06 กรกฎาคม 2565

‘ธรรมศาสตร์’ จัดตั้ง ‘บริษัทเมืองนวัตกรรมอาหาร’ ใช้ ‘งานวิจัย’ สร้างมูลค่าวัตถุดิบ–สินค้าเกษตร เสริมศักยภาพแข่งขัน-ติดปีกผู้ประกอบการไทย



มธ. จัดตั้ง “บริษัทเมืองนวัตกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” สอดรับนโยบาย “Food innopolis” ของรัฐบาล เดินหน้าพันธกิจติดอาวุธผู้ประกอบการ - ปั้นมูลค่าวัตถุดิบ – ยกระดับสินค้าทางการเกษตร ด้วยการสร้างมูลค่าผ่านการใช้งานวิจัย หวังเกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์หนุนไทยหลุดกับดักความยากจน

รศ.ดร.ประภาศรี เทพรักษา เลขานุการคณะกรรมการบริหารเมืองนวัตกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางอาหาร มธ. เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านการผลิตอาหาร และที่ผ่านมาก็ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศมาโดยตลอด แต่การผลิตอาหารในมิติของการขายวัตถุดิบหรือสินค้าทางการเกษตรเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เนื่องจากไม่สามารถสร้างมูลค่าหรือช่วยทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักความยากจนได้

ทั้งนี้ เพื่อยกระดับวัตถุดิบและสินค้าทางการเกษตรให้ก้าวไปสู่นวัตกรรมอาหาร มธ. จึงให้ความสำคัญกับการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาพลิกโฉมให้ผู้ผลิตพืชผลทางการเกษตร เพิ่มมูลค่าวัตถุดิบอาหาร ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมเกษตร ตลอดจนอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารต่อไป


รศ.ดร.ประภาศรี เทพรักษา เลขานุการคณะกรรมการบริหารเมืองนวัตกรรมอาหาร
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) 

รศ.ดร.ประภาศรี กล่าวอีกว่า ล่าสุดเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มธ. ได้จัดตั้ง “บริษัทเอฟไอทียู จำกัด” (FITU) หรือ บริษัทเมืองนวัตกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขึ้น ภายใต้ความร่วมมือ 3 ฝ่าย ได้แก่ 1. มธ. 2. คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 3. บุคลากรผู้ปฏิบัติงาน โดยมี มธ. เป็นผู้ถือหุ้นหลัก ถือเป็นหน่วยงานใหม่ทางด้านนวัตกรรมอาหาร มธ. (Food Innopolis Thammasat University) 

สำหรับพันธกิจหลักในการดำเนินกิจการของบริษัทเมืองนวัตกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1. ให้บริการวิจัยและพัฒนาทางนวัตกรรมอาหาร การจัดฝึกอบรมอาชีพการถนอมและแปรรูปอาหาร การฝึกอบรมทักษะในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร และการให้คำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารให้กับผู้ประกอบการ และวิสาหกิจชุมชน หรือประชาชนทั่วไปที่สนใจเริ่มต้นธุรกิจนวัตกรรมอาหารหรือวิจัยขยายผลต่อยอดงานวิจัยทางนวัตกรรมอาหารสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ 

2. การให้บริการเครื่องจักร อุปกรณ์ และสถานที่แปรรูปวัตถุดิบอาหาร ภายในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารต้นแบบตามหลักสุขาภิบาล (pilot plant) ที่ได้มาตรฐานในการผลิตอาหาร สำหรับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ขยายผลวิจัยสู่การผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรม

3. การให้บริการด้านการทดสอบทางประสาทสัมผัส โดยผู้เชี่ยวชาญและนักชิมมืออาชีพ ภายในห้องปฏิบัติที่ทันสมัยและได้มาตรฐานสากล 4. การผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร และการให้บริการเช่าพื้นที่ Co Kitchen Space





 

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. กล่าวว่า การเกิดขึ้นของบริษัทเมืองนวัตกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอดรับกับแพลตฟอร์มภาครัฐอย่าง “เมืองนวัตกรรมอาหาร” (Food innopolis) ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมด้านอาหารแบบครบวงจร โดยเป็นการทำงานร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชนและมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดระบบนิเวศการวิจัยที่เหมาะสมต่อการทำวิจัย และพัฒนานวัตกรรม

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ.

“ผลพวงจากการตั้งบริษัทเอฟไอทียู เราหวังว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะสามารถเป็นต้นแบบในการสร้างมูลค่าจากงานวิจัยทางด้านนวัตกรรมอาหารสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม เป็นหน่วยงานที่ช่วยให้ผู้ประกอบการหรือผู้สนใจธุรกิจอาหารได้เข้าถึงแหล่งทรัพยากรการวิจัย และบริการต่างๆ ของมหาวิทยาลัยได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น” รศ.เกศินี กล่าว

รศ.เกศินี กล่าวอีกว่า ยืนยันว่าการจัดตั้งบริษัทไม่ใช่เพื่อแสวงหาผลกำไรรายได้ แต่จะเป็นบริษัทที่หวังเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนทางด้านนวัตกรรมอาหารอย่างครบวงจร ซึ่งเชื่อว่าบริษัทเมืองนวัตกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะสามารถเป็นต้นแบบที่ผนวกเอาองค์ความรู้ของบุคลากรในมหาวิทยาลัย มาสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ สู่ประชาชน และนำไปสู่การเสริมศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลกด้วย