคคลสำคัญ ในวงการต่างๆมาร่วมแสดงความอาลัย ต่อการจากไปของ ของคุณชายอ้อ  ม.ร.ว.สมลาภ กิติยากร  เลขานุการในกรมหมื่นสุทธนารีนาถ ที่ถึงแก่อนิจกรรม ด้วยโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร สิริอายุได้ 72 ปี  ณ วัดเทพศิรินทราวาส  

หลังจาก ‘คุณวงเวียน ม.ล. ภัทรสุดา กิติยากร’ ธิดา ของคุณชายอ้อ  ม.ร.ว.สมลาภ กิติยากร เลขานุการในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ได้ออกมาแจ้งข่าวเศร้าว่าท่านพ่อได้จากไปแล้วเมื่อวันที่ ( 25-02-66 ) ในเวลา 20.20น. โดยก่อนหน้านี้ทาง  ม.ร.ว.สมลาภ กิติยากร ได้รักษาอาการป่วยมาได้ซักระยะนึงแล้วก่อนถึงแก่อนิจกรรม ด้วยโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร สิริอายุได้ 72 ปี 




โดยค่ำคืนที่ผ่านมา (วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธุ์ 2566) ได้มีพิธี สวดอภิธรรม ณ ศาลา 14 วัดเทพศิรินทราวาส ทางครอบครัวได้ทำพิธีรดน้ำศพ และ พิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ โดยมี ราชสกุลต่างๆรวมถึงผู้หลักผู่ใหญ่ในวงการต่างๆมาร่วมแสดงความอาลัย ต่อการจากไปของ ของคุณชายอ้อ  ม.ร.ว.สมลาภ กิติยากร  โดย วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 5 มีนาคม 2566  เวลา 18.30 น. จะมีการสวดพระอภิธรรม และ วันที่ 6 มีนาคม 2566(งดสวด1วัน) โดยพิธีพระราชทานเพลิง วันที่ 7 มีนาคม 2566 ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 







หม่อมราชวงศ์สมลาภ กิติยากร เลขานุการใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีกรมหมื่นสุทธนารีนา รับราชการทำงานถวายเต็มกำลังความสามารถอย่างต่อเนื่องจนสิ้นอายุขัย  คุณชายเป็นบุตรของหม่อมเจ้า สมาคม กิติยากร กับ ม.ร.ว. สมัยการ กิติยากร (ราชสกุลเดิม เทวกุล) ม.จ. สมาคม กิติยากร เป็นโอรสของ มหาอำมาตย์เอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (พระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ เป็นพระอัยกาฝ่ายพระบิดาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระราชปัยกาฝ่ายพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว) กับหม่อมจอน (สกุลเดิม วิชยาภัย) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ เป็นองค์ต้นราชสกุลกิติยากร

ชีวิตส่วนตัว สมรสกับ คุณนวรัตน์ กิติยากร ณ อยุธยา (โขมพัตร)  มีบุตรธิดาคือ ม.ล.ปวริศร์ กิติยากร และ ม.ล.ภัทรสุดา กิติยากร หม่อมราชวงศ์สมลาภ กิติยากร เลขานุการใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีกรมหมื่นสุทธนารีนา หรือที่เพื่อนพ้องน้องพี่ในวงการบันเทิง เรียกกันติดปากว่า คุณชายอ้อ คุณชายใจดี เป็นที่รักใคร่นับถือ ด้วยความเป็นคนมีน้ำใจ จิตใจดีงาม ชอบให้ความช่วยเหลือ และมักให้เกียรติร่วมในกิจกรรมการกุศล และงานของคนในวงการบันเทิงสม่ำเสมอ 


โดยให้เกียรติเป็นที่ปรึกษากิติมศักดิ์ของ สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย และ รับตำแหน่งประธานที่ปรึกษา สภาวัฒนธรรมไทยแห่งแคลิฟอร์เนียภาคเหนือสหรัฐอเมริกา ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทยในสหรัฐอเมริกา

สวส.เปิดงาน Open House “Digital Marketing FAST forward for Social Enterprise”

โครงการติดตามประเมินผลการดำเนินงานวิสาหกิจเพื่อสังคม ประจำปี ๒๕๖๖

นางนภา เศรษฐกร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

​วันอังคารที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๓๐ น. นางนภา เศรษฐกร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นประธานเปิดเปิดงาน Open House “Digital Marketing FAST forward for Social Enterprise” โครงการติดตามประเมินผลการดำเนินงานวิสาหกิจเพื่อสังคม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคม ผู้เข้าร่วมโครงการ ณ หอสมุดปรีดี พนมยงค์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


