เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2565 ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการโครงการ "ปักหมุดพาน้องกลับห้องเรียน" ของสำนักงาน กศน. อ. เมือง จ. ขอนเเก่น โดยมีกลุ่มเป้าหมายพิเศษ 2 แห่ง คือ น้องเป็ด นายณัฐพงษ์ วังสงค์ และน้องขม นางสาวจุฑารัตน์ โครตลือชา
ที่ปรึกษา รมช.ศธ.กล่าวว่า การศึกษามีความสำคัญยิ่งในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพราะการศึกษามีหน้าที่ในการสร้างความรู้ และสร้างคนให้ประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพ การศึกษาช่วยเปลี่ยนสถานะและช่วงชั้นทางสังคมให้กับคน และมีผลต่อการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า
เยาวชนในทุกกลุ่มเป้าหมายล้วนเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติ ไม่เว้นแม้กลุ่มเป้าหมายพิเศษ หรือกลุ่มเด็กพิการ ในการลงพื้นติดตามนโยบายปักหมุด ที่ จ.ขอนแก่น ในครั้งนี้ ที่ปรึกษา รมช.ศธ. ได้เดินทางไปเยี่ยมบ้าน นายณัฐพงษ์ วังสงค์ (น้องเป็ด) ซึ่งอาศัยอยู่กับคุณยาย ณ บ้านเลขที่ 132 หมู่ 23 ตำบลสาวะถี อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น มีความบกพร่องทางการได้ยิน ต้องการเรียนให้พออ่านออกเขียนได้ กศน.อ.เมือง จ.ขอนแก่น จึงรับน้องเข้าเป็นนักศึกษาของ กศน. เรียนจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แต่ไม่ประสงค์ที่จะศึกษาต่อ เพราะต้องการออกมาช่วยคุณยายทำงานหาเลี้ยงชีพ ซึ่งที่บ้านคุณยายมีอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งพอหาเลี้ยงตนเองได้ ส่วนนางสาวจุฑารัตน์ โครตลือชา (น้องขม) อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 185 หมู่ 8 ตำบลสาวะถี อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น มีความบกพร่องทางด้านสติปัญญา ได้รับการศึกษาจาก กศน.อ.เมือง จ.ขอนแก่น ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เช่นกัน น้องขมอ่านออกเขียนได้ สามารถประกอบอาชีพขายไก่ย่างช่วยพ่อแม่ได้ ซึ่งน้องทั้งสองถึงแม้จะมี IQ ไม่เท่าเทียมกับเด็กปกติ แต่น้องมี EQ. ที่ดีมาก ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากพ่อแม่ผู้ปกครอง สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีรายได้เพื่อการยังชีพ
น้องทั้งสองได้กล่าวว่าการศึกษากับ กศน. ทำให้น้องสามารถอ่านออกเขียนได้ สามารถสื่อสารกับบุคคลอื่นๆ ได้ ทำให้ลดช่องทางสังคมได้เป็นอย่างดี และรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่ามากขึ้น นับได้ว่าทั้งน้องเป็ดและน้องขมมีคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่ร่วมกับคนในชุมชนได้อย่างมีความสุข
ที่ปรึกษา รมช.ศธ. ได้พูดคุยให้กำลังใจและขอให้ทั้งสองเป็นเด็กดีของพ่อแม่ เป็นคนดีของสังคม มีความกตัญญูกตเวที จากนั้นได้มอบเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับทั้งสองครอบครัว และจะส่งทีมงานไปประสานความร่วมมือในการพัฒนาและนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. .... ต่อไป