11 พฤษภาคม 2565

“พาณิชย์-DITP”แนะผู้ประกอบการอาหาร-สินค้าไทย ใช้ช่องทางเดลิเวอรีขยายตลาดจีน

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แนะผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทางเดลิเวอรี ขายอาหาร อาหารปรุงสำเร็จ และสินค้าไทย ในตลาดจีน หลังตลาดเดลิเวอรีบูมสุด ๆ ผู้บริโภคหันมาใช้บริการเพิ่มขึ้น ชี้ช่องเข้าสู่ตลาด ควรร่วมมือกับแพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียงด้านอาหาร จัดโปรโมชันให้ส่วนลด และใช้ KOL ช่วยเป็นกระบอกเสียงให้กับอาหารและสินค้าไทย  

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่าง ๆ ล่าสุดได้รับรายงานจากน.ส.ชนิดา อินปา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงโอกาสในการขยายตลาดสินค้าอาหาร อาหารสำเร็จรูป และสินค้าไทย ผ่านช่องทางเดลิเวอรี ที่กำลังขยายตัวสูงขึ้น หลังจากที่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จีนประสบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้ช่องทางเดลิเวอรีในการสั่งอาหารและซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ชิงต่าวได้รายงานว่า มูลค่าของตลาดเดลิเวอรีอาหารและเครื่องดื่ม ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2020 ตลาดมีมูลค่า 664,600 ล้านหยวน หรือประมาณ 3.52 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% ปี 2021 มีมูลค่า 811,700 ล้านหยวน หรือประมาณ 4.30 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.13% และคาดการณ์ปี 2022 จะมีมูลค่า 941,740 ล้านหยวน หรือประมาณ 4.99 ล้านล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5.3 บาท) และยอดจำหน่ายอาหารผ่านออนไลน์ก็เพิ่มขึ้น โดยในปี 2020 สัดส่วนรายได้เดลิเวอรีทางออนไลน์ คิดเป็น 16.9% ของรายได้ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของจีน ปี 2021 สัดส่วนเพิ่มเป็น 21.4% และปี 2022 จะเพิ่มเป็นสัดส่วน 25.6% ขณะที่จำนวนผู้ใช้บริการก็เพิ่มขึ้น ปี 2020 มีจำนวน 418.83 ล้านคน ปี 2021 จำนวน 544.16 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 52.7% ของประชากรชาวเน็ตจีนทั้งหมด

สำหรับกลุ่มผู้บริโภคหลักของบริการเดลิเวอรี ที่สำรวจโดยบริษัท Meituan ผู้ให้บริการเดลิเวอรีชื่อดังของจีน พบว่า ผู้ที่มีอายุ 23-32 ปี คือ ผู้บริโภคหลัก คิดเป็นสัดส่วน 50% ของผู้ใช้บริการทั้งหมด ผู้บริโภคที่มีความถี่ในการใช้บริการ ได้แก่ ผู้บริโภคอายุ 18–25 ปี และผู้บริโภคอายุ 26–30 ปี คิดเป็นสัดส่วน 36.1% และ 22.5% ตามลำดับ ส่วนผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ คือ อายุ 43-52 ปี แต่ผู้บริโภคอายุ 33–42 ปี มีค่าใช้จ่ายในการบริโภคโดยเฉลี่ยประมาณ 30 หยวนขึ้นไป หรือประมาณ 159 บาทขึ้นไป ซึ่งสูงกว่าผู้บริโภคอายุระหว่าง 23–32 ปี

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมเดลิเวอรีขยายตัว คือ เศรษฐกิจกักตัว จากผลกระทบโควิด-19 เกิดแนวคิดทุกอย่างส่งถึงบ้าน และการจัดส่งไร้สัมผัส ทำให้เกิดเศรษฐกิจของคนขี้เกียจ หรือ Lazy Economy ผู้บริโภคจึงหันมาใช้บริการสั่งอาหารมากขึ้น แทนออกไปซื้อหรือบริโภคนอกบ้าน และยังได้รับผลจากการพัฒนาเทคโนโลยีการจัดส่งที่ทันสมัย ที่เริ่มมีให้บริการรถจัดส่งไร้คนขับ จัดส่งด้วยโดรน ซึ่งตอบสนองต่อความต้องการใช้ของผู้บริโภค

นายภูสิตกล่าวว่า การเติบโตของตลาดเดลิเวอรีของจีน เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการร้านอาหารไทย หรือผู้ประกอบการสินค้าไทยทั่วไปที่สามารถจัดส่งแบบเดลิเวอรีได้ โดยเฉพาะสินค้าอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน โดยผู้ประกอบการไทยทั้ง 2 กลุ่ม ควรอาศัยความนิยมของการใช้บริการเดลิเวอรีในตลาดจีนให้เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะการเข้าร่วมให้บริการผ่านแพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียงด้านอาหารของจีน เช่น แพลตฟอร์ม Meituan (เหม่ยถวน) แพลตฟอร์ม Eleme (เอ้อเลอเมอะ) เป็นต้น เนื่องจากเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่ใช้บริการเป็นประจำทุกวันทำงาน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยควรดึงดูดลูกค้าโดยการจัดโปรโมชันส่วนลดค่าอาหาร การขยายพื้นที่ให้บริการ หรือการแจกคูปองส่วนลดสำหรับการใช้บริการที่ร้าน เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคได้เข้าไปมีประสบการณ์ในการใช้บริการแบบออฟไลน์ เพื่อสร้างโอกาสในการจำหน่ายสินค้าอาหาร ทั้งอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน หรือเครื่องปรุงอาหารที่ผู้ประกอบการไทยควรจัดจำหน่ายภายในร้านอาหารด้วย ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการสร้างโอกาสในการจำหน่ายสินค้าไทยแล้ว แต่ยังสามารถเผยแพร่วัฒนธรรมการปรุงอาหารไทย หรือสร้างความเคยชินในการซื้อสินค้าไทยไปประกอบอาหารให้แก่ผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่งด้วย

ขณะเดียวกัน ควรจัดการประชาสัมพันธ์สินค้าอาหารไทยผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ร่วมกับผู้นำทางความคิด (KOL) โดยปัจจุบันไม่จำเป็นที่จะต้องร่วมกับ KOL ที่มีชื่อเสียงด้านอาหารเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถพิจารณาร่วมกับ KOL ที่มีชื่อเสียงด้านอื่น ๆ ที่ได้รับความนิยมในตลาดจีน เพื่อให้เป็นกระบอกเสียงของสินค้าไทยและอาหารไทย ซึ่งนอกจากจะทำให้กลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบอาหารได้รู้จักสินค้าไทยและอาหารไทยมากขึ้นแล้ว ยังจะทำให้กลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบ KOL เหล่านั้น ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ และได้รู้จักสินค้าไทยและอาหารไทยมากขึ้นตามไปด้วย

สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 116