มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมการันตีต้นแบบในการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน
บริษัท ซีพีแรม จำกัด (CPRAM) ผู้นำด้านอุตสาหกรรมอาหารพร้อมรับประทาน สร้างความภาคภูมิใจแก่อุตสาหกรรมอาหารไทย ได้รับเลือกให้เป็นต้นแบบในการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน และเป็นบริษัทแรกในเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือเครือซีพี ที่ได้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม หรือ มอก.9999 ตามกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศใช้มาตรฐานดังกล่าว เพื่อส่งเสริมให้องค์กรอุตสาหกรรมไทยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างระบบการจัดการขององค์กรให้สมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับธุรกิจในยุคที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ผ่านหลักการสำคัญ 3 ด้าน คือ “ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี” บนพื้นฐานของ “ความรู้และคุณธรรม” โดยได้รับเกียรติจาก นายจงรักษ์ โรจน์พลาเสถียร ผู้อำนวยการสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ เป็นผู้มอบประกาศนียบัตร มอก.9999 โดยมี นายชุมพล ลีละศุภพงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด เป็นผู้รับมอบประกาศนียบัตร มอก.9999 ณ ห้อง Auditorium ชั้น 6 อาคารทรู ดิจิทัล พาร์ค (TDPK) กรุงเทพฯ
ในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนี้ แนวคิดความยั่งยืนจึงไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่กลายเป็นเข็มทิศสำคัญของการดำเนินธุรกิจที่มั่นคง ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือเครือซีพีได้ให้ความสำคัญและนำมาประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง โดยบริษัท ซีพีแรม จำกัด เป็นผู้นำร่องในการนำมาตรฐาน มอก.9999 มาปรับใช้ภายในองค์กร ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ยึดมั่นใน 4 หลักการสำคัญคือ การทำงานร่วมกัน เคารพประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การทำงานแบบบูรณาการ และการทำงานเชิงระบบ โดยมาตรฐานนี้จะเข้ามาช่วยสร้างความสมดุลในห่วงโซ่อุปทาน ที่ทำให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็น พนักงาน คู่ค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ไม่ใช่แค่พัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพแต่ยังช่วย “พัฒนาคน” ให้เป็นคนดีมีคุณค่าพร้อมขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าอย่างสมดุลกับสังคมและสิ่งแวดล้อม มาตรฐานนี้คือรากฐานของความยั่งยืนที่แท้จริง ทั้งต่อตัวเรา องค์กร และสังคมโดยรวม
มาตรฐาน “มอก.9999” ยังแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของซีพีแรมในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกองค์กรในทุกมิติ ผ่านกระบวนการคิดและการตัดสินใจบนหลักเหตุผล ความรัดกุม และคำนึงถึงความเหมาะสมอย่างรอบด้าน เพื่อวางรากฐานธุรกิจที่มั่นคงในระยะยาวควบคู่ไปกับการสร้างสมดุลระหว่างการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสร้างความสุขให้กับผู้คนทั้งองค์กร
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ซีพีแรมได้รับมาตรฐาน “มอก.9999” ก็คือตลอดระยะเวลากว่า 18 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ดำเนิน “โครงการเกษตรกรคู่ชีวิต” มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนถึงการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้จริงในระดับชุมชน ผ่านการส่งเสริมอาชีพโดยคำนึงถึงความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่เป็นหลัก โดยพิจารณาตามความเหมาะสมด้านพื้นฐานอาชีพและทรัพยากรที่มีอยู่ ทั้งยังมีการคัดเลือกเกษตรกรที่มีความพร้อมให้มาพัฒนาระบบงานไปพร้อม ๆ กับบริษัท โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยผ่านการพัฒนาองค์ความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม และการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การเพาะปลูกตามมาตรฐาน GAP การส่งเสริมให้สามารถวางแผนการผลิตที่ยั่งยืนเพื่อเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการ ไปจนถึงการรับซื้อผลผลิตในราคาที่เหมาะสม ส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถนำความรู้และประสบการณ์มาเป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในอนาคตได้ด้วยตนเอง และอีกมากมาย
หนึ่งในความสำเร็จที่โดดเด่นคือการส่งเสริมให้ชุมชนเกษตรกรรอบๆ โรงงานซีพีแรม ทำการเพาะปลูก “กะเพรา” จากเมล็ดพันธุ์ที่มีศักยภาพในการเพาะปลูกมีผลผลิตที่ดีมีกลิ่นหอม ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในเมนูยอดนิยม “ข้าวกะเพรา” ของซีพีแรมที่จัดจำหน่ายอย่างแพร่หลายในร้าน 7-Eleven ทั่วประเทศ พร้อมตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสะท้อนถึงการเชื่อมโยงเศรษฐกิจระดับฐานราก เข้ากับอุตสาหกรรมอาหารระดับประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม
ด้วยวิสัยทัศน์ “เรามุ่งมั่นในการส่งมอบอาหารคุณภาพ เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน” ที่ยึดมั่นในคุณภาพ ความยั่งยืน และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซีพีแรมยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารที่เปี่ยมด้วยความอร่อย ปลอดภัย และให้คุณค่าทางโภชนาการ พร้อมดูแลสิ่งแวดล้อมและยืนหยัดเคียงข้างสังคมไทย เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน และเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมอาหารไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง พร้อมสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับโลกใบนี้อย่างยั่งยืนต่อไป