นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในโอกาสเดินทางตรวจเยี่ยม และพบปะประชาชนจากกลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านหัวเมือง จังหวัดยโสธร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565ว่า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะกำกับดูแลสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการสืบสาน สร้างสรรค์ และส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทยในทุกมิติอย่างยั่งยืน และที่ผ่านมาได้มอบหมายให้ sacit เร่งพัฒนาศักยภาพงานศิลปหัตถกรรมไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยให้เป็นที่ยอมรับ และเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งใน และต่างประเทศ
รมช.พาณิชย์ กล่าวถึงเทรนด์การสร้างความยั่งยืนตามที่องค์การสหประชาชาติ (UN) การขับเคลื่อน SDGs ด้วยความรู้และกลไกประชารัฐ มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เป็นวาระสำคัญต่อการพัฒนาของประเทศไทย ที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงวิธีคิดการพัฒนาในระดับรากฐาน ต้องการให้ทุกประเทศพิจารณาเรื่องการพัฒนาอย่างสมดุล คือต้องการให้ชีวิตคนมีความมั่นคง โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อยและคนเปราะบาง ให้สังคมมีความมั่งคั่ง ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่อาจจะรวมถึงวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ในสังคม ทรัพยากร มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ และให้โลกมีความยั่งยืนเรื่องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร เกิดสันติภาพและมีรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล เคารพสิทธิมนุษยชน และทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย จึงได้มอบแนวทางการพัฒนาชุมชนหัตถกรรมอย่างยั่งยืนไว้ 3 ด้าน คือ การรักษาองค์ความรู้ อัตลักษณ์และภูมิปัญญาให้คงอยู่อย่างยั่งยืน การสร้างงาน สร้างอาชีพ รายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน มีคุณภาพชีวิตที่ดี และการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับกลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านหัวเมือง จังหวัดยโสธร ถือเป็นหนึ่งในต้นแบบชุมชนหัตถกรรมด้านสิ่งแวดล้อม มีกระบวนการผลิตที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติในชุมชน ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมอาทิเช่น การเปลี่ยนสีย้อมเส้นไหมจากสีเคมีที่ให้สีเข้มและฉูดฉาด มาเป็นการใช้วัตถุดิบย้อมสีธรรมชาติจากพืชที่หาได้ในท้องถิ่นให้โทนสีพาสเทล ไม่ฉูดฉาด สบายตา เป็นที่นิยมของกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น ได้แก่ สีน้ำตาลโอวัลตินจากเปลือกต้นกระโดน , สีเขียวอ่อนจากเปลือกต้นมะม่วงหรือต้นเพกา , สีน้ำตาลจากแก่นและเปลือกต้นคูน , สีน้ำเงินจากคราม และสีแดงจากครั่ง เป็นต้น โดยสร้างสรรค์จนเป็นงานผ้าทอที่มีคุณภาพ สวยงาม ประณีต และสร้างมูลค่าเพิ่ม และรายได้ให้กับชาวบ้านและชุมชน เกิดความสามัคคี เกิดการหมุนเวียน ด้านเศรษฐกิจภายในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง รมช.พาณิชย์ กล่าวทิ้งท้าย
ทางด้านนายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวเสริมว่า นอกจากชุมชนบ้านหัวเมืองแล้ว sacit ได้ดำเนินการส่งเสริมหัตถกรรมเพื่อความยั่งยืนในทุกมิติไปทั่วทุกภูมิภาค อาทิ ชุมชนหัตถกรรมหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ โดยครูอนัญญา เค้าโนนกอก ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2554 , ชุมชนหัตถกรรมผ้าบาติก จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยครูอารีย์ ขุนทน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2563 และชุมชนหัตถกรรมผ้าย้อมคราม จังหวัดสกลนคร โดยครูพิระ ประเสริฐก้านตง ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2557 เป็นต้น โดยจะได้เร่งดำเนินการขยายศิลปหัตถกรรมเพื่อความยั่งยืนนี้ไปยังชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป