16 กุมภาพันธ์ 2564

พส. จับมือธนาคารกรุงไทย พาคนเปราะบางเข้าถึงสิทธิ “เราชนะ”

วันนี้ (วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564) นายสุทธิ จันทรวงษ์ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการมอบหมายให้ นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย สาขากระทรวงแรงงาน อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ช่วยเหลือคนเปราะบางรายครัวเรือน 

ณ ชุมชนซอยรัชฎภัณฑ์ (ซอยหมอเหล็ง) เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร โดยดำเนินการสำรวจข้อมูลกลุ่มคนเปราะบางที่เข้าไม่ถึงสิทธิ “เราชนะ” และประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารการเปิดช่องทางลงทะเบียนกับธนาคารกรุงไทย สำหรับผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน  พร้อมทั้งเตรียมความพร้อม อพม. ในการใช้เครื่องมือ “สมุดพกครัวเรือน” เพื่อสอบถาม รับฟังปัญหา และสร้างสัมพันธภาพรายครัวเรือน






กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน ภายใต้แนวคิด “1 กรม 1 พื้นที่พัฒนา” และได้พิจารณาคัดเลือก ชุมชนซอยรัชฎภัณฑ์ (ซอยหมอเหล็ง) เขตราชเทวี กรุงเทพฯ เป็นเขตพื้นที่ดำเนินการ โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นชุมชนแออัดริมคลองมักกะสัน มีพื้นที่ 4 ไร่ ปลูกบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และไม่ได้จดทะเบียนชุมชนกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งจากการสำรวจพื้นที่พบว่า มีจำนวน 155 ครัวเรือน เป็นบ้านที่มีทะเบียน 50 ครัวเรือน บ้านไม่มีทะเบียน 105 ครัวเรือน และมีจำนวนประชากรอาศัยอยู่ในชุมชนทั้งสิ้น 477 ราย 

     กิจกรรมในครั้งนี้ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนเปราะบางให้สามารถเข้าถึงสิทธิ “เราชนะ” โดยการบูรณาการกับธนาคารกรุงไทย สาขากระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่สำรวจผู้ได้รับสิทธิ และไม่ได้รับสิทธิโครงการดังกล่าว ซึ่งจากการสำรวจ พบดังนี้ 

1) เป็นผู้มีสิทธิ จำนวน 98 คน ประกอบด้วย ผู้มีสิทธิคนละครึ่ง จำนวน 63 คน และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 35 คน 

2) เป็นผู้ไม่มีสิทธิ จำนวน 78 คน ประกอบด้วย เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวน 29 คน ผู้มีเงินฝากเกิน 500,000 บาท จำนวน 4 คน ผู้มีรายได้พึงประเมินเกิน 300,000 บาท จำนวน 1 คน และอายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 44 คน 

3)เป็นผู้ไม่ทราบสิทธิ จำนวน 90 คน ประกอบด้วย ผู้ลงทะเบียนใหม่ จำนวน 67 คน ผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ไม่มีอินเตอร์เน็ต และไม่เคยรับสิทธิ จำนวน 23 คน 




     ทั้งนี้ กรมฯ ได้ชุดปฏิบัติการ 9 ชุด ในการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน เยี่ยมชุมชน ใช้เครื่องมือ “สมุดพกครัวเรือน” ในการสอบถาม รับฟังปัญหา เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวให้แก่ชุมชน ใน 6 มิติ ได้แก่ มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสังคม มิติด้านสุขภาพ มิติด้านสิ่งแวดล้อม มิติด้านความมั่นคง และมิติด้านการศึกษา

     กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พร้อมแก้ไขปัญหาสังคมด้วยการบูรณาการภาคีเครือข่ายทั้งภายในและภายนอก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเป้าหมายและชุมชนเปราะบาง นำไปสู่ “ครอบครัวมั่นคง มีความสุขในทุกมิติ” ต่อไป