ต้นแบบนวัตกรรมเชิงรุก รับมือสังคมสูงวัย
นายแพทย์ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผย ถึงสถานการณ์ประชากรไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยปัจจุบันมีผู้สูงวัยมากกว่า 14 ล้านคน หรือราว 20% ของประชากรทั้งหมด และจากอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าภายในปี 2571 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ Super Aged Society หรือ สังคมสูงวัยระดับสุดยอด ซึ่งมีสัดส่วนผู้สูงอายุเกินกว่า 28% ของประชากรทั้งหมด แนวโน้มนี้ไม่ใช่เพียงตัวเลขทางสถิติ แต่คือโจทย์ใหญ่ที่ระบบสาธารณสุขและสังคมไทยต้องเร่งปรับตัวและวางแผนรับมืออย่างเป็นระบบและครอบคลุม
สถิติจากกรมการแพทย์ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยพบว่าผู้ป่วยในโรงพยาบาลรัฐกว่า 1 ใน 3 เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่เผชิญกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะสมองเสื่อม หรือโรคหลอดเลือดสมอง ที่ต้องการการดูแลต่อเนื่องเป็นพิเศษ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านการเดินทาง การเข้าถึงสถานพยาบาล หรือแม้แต่คิวการรอรับบริการ ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทหรือกึ่งเมืองที่ห่างไกล ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นได้ทันท่วงที “เราจึงต้องออกแบบระบบบริการแบบใหม่ ที่ไม่รอให้ประชาชนเดินทางมาโรงพยาบาล แต่เดินทางเข้าไปหาประชาชนแทน ซึ่งรถตรวจสุขภาพสูงวัยเคลื่อนที่ คือคำตอบของสิ่งนี้”
กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ดูแลรักษาสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีกรมต่างๆที่มีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไป แต่ประเด็นที่สำคัญและเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนให้สำเร็จ คือการบูรณาการ ที่ต้องมีเป้าหมายในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเป็น Active and Healthy Aging ให้สามารถดูแลตนเองได้ยาวนานที่สุด เข้าสู่ภาวะพึ่งพิงช้าที่สุด และสามารถอยู่ในที่ตั้ง ได้อย่างมีความสุข หรือ Aging In Placeการบูรณาการนี้ไม่เพียงแค่การทำงานร่วมกัน แต่เป็นการหลอมรวมทรัพยากร ความรู้ และประสบการณ์ เพื่อสร้างระบบที่แข็งแกร่งและยั่งยืน
นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า รถตรวจสุขภาพสูงวัยเคลื่อนที่เป็นนวัตกรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อลดช่องว่างของข้อจำกัดในการเข้ารับบริการในสถานพยาบาล โดยปรับการให้บริการจากเชิงรับเป็นเชิงรุก นำบริการทางการแพทย์เฉพาะทางออกไปถึงชุมชนและกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง โดยแนวคิดของกรมการแพทย์ที่พัฒนา คิดค้น จัดระบบการให้บริการสุขภาพด้วยรถเคลื่อนที่นี้ เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการ ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และทำให้ผู้สูงอายุที่มีความเจ็บป่วยหรือมีความเสี่ยง สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ
“จากข้อมูลที่ทราบมาคือ รถ 1 คัน จะช่วยลดช่องว่างการเข้าถึงบริการของผู้สูงอายุได้ 12% ต่อปี ดังนั้น อยากแนะนำให้พื้นที่ห่างไกล หรือจังหวัดที่มีลักษณะที่ตั้งที่เดินทางเข้าถึงสถานพยาบาลได้ยากลำบาก ควรนำแนวคิดรถตรวจสุขภาพสูงวัยเคลื่อนที่คันนี้ ไปใช้เพื่อเพิ่มการเข้าถึงของประชาชนในพื้นที่ได้ และยังช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุในพื้นที่ได้”
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โครงการรถตรวจสุขภาพสูงวัยเคลื่อนที่ เป็นผลลัพธ์จากแนวนโยบายที่ชัดเจนของกระทรวง ภายใต้แนวคิด “ทำดีที่สุด เพื่อทุกชีวิต” ที่เน้นการออกแบบบริการสุขภาพที่ตอบโจทย์ประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง ไม่มีผู้ดูแล หรือเดินทางลำบาก เป็นคลินิกเคลื่อนที่ครบวงจร สามารถให้บริหารตรวจสุขภาพพื้นฐาน ตรวจโภชนาการ สุขภาพช่องปาก วัคซีน การคัดกรองภาวะสมองเสื่อม ภาวะหกล้ม รวมถึงเชื่อมต่อระบบ Telemedicine กับแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ” นายแพทย์ทวีศิลป์อธิบายถึงขีดความสามารถของรถคันนี้
ทั้งนี้รถแต่ละคันยังติดตั้งระบบดิจิทัลที่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลโรงพยาบาล เพื่อวางแผนการดูแลต่อเนื่องและติดตามผลได้จริง ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างเทคโนโลยี บุคลากร และชุมชนอย่างแท้จริง สะท้อนถึงการออกแบบที่คิดค้นมาอย่างรอบด้านสุขภาพผู้สูงอายุในเบื้องต้นในชุมชน พบว่าประมาณ 20% มีความเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างน้อย 1 เรื่อง และที่น่ากังวลคือ พบว่าผู้สูงอายุถึง 38% มีโรคประจำตัวมากกว่า 2 โรคขึ้นไป พบมากที่สุดคือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2567 ระบุว่า ผู้สูงอายุในประเทศไทยมากกว่า 38% มีโรคประจำตัวมากกว่า 2 โรคขึ้นไป โดยโรคที่พบบ่อย ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ และภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง
สถิติจาก สปชส. ยังชี้ว่าการใช้บริการของผู้สูงอายุใน OPD เพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 2% หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 1,700,000 ครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความแออัดในสถานพยาบาลอย่างมาก กรมการแพทย์ ในฐานะกรมวิชาการและมีสถาบันเฉพาะทางด้านผู้สูงอายุ จึงได้คิดค้นออกแบบบริการที่จะนำไปส่งต่อบริการเฉพาะด้านผู้สูงอายุ ให้แก่ผู้ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึง จึงออกแบบรถตรวจสุขภาพสูงวัยคันนี้ และเริ่มนำร่องในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 4 และจะขยายไปอีกในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป