24 ธันวาคม 2564

เคน หนุ่มน้อยคนเก่งวัย16 ปี ผู้ก่อตั้งแบรนด์ไอศกรีม “Ken Homemade Gelato”

มุ่งหน้าสู่การพัฒนาชุมชนห้วยกรวดพัฒนา จังหวัดชัยนาท ‘ชูตาลโตนด และเมล่อน’ วัตถุดิบท้องถิ่นเพิ่มมูลค่า ทำไอกรีมออแกนิกหลากรสชาติ สร้างอาชีพใหม่ให้ชุมชน พร้อมทำตลาด
ค้าส่งและออนไลน์

คณิน สิริมนตาภรณ์ หรือเคน หนุ่มน้อยวัย 16 ปี ปัจจุบันศึกษาอยู่ที่ The Webb School, Claremont, California, USA. (เกรด 11) จากเด็กคนหนึ่งที่เป็นเจ้าสัวน้อยประสบความสำเร็จในการก่อตั้งแบรนด์ไอศกรีมของตัวเอง “Ken Homemade Gelato”ตั้งแต่วัยเพียง 11ขวบ ด้วยความชอบที่ไม่หยุดยั้ง เขาต่อยอด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเขาไปเรื่อยๆ ในวันนี้เขาได้เติบโตขึ้น จึงได้นำความรู้ และประสบการณ์นี้กลับมาพัฒนาชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือ


เคน สานต่อโครงการของรัฐบาล มหาวิทยาลัยสู่ตำบลเพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือโครงการยกระดับเศรษฐกิจ และสังคมรายตำบล ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐส่งมหาวิทยาลัยไปพัฒนาตำบลเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตในชุมชน เพื่มรายได้และทำให้เกิดการจ้างงาน หนึ่งในตำบลที่เข้าร่วมโครงการคือ ตำบล ห้วยกรดพัฒนา จังหวัดชัยนาท ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรหลักที่ทำรายได้คือตาลโตนด  ตาลโตนดที่ปลูกในจังหวัดชัยนาทสามารถนำมาทำเป็นน้ำตาลออแกนิกที่ให้ความหวานหอมมาก แต่ชาวบ้านนำน้ำตาลโตนดมาทำเป็นน้ำตาลปี๊บเท่านั้น ซึ่งขายได้ในราคาถูก เคนมีความสนใจในวัตถุดิบนี้มาก จึงริเริ่มความคิดที่จะนำน้ำตาลโตนดมาพัฒนาเป็นไอศกรีมต่อ ผศ.ดร สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข (TSI Tambon System Integrator) หรือหัวหน้าโครงการ U2T (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล) ซึ่งผศ.ดร.สันติ ได้แต่งตั้งให้เคนเป็นผู้ช่วยโครงการและที่ปรึกษาด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์



เคนได้มีส่วนร่วมพัฒนาโครงการตั้งแต่การคัดเลือกนิสิต นักศึกษาและชาวบ้านผู้เข้าร่วมโครงการ จัดทำแบบเรียนนำความรู้เรื่องไอศกรีมไปสอนชาวบ้าน ลงพื้นที่ไปสอนชาวบ้านโดยให้ความรู้และสาธิตการปฎิบัติตลอดจนมอบสูตรเฉพาะที่เคนคิดค้นขึ้นเองในการนำตาลโตนดมาทำเป็นไอศกรีมออแกนิกรสชาติต่างๆที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น กะทิตาลโตนด กาแฟตาลโตนดเป็นต้น และเมื่อได้ลงพื้นที่ อีกปัญหาหนึ่งที่พบที่จังหวัดชัยนาทคือการสูญเสียอาหาร (Food Loss)ซึ่งเป็นการสูญเสียในขั้นตอนการเพาะปลูก การผลิต เก็บเกี่ยว และขนส่ง ชุมชนบ้านหัวเด่นในจังหวัดชัยนาท เป็นตำบลที่ปลูกเมล่อนได้เป็นจำนวนมาก เป็นเมล่อนที่มีรสหวาน ฉ่ำ สามารถส่งไปขายได้ราคาสูง แต่ไม่ถูกเก็บไปจำหน่ายเนื่องจากขนาด
รูปลักษณ์ไม่สวยงาม ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ผลิตผลเหล่านี้ถูกทิ้งเป็นจำนวนมาก เคนได้ให้ความรู้แก่ชาวบ้านในการแปรรูปผลผลิตเหล่านี้มาทำเป็นไอศกรีมเมล่อนเขียว และเมล่อนส้ม ซึ่งนอกจากเพิ่มมูลค่า สร้างอาชีพใหม่ๆและนำไปสู่การจ้างงานแล้ว ยังเปลี่ยนผลไม้ที่จะถูกทิ้งและเน่าเสียไปตามกาลเวลาให้เก็บได้นาน เพราะไอศกรีมสามารถเก็บได้นานถึง 1ปี เคนมุ่งให้ความรู้ทางการตลาด การสร้างแบรนด์
บรรจุภัณฑ์และจัดจำหน่ายทั้งทางค้าส่งและออนไลน์ เพื่อให้เกิดรายได้และสร้างอาชีพใหม่ ตลอดจนเพิ่มมูลค่าผลผลิตและเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆในท้องถิ่นอีกด้วย

วันนี้ชาวบ้านตำบลห้วยกรดพัฒนาได้รับความรู้และสามารถผลิตไอศกรีมเองจากผลผลิตทางการเกษตร
ในท้องถิ่น ลดการสูญเสียทางการเพาะปลูก เกิดอาชีพใหม่ๆ ลดปัญหาความยากจนในชุมชนและสามารถสร้างรายได้ในช่วงเวลาที่เศรษกิจย่ำแย่ในช่วงสถานการณ์โควิด