นางนภา กล่าวว่า ปัจจุบัน Social Enterprise เป็นการดำเนินกิจการเพื่อสังคมที่ต้องคำนึงถึงผลลัพธ์ทางสังคม ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่สำคัญที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และรากฐานเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศไทย วิสาหกิจเพื่อสังคมจึงต้องมีความเข้มแข็งและแข็งแรงในด้านต่างๆ อย่างลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการทำธุรกิจทางสังคมไม่ใช่แค่คืนกำไรสู่สังคมเท่านั้น หากแต่ยังต้องทำกำไรให้กับธุรกิจของตนเองด้วยจึงจะอยู่รอดอย่างยั่งยืน ซึ่งการพัฒนาศักยภาพของวิสาหกิจเพื่อสังคม  ด้านธุรกิจ ด้านการบริหาร ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นภารกิจที่สำคัญของสำนักส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

​นางนภา กล่าวต่อว่า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมจึงร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีเป้าหมายในการเพิ่มขีดความสามารถและความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคม  ให้ได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการประกอบธุรกิจ โดยการให้คำปรึกษาแนะนำกิจการ และจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการบริหารธุรกิจเพื่อสังคม พร้อมทั้งเฟ้นหาต้นแบบวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีผลการพัฒนาที่โดดเด่นและมีการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมที่ดี ดังนั้นสำนักงานฯ จึงจัดกิจกรรม Open House: Digital marketing FAST forward for Social Enterprise ภายใต้โครงการติดตามประเมินผลการดำเนินงานวิสาหกิจเพื่อสังคม ประจำปี ๒๕๖๖ ในครั้งนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนด้านธุรกิจให้กับวิสาหกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย  ผ่านการให้คำปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ พัฒนาเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมให้เกิดความร่วมมือ (Collaboration) และส่งเสริมให้เกิดมาตรฐานการสร้างรายงานผลลัพธ์ทางสังคมสำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคม


​กิจกรรมในครั้งนี้นับว่าเป็นการส่งเสริมความก้าวหน้าของนวัตกรรมเพื่อสังคม และนวัตกรรมการตลาดที่ก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัล การสร้างแบรนด์ การสร้างตัวตน ในโลกออนไลน์ มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะยกระดับวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีอยู่ในประเทศไทยให้สามารถแข่งขันในมิติของการตลาดสากลได้อย่างไม่เป็นรองนานาชาติ อันจะก่อให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจเพื่อสังคม และสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งนำมาสู่ความเข้มแข็งของวิสาหกิจเพื่อสังคมได้ในอนาคต... นางนภา กล่าวทิ้งท้าย

ททท. เปิดตัวโครงการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 14

รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ประจำปี 2566 เปิดวิสัยทัศน์สู่ยุค Low Carbon 
ททท. ยกระดับเติบโตอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน

ททท. เปิดตัวโครงการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 14 เพิ่มประเภทรางวัล Low Carbon & Sustainability มุ่งสู่เป้าหมาย การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำพร้อมยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน (High Value and Sustainability) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เชิญชวนผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวส่งผลงานเข้าร่วมประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 14 ประจำปี 2566

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย Thailand Tourism Awards นับเป็นรางวัลที่ทรงเกียรติ ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ซึ่ง ททท. จัดประกวดอย่างต่อเนื่องทุก ๆ 2 ปี และในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 14 โดยเปิดรับสมัครทั้งหมด 5 ประเภท คือ 1.แหล่งท่องเที่ยว (Attraction) 2.ที่พักนักท่องเที่ยว (Accommodation) 3.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health and Wellness Tourism) 4.รายการนำเที่ยว (Tour Programmes) และ 5.การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเพื่อความยั่งยืน (Low Carbon & Sustainability) เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมตามยุทธศาสตร์ STGs (Sustainable Tourism Goals) ซึ่งรางวัลประเภทการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเพื่อความยั่งยืนนั้น จะช่วยเพิ่มมูลค่า สร้างจุดเด่น และเพิ่มโอกาสทางการท่องเที่ยวในการเข้าถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นการสร้างความตระหนักรู้และคุณค่าในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างคุณค่า และมูลค่าของสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวไทยสู่สากล เป็นการยกระดับภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวได้ว่า เมื่อเลือกใช้สินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย Thailand Tourism Awards ที่มีสัญลักษณ์เป็นกินรี มั่นใจได้ว่าจะได้รับบริการจากผู้ประกอบการที่มีการการันตีมาตรฐานและคุณภาพ ทั้งในด้านการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยและยั่งยืน (Safe and Sustainable Tourism) รวมทั้งการรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม (Responsible Tourism)  




โดยกรอบแนวคิดในการพิจารณาตัดสินรางวัล ครั้งที่ 14 ในปี 2566 นี้ อยู่บนพื้นฐานของ 3 แนวคิดหลัก คือ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) ภายใต้กระบวนการจัดการที่คำนึงถึงสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมโดยมีกลไกสำคัญ คือ โมเดลเศรษฐกิจยั่งยืนแบบใหม่ BCG Economy Model ผสานกับการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism) และการบริหารจัดการคาร์บอนต่ำ (Low Carbon & Sustainability management) และอีก 2 แนวคิดหลัก คือ ความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (Safety & Health Administration) และความสนใจของกลุ่มนักท่องเที่ยว (Customers Interest)





การประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 14 ประจำปี 2566

แบ่งเป็น 5 ประเภทหลัก 14 สาขาย่อย ดังนี้

1. ประเภทแหล่งท่องเที่ยว (Attraction) แบ่งประเภทรางวัลย่อยออกเป็น 6 สาขา ประกอบด้วย

1.1 สาขาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการผจญภัย (Outdoor & Adventure Activities)

1.2 สาขาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ (Learning & Doing)

1.3 สาขาแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ (Nature & Park)

1.4 สาขาแหล่งท่องเที่ยวนันทนาการและความบันเทิง (Recreation & Entertainment)

1.5 สาขาแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม (Historical & Culture)

1.6 สาขาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน (Local & Community)

 2. ประเภทที่พักนักท่องเที่ยว (Accommodation) แบ่งประเภทรางวัลย่อยออกเป็น 4 สาขา ประกอบด้วย

2.1 สาขาลักซ์ชูรี โฮเทล (Luxury Hotel)

2.2 สาขาโลเคชั่น โฮเทล (Location Hotel)

2.3 สาขารีสอร์ต (Resort)

2.4 สาขาดีไซน์ โฮเทล (Design Hotel)

3. ประเภทการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health and Wellness Tourism) แบ่งประเภทรางวัลย่อยออกเป็น 4 สาขา ประกอบด้วย

3.1 สาขาสปา (Spa)

3.2 สาขาเวลเนส สปา (Wellness Spa)

3.3 สาขาเวลเนส แอนด์ สปา รีทรีต (Wellness & Spa Retreat)

3.4 สาขานวดไทย (Nuad Thai for Health)

 4. ประเภทรายการนำเที่ยว (Tour Programmes) 

 5. ประเภทการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเพื่อความยั่งยืน Low Carbon & Sustainability 

รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย แบ่งออกเป็น 3 รางวัล ดังนี้ 

 1. รางวัลยอดเยี่ยม (Thailand Tourism Gold Award) 

 2. รางวัลดีเด่น (Thailand Tourism Silver Award) 

 3. เกียรติบัตรรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Certificate) 

***โดยผลงานที่ได้รับรางวัล Thailand Tourism Gold Award จำนวน 3 ครั้งติดต่อกัน โดยไม่จำเป็นต้องได้รับรางวัลประเภทเดียวกัน จะได้รับรางวัล Hall of Fame 

สิทธิประโยชน์จากทางโครงการ ฯ ผลงานที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน จะได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย Thailand Tourism Awards 

ที่มีสัญลักษณ์เป็นกินรี เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว ด้วยมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดในการเสนอขายสินค้าและบริการแก่นักท่องเที่ยว และได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. ส่งเสริมการขายและการตลาด ผลงานที่ได้รับรางวัลได้รับสิทธิ์ร่วมกิจกรรมส่งเสริมการขายและการตลาดกับ ททท. ดังต่อไปนี้

● ได้รับเชิญเข้าร่วมงานส่งเสริมการขาย Trade Show/Road Show/Consumer Fair ของ ททท. และพันธมิตรที่ ททท. สนับสนุน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละกลุ่มตลาด 

● ได้รับสิทธิ์ส่วนลดค่าใช้จ่าย 50% ในการเข้าร่วมงานส่งเสริมการขายกับ ททท. ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละกลุ่มตลาด 

● ได้รับการนำเสนอข้อมูลขายผ่านสื่อการตลาดดิจิทัลของ ททท.
ได้แก่ Video clip/E-Book/Digital Brochure  

2. ประชาสัมพันธ์ ผลงานที่ได้รับรางวัลจะได้รับการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ ดังต่อไปนี้

● ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออฟไลน์ และออนไลน์ของ ททท. ได้แก่ เพจ Amazing Thailand และเพจ Thailand Tourism Awards/อนุสาร อสท.

● ประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ข่าวออนไลน์และสื่อสิ่งพิมพ์ 

● ประชาสัมพันธ์ผ่าน Blog/สื่อโซเชียลมีเดียท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง

3. ยกระดับพัฒนาองค์กร Upskill - Reskill

● ได้รับสิทธิ์ร่วมกิจกรรม Seminar/Workshop อาทิเช่น Online Digital Marketing Workshop และงานสัมมนาเจ้าบ้านที่ดี 2566 เป็นต้น

ทั้งนี้จะเปิดรับสมัครในวันที่ 1 มีนาคม - 30 เมษายน 2566 และประกาศผลรางวัลวันที่ 8 กันยายน 2566 

โดยจะมีพิธีมอบรางวัลในวันท่องเที่ยวโลก (World Tourism Day) วันที่ 27 กันยายน 256  


ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ประสงค์เข้าร่วมการประกวด สามารถศึกษาข้อมูลคุณสมบัติ
และเกณฑ์การตัดสินเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนสมัครได้ที่
 

www.thailandtourismawards.com

www.facebook.com/ThailandTourismAwardsNew 

Line Official Account หลักของโครงการประกวดอุสาหกรรมท่องเที่ยวไทย : @tourismawards 

