“วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ปี 2565 “การพลิกโฉมพื้นที่การเรียนรู้ เพื่อการรู้หนังสือ”
เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัย สร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานเฉลิมฉลอง “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2565 (International Literacy Day 2022) ใต้กรอบแนวคิด “การพลิกโฉมพื้นที่การเรียนรู้เพื่อการรู้หนังสือ” (Transforming Literacy Learning Spaces) ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนต์ บอลรูม อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ซึ่งจัดโดยสำนักงาน กศน. กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนางสาวสมปรารถนา วิกรัยเจิดเจริญ ที่ปรึกษา รมว.ศธ., นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการ รมว.ศธ., นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ., นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการ กศน. และผู้บริหารสำนักงาน กศน. ทั่วประเทศ เข้าร่วม
รมว.ศธ. ได้อ่านสารจาก พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ความตอนหนึ่งว่า “การรู้หนังสือเป็นพื้นฐานสำคัญในการศึกษา และแสวงหาความรู้ เพื่อพัฒนาชีวิต และยกระดับความเป็นอยู่ของตนเองให้ดีขึ้น รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของมวลมนุษยชาติ ดังนั้น การเปิดพื้นที่และการส่งเสริมการเรียนรู้ การรู้หนังสือ การรับรู้ข่าวสาร และการสื่อสาร จึงเป็นวาระสำคัญของรัฐบาลทั่วโลก โดยองค์การยูเนสโกมีเป้าหมายเพื่อพลิกโฉมทุกพื้นที่ให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้เพื่อการรู้หนังสือ
รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ โดยมีเป้าหมายให้คนทุกช่วงวัยเป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ พร้อมสำหรับวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21 และมุ่งเน้นให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่คนทุกช่วงวัย รวมทั้งผู้ที่ไม่รู้หนังสือ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง และชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้เป็นพลเมืองของชาติที่เข้มแข็งและเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลทำให้รูปแบบการเรียนการสอนเปลี่ยนแปลงไป มีการนำนวัตกรรมด้านการจัดการเรียนการสอนมาใช้ในระบบการศึกษามากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสในการขยายพื้นที่การเรียนรู้ให้เปิดกว้างและครอบคลุมทุกพื้นที่ เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อขจัดความไม่รู้หนังสือ และสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตต่อไป
จากนั้น รมว.ศธ.ได้กล่าวในพิธีเปิดว่า รัฐบาลได้มุ่งเน้นให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาการศึกษาให้
ผู้เรียนมีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 โดยหนึ่งในนโยบายหลักที่ใช้ขับเคลื่อน เพื่อการบรรลุเป้าหมาย คือ การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย ซึ่งมีจุดเน้นสำคัญในการปฏิบัติ คือ การทำให้คนไทยทุกคนรู้หนังสือที่สอดคล้องกับยุคสมัย ทั้งของสังคมไทยและสังคมโลก และสามารถเข้าถึงโอกาสการเรียนรู้ที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตอย่างทั่วถึง ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDG) ที่องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้ ซึ่งการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวได้ส่งผลให้ประเทศไทยมีอัตราการรู้หนังสือของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปอยู่ในเกณฑ์สูงขึ้น กว่าร้อยละ 92 สามารถอ่านออกเขียนได้ เข้าใจภาษาในระดับที่เหมาะกับการติดต่อสื่อสาร สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงสองปีกว่าที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นไปอย่างรวดเร็ว การศึกษานั้นต้องมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น สำนักงาน กศน.เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ช่วยเข้ามาเติมเต็ม สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ ให้แก่ผู้ด้อย พลาด และขาดโอกาสทางการศึกษา ซึ่งการรู้หนังสือ ตลอดจนทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) สามารถนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้และสื่อสาร เพื่อให้คนสามารถเข้าถึงกระบวนการเรียนรู้ได้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ UNESCO และทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ
Mr. Shigeru Aoyagi ผู้อํานวยการองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) สำนักงานกรุงเทพ กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 ทุกประเทศทั่วโลกได้มีการเฉลิมฉลอง
วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้สาธารณชนตระหนักถึงความสำคัญของการรู้หนังสือว่า เป็นเรื่องของศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยชน และเพื่อพัฒนาวาระการรู้หนังสือไปสู่สังคมที่มีการรู้หนังสืออย่างยั่งยืนมากขึ้น อย่างไรก็ตามแม้จะมีความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว แต่ความท้าทายในการส่งเสริมการรู้หนังสือยังคงปรากฎอยู่ ประชากรจำนวนกว่า 771 ล้านคนทั่วโลกยังคงสถานะเป็นผู้ไม่รู้หนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสตรีที่ยังขาดทักษะการอ่าน และการเขียนขั้น
พื้นฐาน
ภายหลังการแพร่ระบาดทั่วโลกของโรคโควิด-19 อาจมีผู้เรียนเกือบ 24 ล้านคน ที่ไม่สามารถกลับไปศึกษาในระบบได้อีกเลย ซึ่งคาดว่าเป็นเด็กและเยาวชนหญิงกว่า 11 ล้านคน และเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จึงจำเป็นต้องต่อยอด และเปลี่ยนแปลงพื้นที่การเรียนรู้ที่มีอยู่ ด้วยวิธีบูรณาการเพื่อให้เกิดการรู้หนังสือด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยอาศัยสื่อการเรียนรู้และกิจกรรมต่าง ๆ สภาพแวดล้อมด้านสังคม วัฒนธรรม การเมือง รวมทั้งภาคีเครือข่าย ที่จะช่วยให้ผู้เรียนสะดวกในการเข้าถึง และเชื่อมโยงกับตลาดแรงงาน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเปลี่ยนแปลง และพลิกโฉมพื้นที่การเรียนรู้ เพื่อการรู้หนังสืออย่างแท้จริง
วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ ปี 2565 นี้ องค์การยูเนสโกมีมติรับรอง การร่วมเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญ และเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของโลก รมว.ศธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ ขอยกย่องและเชิดชูเกียรติ “พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)พระยาศรีสุนทรโวหาร เป็นผู้ส่งเสริมการรู้หนังสือ โดยเป็นผู้นิพนธ์หนังสือแบบเรียนภาษาไทย ชุดแบบเรียนหลวง 6 เล่ม ซี่งเป็นแบบเรียนหลวงชุดแรกที่ใช้เป็นแบบหัดอ่านเบื้องต้นของนักเรียน และให้เกียรติมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ได้รับการคัดเลือกของสำนักงาน กศน. ประจำปี 2565 จำนวน 173 รางวัล
ปรานี บุญยรัตน์ / อานนท์ วิชานนท์ : ข่าว
ปรานี บุญยรัตน์ : ภาพ