22 กันยายน 2563

โลกออนไลน์เอื้อ “ยาปลอม” ระบาด ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย ผุดแคมเปญ

#YourHealthisPriceless ชวนรณรงค์ต่อต้านผลิตภัณฑ์ยาปลอม สร้างการตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคทั่วโลก


งานวิจัยทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ยาปลอมไม่สามารถรักษาอาการเจ็บป่วย และยังอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ป่วยและผู้บริโภคได้ เนื่องจากยาปลอมมีการแพร่ระบาดในตลาดการค้ามาเป็นเวลานาน และการไม่มีความตระหนักรู้ที่มากพอมักทำให้เกิดการบริโภคยาปลอมจนนำไปสู่อาการและโรคต่างๆ ตลอดจนถึงความพิการแบบถาวร หรือแม้แต่การเสียชีวิตของผู้บริโภค

ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย (IP Key South-East Asia) ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป เชื่อว่าสุขภาพของทุกคนเป็นสิ่งที่ประเมินค่ามิได้ จึงเปิดตัวแคมเปญออนไลน์ #YourHealthisPriceless เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายที่เกิดการใช้ยาปลอมและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพปลอม โดยให้ผู้บริโภคร่วมแบ่งปันประสบการณ์การใช้ผลิตภัณฑ์ยาปลอมผ่านสื่อสังคมออนไลน์

“แคมเปญ #YourHealthisPriceless คือการเน้นย้ำถึงพันธกิจของสหภาพยุโรปผ่านโครงการ ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย ในการสร้างความตระหนักรู้ด้านสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เราเชื่อมั่นว่าการแบ่งปันเรื่องราวจะช่วยให้เราตระหนักถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้บริโภครับทราบถึงลักษณะเด่นของผลิตภัณฑ์แท้ และซื้อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากแหล่งจำหน่ายที่ถูกต้องตามกฎหมาย” นายติอาโก เกียเรอิโร หัวหน้าโครงการ ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์เอเชีย กล่าว

ภัยคุกคามต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ
ผลิตภัณฑ์ยาปลอมคือยาที่ไม่มีคุณสมบัติสอดคล้องตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา จากข้อมูลการศึกษาเรื่องการค้าผลิตภัณฑ์ยาปลอม (Trade in Counterfeit Pharmaceutical Products) เมื่อเร็ว ๆ นี้โดยสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรป (European Union Intellectual Property Office : EUIPO) และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development - OECD) ระบุว่า โดยส่วนใหญ่แล้วหรือประมาณ 90% ของเคสผู้ป่วย พบว่ายาปลอมเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้ป่วย นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ยังรายงานในปี พ.ศ. 2560 ถึงเรื่องการเฝ้าระวังและระบบการตรวจสอบสากลขององค์การอนามัยโลกในเรื่องมาตรฐานและผลิตภัณฑ์ยาปลอม (WHO Global Surveillance and Monitoring System for Substandard and Falsified Medical Products) และประเมินว่าอาจมีเด็กที่อาจเสียชีวิตด้วยโรคปอดบวมจากการใช้ยาปลอมเป็นจำนวนราว 72,000 ถึง 169,000 คนในแต่ละปี