Line Official Account แยกตามประเภทรางวัล

ประเภทแหล่งท่องเที่ยว : @tourismawards1

ประเภทที่พัก : @tourismawards2

ประเภทการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ : @tourismawards3

ประเภทรายการนำเที่ยว : @tourismawards4

ประเภทการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเพื่อความยั่งยืน : @tourismawards5

27 กุมภาพันธ์ 2566

CP LAND ซึ่งได้ปล่อยมิวสิควิดีโอเพลง หัวใจผูกกัน เวอร์ชั่น ‘Happiness is All Around’

ไปเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมเชิญชวนร่วมฟัง และชมมิวสิควิดีโอ กดไลค์และแชร์ รับสิทธิพิเศษมากมายจาก CP LAND

คุณบอย โกสิยพงษ์ เจ้าของและผู้เรียบเรียงเพลงหัวใจผูกกัน เวอร์ชั่น Happiness is All Around เปิดเผยว่า “หลังจากที่ปล่อยเพลง หัวใจผูกกัน เวอร์ชั่น Happiness is All Around ที่ได้ร่วมมือ กับบริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP LAND ผมรู้สึกดีใจมาก ที่ได้เห็นถึงการเติบโตและพัฒนาของเพลงนี้ ซึ่งเพลงนี้เป็นเวอร์ชั่นที่ผมชอบมากที่สุดอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง”

เพลงเวอร์ชั่นนี้ จะมีความสดใสและบอกเล่าเรื่องราวที่ผมคิดว่าร่วมสมัยกับปัจจุบัน  ซึ่งถ้าเปรียบเพลงนี้เหมือนกับบ้าน ก็คงเป็นบ้านอบอุ่น อบอวลไปด้วยความรัก และเป็นที่อยู่ของคนหลายๆเจน โดยความหมายของเพลงหัวใจผูกกันเวอร์ชั่นนี้  ที่ตั้งใจจะสื่อคือ ครอบครัวที่มีสมาชิกที่หลากหลายเจนเนอเรชั่นและไม่ว่าสมาชิกในครอบครัวจะแยกย้ายไปเติบโตที่ไหนก็ตาม ทุกครั้งที่ได้ยินเพลงนี้ก็อยากให้รู้ว่าที่ตรงนี้ยังมีความรักอยู่ กลับมาเข้าหาอ้อมแขนที่อบอุ่นของกันและกัน



การหยิบยกเอาเพลงหัวใจผูกกันมาเรียบเรียงใหม่ครั้งนี้ มีความตั้งใจที่จะสื่อถึงประเด็นที่ง่ายและตรงไปตรงมา ผมจึงใช้ส่วนประกอบของดนตรีและคอร์ดในเพลงให้น้อยลงและเพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนของท่อนแร็พ โดย ZENTYARB (เซ้นท์ ไทยพัฒน์ โชคสิริเกษม) แร็พเปอร์หนุ่มรุ่นใหม่ ที่ผมชื่นชมในฝีมือมากๆ มาช่วยบอกเล่าเรื่องราวที่ให้เหมาะกับ แคมเปญนี้มากขึ้นให้ชัดมากขึ้น โดยมีเป้าหมายคือเรียบง่าย และสามารถฟังได้ทุกคน

“ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมได้รับโจทย์ที่ท้าทาย และมีโอกาสทำงานร่วมกับ CP LAND ซึ่งตอนแรกที่ผมรู้ว่าต้องร่วมงานกัน ผมรู้สึกตื่นเต้นและดีใจมาก เพราะเพลงนี้เป็นหนึ่งในผลงานที่ผมชอบมาก และทาง CP LAND ก็มีเป้าหมายอย่างชัดที่อยากให้เพลงนี้ตอบโจทย์ทุกกลุ่มเป้าหมายและสร้างแบรนด์เลิฟ ผมจึงมองภาพที่ใหญ่ขึ้น เรียบเรียงเพลงให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น” คุณบอย กล่าวทิ้งท้ายพร้อมเชิญชวนร่วมฟัง และชมมิวสิควิดีโอ กดไลค์และแชร์เพลง หัวใจผูกกัน เวอร์ชั่น ‘Happiness is All Around’ รับสิทธิพิเศษมากมายจาก CP LAND

โดยทาง CP LAND จัดทำโปรโมชั่นในกลุ่มธุรกิจภายในเครือ CP LAND ได้แก่ ศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ โรงแรมในเครือฟอร์จูนกรุ๊ป 13 แห่งทั่วประเทศ ศูนย์ประชุมนานาชาติขอนแก่น KICE และ กลุ่มธุรกิจที่อยู่อาศัย เพียงแค่ร่วมกดไลค์และแชร์มิวสิควิดีโอเพลง หัวใจผูกกัน เวอร์ชั่น ‘Happiness is All Around บนช่องทางโซเชียลมีเดียของท่านและนำมาแสดงเมื่อใช้บริการธุรกิจในเครือ รับส่วนลดสูงสุดถึง 10% และของรางวัลอื่นเพิ่มเติมมากมาย โดยทุกท่านสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่หน้าเพจ Facebook : CP LAND

รับชมพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่วันนี้ผ่านทุกช่องทางของ CP LAND

Social Media 

Youtube: CPLANDOfficial https://www.youtube.com/watch?v=CkDzqCAnYM4 

FB : CPLAND https://www.facebook.com/CPLAND.Offcial/videos/525039686423889/?extid=NS-UNK-UNK-UNK-IOS_GK0T-GK1C&mibextid=2Rb1fB 

IG : CPLAND.Official

Tiktok : CPLAND.Official

Music Streaming

Spotify: Boyd Kosiyabong Playlist: ความสุขรอบตัวคุณ CP LAND https://spoti.fi/3XfFI6b 

Joox: บอย โกสิยพงษ์ Playlist: ความสุขรอบตัวคุณ CP LAND https://bit.ly/3XufmxH 

Apple Music: Boyd Kosiyabong

#CPLAND #CPLANDProperty #HappinessIsAllAround #หัวใจผูกกัน #คฺณภาพเพื่อทุกชีวิต #AccessibleCommunitiesForLife #ซีพีแลนด์คุณภาพเพื่อทุกชีวิต #BrandRefresh #BrandLove #Rebranding #ความสุขเกิดขึ้นได้ทุกที่รอบตัว #ความสุขเดินทางได้ #บอยโกสิยพงษ์ #ให้แรงบันดาลใจเกิดขึ้นที่บ้าน #หัวใจผูกกัน #TeamCPLAND #Y2K #วัยรุ่นY2K

บางกอกแอร์เวย์สเผยรายได้ปี 65 โต124.8%รับเที่ยวไทยคัมแบ็ค ปลื้มผู้โดยสาร 2.7 ล้านคน

กรุงเทพฯ 27 กุมภาพันธ์ 2566 – บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส (BA) ประกาศผลการดำเนินงานประจำปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้รวม 12,742.1 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 124.8 เมื่อเทียบกับปี 2564 และมีผลขาดทุนลดลงร้อยละ 75.3 หรือ มีผลขาดทุนอยู่ที่ 2,125.9  ล้านบาท พร้อมมุ่งหน้าพาองค์กรแข็งแกร่งทุกมิติ เข้าชมรายละเอียดเพิ่มสำหรับนักลงทุนสัมพันธ์ได้ทางเว็บไซต์ https://ba.listedcompany.com 

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากทิศทางของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2564 โดยมียอดจำนวนผู้โดยสารนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทยสะสมรวมกว่า 5.4 ล้านคน ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบและส่งผลเชิงบวกต่อภาคอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย ปี 2565 

บริษัทฯ มียอดขนส่งผู้โดยสารรวม 2.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 394.8 และมีจำนวนเที่ยวบินที่ให้บริการรวม 29,892 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 243.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 และมีอัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 76.1 มีราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 3,150.8 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.7 โดยในภาพรวมเป็นไปตามคาดการณ์

สำหรับผลการดำเนินงานปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้รวมเท่ากับ 12,742.1 ล้านบาท ซึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการจำหน่ายบัตรโดยสารร้อยละ 609.8 รายได้จากธุรกิจสนามบินร้อยละ 465.4 และรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบินร้อยละ 71.6 มีค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 69.0 จากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนขายและค่าบริการผู้โดยสารเป็นหลัก 

ปี 2565 บริษัทฯเปิดให้บริการเส้นทางบินทั้งหมด 24 เส้นทาง ประกอบไปด้วยเส้นทางบินในประเทศ 17 เส้นทาง และ เส้นทางบินระหว่างประเทศ 7 เส้นทาง โดยบริษัทฯ ได้ทยอยปรับเพิ่มจำนวนเที่ยวบินในเส้นทางบินที่มีปริมาณความต้องการเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้น อาทิ กรุงเทพ - สมุย 

กรุงเทพ - เชียงใหม่ กรุงเทพ - พนมเปญ และสมุย - สิงคโปร์ รวมถึงการกลับมาให้บริการปฏิบัติการบินในเส้นทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3/2565 ส่งผลให้มีปริมาณที่นั่งจำนวน 3.4 ล้านที่นั่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 40.4 ของช่วงปีก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในไตรมาสที่ 4 โดยบริษัทฯ ย่อยได้จัดตั้งกองทรัสต์และนำทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินการบินกรุงเทพ (BAREIT) เข้าทำการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่ง ประเทศไทยในเดือนกันยายน 2565              

บางกอกแอร์เวย์สมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพธุรกิจให้สอดรับต่ออุปสงค์การเดินทางของผู้โดยสารและตอกย้ำในปณิธานความเป็นผู้นำธุรกิจสายการบินระดับภูมิภาค ซึ่งล่าสุดบริษัทฯ ได้รับรางวัลสายการบินระดับภูมิภาคที่ดีที่สุดในโลก และสายการบินระดับภูมิภาคที่ดีที่สุดในเอเชีย ประจำปี 2565 และได้รับการจัดอันดับที่ 23 สาขาสายการบินยอดเยี่ยมของโลกประจำปี 2565 จากการประกาศผลของสกายแทรกซ์ เวิลด์ แอร์ไลน์ อวอร์ด ซึ่งเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับจากวงการธุรกิจการบินนานาชาติ บริษัทฯ ตระหนักถึงการดำเนินการด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม พลังงาน ผ่านนโยบายและการจัดการของบริษัทฯ ส่งผลให้สนามบินสมุย และสนามบินตราด ได้รับรางวัล สนามบินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

(Green Airport) ประจำปี 2564 จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สะท้อนถึงการดำเนินงานภายใต้นโยบายด้านความยั่งยืนขององค์กร จึงนับเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดสำหรับการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาท่ามกลางสภาวะที่ท้าทาย อีกทั้งบริษัทฯ ยังเล็งเห็นความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านช่างอากาศยานให้มีคุณภาพ และตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยาน จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันการบินพลเรือนเพื่อให้การสนับสนุนและยกระดับมาตรฐานการฝึกอบรมการซ่อมบำรุงอากาศยานภาคปฏิบัติขั้นพื้นฐานของประเทศไทยให้สามารถก้าวไกลทัดเทียมสากล นายพุฒิพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย

เช้าวันใหม่!“จุรินทร์”มอบ 35 รางวัล ข้าวหอมมะลิ-ข้าวถุงคุณภาพดีไทย ปี 65

คาดปี 66 ส่งออกข้าวไทยทะลุ 8 ล้านตัน ขึ้นแท่นอันดับ 2 ของโลก สร้างเงิน สร้างอนาคตชาวนาไทย 

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 14.30 น.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานมอบรางวัลผู้ชนะการประกวดข้าวหอมมะลิของประเทศไทย ประจำปี 2565 ครั้งที่ 40 และการประกวดข้าวถุงคุณภาพดี ประจำปี 2565 พร้อมด้วย นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย ที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน เพื่อรักษาระดับมาตรฐานคุณภาพข้าวหอมมะลิ และข้าวสารบรรจุถุงของไทย ส่งเสริมการเพาะปลูกและสร้างต้นแบบการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพ การผลิตและจำหน่ายข้าวสารคุณภาพดี และเชิดชูชาวนาและผู้ประกอบการผู้รักษาคุณภาพข้าวไทย






นายจุรินทร์ กล่าวว่า ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญอย่างยิ่งของไทย สถานการณ์ราคาข้าววันนี้ดีขึ้นเป็นลำดับ และถ้าวันไหนราคาข้าวตกต่ำ รัฐบาลนี้ก็ยังมีนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวชดเชยเงินส่วนต่างผ่านบัญชี ธ.ก.ส.โดยตรง ให้มีรายได้ตามที่ประกันไว้ โดย 4 ปี ที่ผ่านมาจ่ายเงินส่วนต่างให้เกษตรกรไปแล้วถึง 180,000 ล้านบาท ช่วยเติมเงินเข้ากระเป๋าเกษตรกร มีครอบครัวได้เงินส่วนต่างสูงสุดถึง 76,600 บาท และมีเงินอีกก้อนคือไร่ละพัน ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน อีกก้อนเข้ากระเป๋าชาวนา

สำหรับข้าวหอมมะลิ เป็นข้าวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ปีที่แล้วส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 18% 1.25 ล้านตัน รวมข้าวทุกชนิดปี 64 ส่งออกทั้งปี 6.3 ล้านตัน ปี 65 รวมข้าวทุกชนิดส่งออก 7.7 ล้านตัน เป็นที่ 2 ของโลก ที่ 1 อินเดีย เราแซงเวียดนามมาเป็นที่สอง ในปี 65 และปีนี้คาดการณ์ว่าส่งออกจะเกิน 8 ล้านตัน มีส่วนช่วยให้ราคาข้าวดีขึ้น ช่วยเกษตรกร ช่วยสร้างเงินให้กับประเทศ 

“โดยวันนี้จะมีการมอบรางวัล 2 ชุด 1.รางวัลประกวดข้าวหอมมะลิของประเทศไทยประจำปี 2565 ครั้งที่ 40 มีผู้ได้รับรางวัล 21 ราย และประกวดข้าวถุงมีผู้ได้รับรางวัล 14 ราย รวม 35 รางวัล จากผู้เข้าประกวด 425 ราย ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลทุกท่าน ตนเชื่อมั่นว่างานวันนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญและเป็นพลังในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวไทย นำประเทศไทยไปสู่การเป็นผู้นำด้านการผลิต การส่งออกข้าว และผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

