18 กรกฎาคม 2568

นิทรรศการศิลปะเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ และการประกาศผลการประกวดวาดภาพบนพัดจีบ สะท้อนสังคมยั่งยืนด้วย “พลังบวร”


กลุ่มศิลปาศรี ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงาน บวร ๑๐ นิทรรศการศิลปะเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และการประกวดวาดภาพบนพัดจีบครั้งที่ 2/2568 ในโครงการ



“กล้า ๙ ท่องกรุง” เพื่อร่วมถวายพระเกียรติ พระอัจฉริยภาพ และพระราชกรณียกิจด้วยศิลปะ เนื่องในวโรกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และแสดงถึงอุดมการณ์แห่งความจงรักภักดีที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ของปวงชนชาวไทยที่มุ่งสร้างสรรค์สังคมน่าอยู่อย่างยั่งยืนด้วย “พลังบวร” รายได้จากการจัดงานหลังหักค่าใช้จ่ายสมทบสร้างอาคารเรียนศูนย์การเรียนปลูกรากแก้วศาสนทายาท (รร.สามเณร) ภายในธรรมสถานเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ ๙ กาญจนาภิเษก



นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การประกวดในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทร รามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และเพื่อแสดงความจงรักภักดี รวมถึงอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดให้เห็นถึงคุณค่าความเป็นไทย อีกทั้งกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านศิลปะบนพัดจีบจากโครงการในพระราชดําริที่มีอยู่ทั่วประเทศ


การจัดงานในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 400 คน  ในนามของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เราขอชื่นชมในความตั้งใจของทุกท่านที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งสอดคล้องกับการดําเนินงานของ ททท.ที่ได้ให้ความสําคัญในการเผยแพร่และสร้างการรับรู้วัฒนธรรมประเพณีของไทย



ถือเป็น Soft Power ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ททท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานในครั้งนี้ จะเป็นแรงสนับสนุนให้เกิดการสืบทอด อนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรมไทย ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างต่อไป”


การจัดงานครั้งนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงอุดมการณ์แห่งความจงรักภักดี อันเป็นวิถีแห่งการสร้างสังคมที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนด้วย “พลังบวร” ที่มีการเกื้อกูล ส่งเสริม ช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับการประกวดครั้งนี้ ชิงรางวัลในโครงการ “กล้า ๙ ท่องกรุง” นี้เปิดโอกาสให้โรงเรียนระดับต่าง ๆ เข้าร่วมแข่งขัน ได้แก่ โรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนประถมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนมัธยมศึกษา ตอนต้น และโรงเรียนมัธยมศึกษา ตอนปลาย รวม 34 โรงเรียน และมีนักเรียนที่สนใจเข้าประกวดร่วม 300 คน


เพื่อเข้าชิงรางวัลกว่า 20 รางวัล ส่วนผู้ชนะเลิศจะได้รางวัลถ้วยรางวัลเกียรติยศ, โล่รางวัลเกียรติยศ, ประกาศนียบัตรสำหรับผู้เข้าร่วมการประกวด และอาจารย์ที่ปรึกษาทุกท่าน อีกทั้งได้รับทุนการศึกษาจำนวน 20 รางวัล รวมทั้งสิ้น 80,000 บาท ได้แก่ รางวัลชนะเลิศสำหรับโรงเรียนทุกประเภท รวม 4 รางวัล ๆ ละ 10,000บาท, รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 สำหรับโรงเรียนทุกประเภท รวม 4 รางวัล ๆ ละ 5,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 สำหรับโรงเรียนทุกประเภท รวม 4 รางวัล ๆ ละ 3,000 บาท และรางวัลชมเชย สำหรับโรงเรียนทุกประเภท รวม 8 รางวัล ๆ ละ 1,000 บาท


ผลประกวดผู้ชนะคือดังนี้

1.โรงเรียนพระปริยัติธรรม ผู้ชนะเลิศการแข่งขันได้รับถ้วยประทานจากสมเด็จพระสังฆราช และโล่เกียรติยศสำหรับรางวัลรองชนะเลิศ

ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศได้แก่ สามเณรคณพศ ผุดผ่อง โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดธรรมมงคล

2.โรงเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย ผู้ชนะเลิศการแข่งขันรับถ้วยเกียรติยศจากผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร และโล่เกียรติยศสำหรับรางวัลรองชนะเลิศ

ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประถมศึกษาตอนปลายได้แก่ ด.ญ.วรชยา นักเรียนชั้นป.4 โรงเรียนวัดภาษี

3.โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ผู้ชนะเลิศการแข่งขันรับถ้วยเกียรติยศจากกระทรวงวัฒนธรรม และโล่เกียรติยศสำหรับรางวัลรองชนะเลิศ







ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาตอนต้นได้แก่ ด.ช.ณิฐิพงศ์  ลักขษร

โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย

4.โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ผู้ชนะเลิศการแข่งขัน รับถ้วยเกียรติยศจากผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และโล่เกียรติยศสำหรับรางวัลรองชนะเลิศ

ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้แก่ นางสาวศุภาณิน  เสริมสุขโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร