“วัฒนธรรมละมุน ธรรมชาติละไม เที่ยวสุขใจที่พริบพรี”
เมื่อวันที่ 25-26 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี โดยอาจารย์ ดร.มธุรส ปราบไพรี อาจารย์ ดร.มลทิชาโอซาวะ และ อาจารย์ ดร.อัจฉราวรรณ เพ็ญวันศุกร์ จัดกิจกรรมทดสอบเส้นทางและกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดเพชรบุรี “วัฒนธรรมละมุน ธรรมชาติละไม เที่ยวสุขใจที่พริบพรี” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยเรื่อง การพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อยกระดับเมืองสร้างสรรค์ของจังหวัดเพชรบุรี ภายใต้แผนงานวิจัยการพัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อยกระดับเมืองสร้างสรรค์ของจังหวัดเพชรบุรี ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) โดยครั้งนี้ได้นำภาคีที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเพชรบุรีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และคณะนักท่องเที่ยว เยือนชุมชนบางตะบูน ชุมชนย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี ชุมชนบ้านถ้ำเสือ จำนวนกว่า 50 ราย โดยมี ผอ. ดวงใจ คุ้มสอาด ผอ.ททท.สำนักงานเพชรบุรี ร่วมเดินทาง
อาจารย์ ดร.มธุรส ปราบไพรี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ผู้รับผิดชอบกิจกรรมในครั้งนี้ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการทดสอบกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อประเมินเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ได้ออกแบบขึ้นมา ศึกษาความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวและภาคีที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การพัฒนาและส่งเสริมเส้นทางและกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เหมาะสมของจังหวัดเพชรบุรี
หลักการของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีทั้งหมด 7 อ. ได้แก่ อ.1 คือ อาหาร รับประทานอาหารของท้องถิ่นที่ผ่านการปรุงและใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น มีคุณค่าทางโภชนาการ ปลอดสารและปลอดภัย เช่น อาหารที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดความเค็ม ความหวาน เป็นต้น
อ.2 อากาศ อยู่ในพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่อากาศที่สะอาด บริสุทธิ์ มีความเป็นธรรมชาติ สร้างความสดชื่นเพื่อช่วยให้ปอดได้พักและรับออกซิเจน พื้นที่แหล่งท่องเที่ยวไม่แออัดและไม่มีมลพิษสูง เช่น ฝุ่น PM 2.5, ควัน, และสารเคมีโลหะหนัก เป็นต้น
อ.3 ออกกำลังกาย การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมเพื่อบริหารร่างกายให้เกิดการเคลื่อนไหว ช่วยให้หัวใจทำงานได้ดี เพิ่มการกระตุ้นให้โลหิตไหลเวียนดี เสริมสร้างกล้ามเนื้อ บำบัดความเครียด ลดอาการเจ็บปวดบางอย่าง และช่วยให้ระบบประสาททำงานดีขึ้น
อ.4 อารมณ์ มีอารมณ์รื่นเริง ยินดี มีความสุข ผ่อนคลาย สนุกสนาน มีจิตแจ่มใส และเพลิดเพลิน จากการทำกิจกรรมหรือการได้รับประสบการณ์ในการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน
อ.5 อดิเรก ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ เพิ่มพูนคุณค่า มีคุณค่าทั้งร่างกายและจิตใจ สร้างความสุข และสนุกสนาน
อ.6 อนามัย แหล่งท่องเที่ยว สินค้า และบริการที่มีความสะอาดและมีมาตรฐานด้านความปลอดภัย