ข้อมูลจากกรมการค้าภายในระบุว่า ผู้ชนะการประกวดข้าวหอมมะลิของประเทศไทยประจำปี 2565 ครั้งที่ 40 ประเภทเกษตรกรรายบุคคล รางวัลที่ 1 นายสำรวย สร้อยแก้ว จ.ยโสธร รางวัลที่ 2 นางสาวกงใจ คำมีนาม จ.สุรินทร์ รางวัลที่ 3 นางทัศนีย์ อำขำ จ.พะเยา และประเภทสถาบันเกษตรกร รางวัลที่ 1 กลุ่มแปลงใหญ่ข้าว ต.ไผ่ใหญ่ จ.อุบลราชธานี รางวัลที่ 2 วิสาหกิจชุมชนนาแปลงใหญ่ ต.เกาะแก้ว จ.สุรินทร์ รางวัลที่ 3 กลุ่มนาแปลงใหญ่ข้าว ต.คำเตย จ.ยโสธร และผู้ชนะการประกวดข้าวสารบรรจุถุงคุณภาพดี ประเภทผู้ประกอบการโรงสี/สหกรณ์ ชนิดข้าวหอมมะลิ รางวัลที่ 1 ตรา A-Rice รางวัลที่ 2 ตราผูกปิ่นโต รางวัลที่ 3 ตราไดโนเสาร์ ข้าวหอมไทย รางวัลที่ 1 ตราเอิร์ธไรซ์ รางวัลที่ 2 ตราลูกโลก รางวัลที่ 3 ตราดอกมะลิ ข้าวเหนียว รางวัลที่ 1 ตรานกนางนวล รางวัลที่ 2 ตราไหสี่หู รางวัลที่ 3 ตรานกคาบรวงข้าว ข้าวขาวพื้นนุ่ม รางวัลที่ 1 ตราต้มยำกุ้ง ข้าวขาวพื้นแข็ง รางวัลที่ 1 ตรากระต่ายทอง และสำหรับประเภทกลุ่มเกษตรกร ชนิดข้าวหอมมะลิ รางวัลที่ 1 ตราข้าวเล่าชีวิต จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวอินทรีย์เป็นสุข จ.กาฬสินธุ์ รางวัลชมเชย ตรากำนันดี จากวิสาหกิจชุมชนเมล็ดพันธุ์พืชและผลิตปุ๋ยชีวภาพและแปรรูป  จ.สกลนคร รางวัลชมเชย ตราขวัญยโสธร จากวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติหนองยอ (บ้านกุดหิน) จ.ยโสธร และภายในงานได้มีการลงนาม MOU ซื้อข้าวหอมมะลิร่วม 1,066 ตัน ในราคานำตลาด ระหว่างเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร กับโรงสี 5 รายด้วย

วช.ชูโมเดล “สวนป้องกันฝุ่น PM2.5 และ เฝ้าระวังฝุ่น PM2.5” เพิ่มพื้นที่สีเขียว

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดแถลงข่าว “โมเดลสวนลดฝุ่น PM 2.5 และ เฝ้าระวัง PM 2.5” เพื่อช่วยลดผลกระทบปัญหาฝุ่นละออง ขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ที่สูงเกินมาตรฐาน โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในการแถลงข่าว และ คณะผู้บริหาร วช. ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. พร้อมด้วย ดร.ภูชีวันท์ สุริยะวงศ์  นักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กัญจน์ ศิลป์ประสิทธิ์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และรองศาสตราจารย์ ดร.ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมแถลงข่าว ณ ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และ สวน “ภูมิทัศน์พรรณไม้ลดฝุ่น PM2.5” สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนผลผลิตและผลสำเร็จจากผลงานวิจัยที่แล้วเสร็จสู่การใช้ประโยชน์ โดยการสื่อสารและให้เห็นภาพการทำงานที่เกิดสาธารณประโยชน์แก่พี่น้องภาคประชาชน ซึ่งในขณะนี้ ปัญหาฝุ่นละออง หรือ ฝุ่น PM2.5 เป็นหนึ่งในมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นทุกปี วช. เล็งเห็นถึงปัญหาที่ประชาชนได้รับ จึงสนับสนุนทุนวิจัยในแผนงานโครงการวิจัยเพื่อทำงานในเชิงพัฒนาชุดข้อมูลองค์ความรู้จากงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เกิดเป็นระบบสารสนเทศ เทคโนโลยี นวัตกรรมที่ช่วยลดผลกระทบจาก ฝุ่น PM2.5 ซึ่งผลงานดังกล่าวอยู่ในกรอบการวิจัยและนวัตกรรมที่ วช. ให้การสนับสนุนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 




โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา วช. ได้นำระบบเทคโนโลยีการเฝ้าระวังมาใช้ในการให้ข้อมูลเชิงสาธารณกับพี่น้องประชาชน คือ “ระบบข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเบ็ดเสร็จ” หรือ “ศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ (Air Quality Information Center: AQIC)” ที่มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อการติดตามเฝ้าระวังและเตือนภัยด้วยข้อมูลฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีการรายงานผลและเห็นภาพของการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นเซ็นเซอร์ในการตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 ที่สามารถติดตามคุณภาพอากาศของประเทศได้ อาทิ DustBoy ที่รายงานผลในระบบของการติดตามคุณภาพอากาศ และการติดตามในเชิงระบบ การจำลองคุณภาพอากาศ การพยากรณ์คุณภาพอากาศ การติดตาม โดยข้อมูลการทำงานดังกล่าวเป็นการร่วมมือและเชื่อมโยงข้อมูลจากภาคีเครือข่ายหลายหน่วยงาน ทั้งในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มลภาวะ มลพิษทางอากาศ ซึ่งทำให้เห็นการเข้าถึง เกิดนวัตกรรมในลักษณะเทคโนโลยี เกิดรูปแบบของการใช้งานที่ไม่ยุ่งยาก เช่น เว็บไซต์ แอปพิเคชันบนมือถือ เป็นต้น