อ.7 อนุรักษ์ ใส่ใจและตระหนักการสร้างพฤติกรรมที่ยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม เช่น การลดการใช้พลาสติก การจัดการขยะ การรักษาธรรมชาติ การสนับสนุนวัฒนธรรมพื้นบ้าน และการกระตุ้นจิตสำนึกในการดูแลโลกและตัวเอง”
อาจารย์ ดร.มธุรส ปราบไพรี กล่าวต่อว่า ทางคณะผู้จัดการทดสอบได้กำหนดลงพื้นที่ชุมชนเพื่อทำกิจกรรมไว้ 3 ชุมชน คือบางตะบูน อำเภอบางตะบูน จังหวัดเพชรบุรี ชุมชนย่านเมืองเก่าริมน้ำเพชรบุรี อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ชุมชนบ้านถ้ำเสือ อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยถือเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งด้านศักยภาพในการจัดการท่องเที่ยวและมีวัฒนธรรมที่โดดเด่น ในทั้ง 7 อ. ดังที่กล่าวมาแล้ว
อย่างชุมชนบางตะบูน ก็จัดให้มีการล่องเรือเพื่อชื่นชมและเพลิดเพลินไปกับวิถีชุมชนชาวประมง ทางนักท่องเที่ยวนอกจากจะได้ล่องเรือสัมผัสกับบรรยากาศของผืนน้ำและชุมชนสองฝั่งแม่น้ำ ยังมีการจัดให้ชมการเลี้ยง หอยนางรม หอยแครง หอยแมลงภู่ บริเวณปากอ่าวบางตะบูน ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งเลี้ยงหอยอันดับต้นๆของประเทศ ซึ่งบริเวณท่าน้ำวัดปากอ่าวบางตะบูนมีเรือสำหรับนำนักท่องเที่ยวโดยไต๋เรือชาวชุมชนคอยให้การต้อนรับ
ผู้จัดกิจกรรมกล่าวต่อว่า “นอกจากนี้ก่อนที่จะล่องเรือ ทางคณะผู้จัดฯ ได้นำสู่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เทศบาลตำบลบางตะบูน เพื่อทำเวิร์คช็อป การทำผ้ามัดย้อม การนำวัสดุเหลือใช้เช่นแห อวนมาถักทอเป็นกระเป๋าใส่ของใช้ การทำขนมโบราณ การใช้ปลิงบำบัดนำเสนอการรักษาสุขภาพโดยปลิง
ร้านยุ้งเกลือ ร้านอาหารที่ตั้งอยู่ที่บ้านแหลม ที่ที่ไม่ใช่เพียงแค่ร้านอาหารที่มีวิวสวยแต่อาหารอร่อย แต่ถือเป็นร้านที่มีตำนานของชุมชนนาเกลือที่ทำนาเกลือมากว่าแปดสิบปี และบอกเล่าเรื่องราวผ่านพิพิธภัณฑ์ของทางร้านโดยคนรุ่นที่สี่
การเยือนชุมชนย่านเมืองเก่าริมน้ำเพชรบุรี อำเภอเมือง เริ่มต้นกิจกรรมจากที่พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดพลับพลาชัย ด้วยการเวิร์คช็อปเรียนรู้การตอกกระดาษ ก่อนจะพาคณะเดินชมชุมชนเก่าริมน้ำ เดินชมสตรีทอาร์ทและวิถีชุมชน นมัสการหลวงพ่อวัดมหาธาตุ ก่อนจะกลับมาทานอาหารในแบบขันโตกโดยนำเสนออาหารเชิงสุขภาพ พร้อมกับรับชมหนังใหญ่และการฝึกเชิดหนังใหญ่ การแสดงละครชาตรีละครพื้นบ้านที่ส่งต่อทางวัฒนธรรมจากเด็กๆ และชาวชุมชน โดยพี่น้อย - คุณรมยกรณ์ เอราวัณ
ในวันถัดมา เป็นการทำกิจกรรมที่ชุมชนถ้ำเสือที่ขึ้นชื่อด้านชุมชนท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ จัดให้ร่วมกิจกรรมสาธิตทำทองม้วนเงินล้าน ทองม้วนน้ำตาลโตนด โดย คุณยายวรรณา อินมี ผู้คิดสูตร เรียนรู้กิจกรรมเสือ
ปั้นไข่ สอนการทำไข่เค็มหมักดอกอัญชัญ การร่วมอนุรักษ์ป่าด้วยการนำเมล็ดพันธ์พืชไม้ยืนต้นไปปั้นดินยิงหนังสติ๊กเพื่อปลูกป่าโดย พี่น้อย - คุณสุเทพ พิมพ์ศิริ เป็นกิจกรรมสุดท้าย”
ทั้งนี้ หลังจากการทดสอบเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทางคณะผู้จัดกิจกรรมในครั้งนี้จะนำข้อเสนอแนะ ความคิดเห็นต่างๆ จากผู้ร่วมกิจกรรมเพื่อนำไปปรับปรุงและนำเสนอแก่หน่วยงานที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวต่อไป