ในส่วน“การใช้ไม้ยืนต้นลดฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน ด้วยรูปแบบโครงสร้างและลำดับชั้นต้นไม้แบบนิเวศป่าในเมือง” ได้มีการศึกษาวิจัยและเห็นภาพของการนำต้นไม้หลายพันธุ์ที่ใช้ประโยชน์ในการสร้างระบบนิเวศในป่าเมือง ทำให้ทราบชนิดพืชที่มีศักยภาพในการลดฝุ่น PM2.5 และกลไกการบำบัดฝุ่นด้วยพืช เกิดเป็นแนวคิดการสร้างแบบจำลองระดับเมืองหรือระดับถนน โดย อ้างอิงจากข้อมูลอัตราการไหลและทิศทางการไหลของอากาศในพื้นที่จริง เพื่อให้เห็นรูปแบบการไหลเวียนอากาศตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง อันเป็นภาพรวมและประโยชน์จากงานวิจัย การใช้ไม้ยืนต้นลดฝุ่นอย่างยั่งยืนด้วยรูปแบบโครงสร้างและลำดับชั้นต้นไม้แบบป่าในเมือง ซึ่งในสวน “ภูมิทัศน์พรรณไม้ลดฝุ่น PM2.5” ประกอบไปด้วยต้นไม้ 3 ระดับ ไม้ขนาดใหญ่ เป็นต้นไม้เดิมจะปกคลุมชั้นเรือนยอด เช่น ราชพฤกษ์ประดู่บ้าน และพิกุล โดยไม้ที่นำมาปลูกเพิ่มจะเป็นไม้ขนาดกลางและไม้ขนาดเล็ก โดยทั่วไปนั้นฝุ่นละอองเล็ก PM2.5 จะถูกพัดพาไปตามกระแสอากาศ ดังนั้นสวนแห่งนี้จึงมีการออกแบบให้กระแสอากาศที่มาจากถนนไหลไปตามแนวพื้นที่ว่างเกิดจากการปลูกต้นไม้ที่มีใบขนาดเล็กทรงโปร่งเป็นแนวดักลมเมื่ออากาศเคลื่อนที่ช้าลงทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กถูกดักจับด้วยใบพืชที่มีประสิทธิภาพในการลด PM2.5 ส่วนความชื้นจากการคายน้ำของพืชบริเวณนั้นยังช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับฝุ่นละลองขนาดเล็กให้เคลื่อนที่ลดลง เพิ่มเวลาให้พืชช่วยดักจับฝุ่นขนาดเล็กได้ นอกจากนี้ภายในสวนยังมี โซนจัดวางต้นไม้กันฝุ่น ได้แก่ โซนลิ้นมังกรสู้กลิ่น พันธุ์ไม้อวบน้ำและพืชในกลุ่ม อาทิ ต้นลิ้นมังกร ต้นสับปะรดสี ที่มีสรรพคุณช่วยลดสารระเหย กลิ่นเหม็นและฝุ่นได้ดี และยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในเวลากลางคืนด้วย 



ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า ต้นลิ้นมังกร สามารถลดฝุ่นได้มากกว่าร้อยละ 40 ในระบบปิดขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร ที่ความเข้มข้น PM2.5 เริ่มต้นที่ 450 – 500 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร โซนพันธุ์ไม้มีขนลด PM ต้นไม้หลายชนิดมีใบที่มีขนที่ช่วยในการจับตรึง ฝุ่นละอองในอากาศได้ โดยพืชที่มีลักษณะดังกล่าว อาทิ ต้นพรมกำมะหยี่ และต้นพรมญี่ปุ่น โดยต้นพรมกำมะหยี่ สามารถลดฝุ่นได้มากกว่าร้อยละ 60 ในระบบปิดขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร ที่ความเข้มข้น PM2.5 เริ่มต้นที่ 450 – 500 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และโซนพันธุ์พืชลดมลพิษ อาทิ ต้นไทรใบสัก ต้นมอนสเตอร์เรล่า ต้นหมาก ต้นเดหลี ต้นพลูปีกนก ต้นคล้ากาเหว่าลาย ต้นกวักมรกต ต้นคล้าแววมยุรา และต้นคล้านกยูง ซึ่งจากงานวิจัยพันธุ์พืชลดมลพิษพบว่า พืชจำนวนมากสามารถช่วยบำบัดฝุ่นและมลพิษอากาศอื่น ๆ ได้ดี อีกด้วย







ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่นำมาแสดงในวันนี้ เป็นผลงานที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. ที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในทุกพื้นที่ “เพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี จากอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดี”