07 ตุลาคม 2567

ทีเส็บ เดินหน้าโชว์ศักยภาพภาคตะวันออก

จัดกิจกรรมแฟมทริป สัมผัสเส้นทางในพื้นที่อีอีซี


7 ตุลาคม 2567: ทีเส็บ โชว์ศักยภาพภาคตะวันออก จัดกิจกรรมแฟมทริป นำคณะผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการไมซ์ และสื่อมวลชน สัมผัสเส้นทางในพื้นที่อีอีซี ตะลุยจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มุ่งสร้างการรับรู้สินค้าและบริการด้านไมซ์ในภูมิภาคตะวันออก เพื่อรองรับการจัดงานไมซ์ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ

นายภูริพันธ์ บุนนาค รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า อุตสาหกรรมไมซ์ภาคตะวันออก อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการลงทุน มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีอัตราการเพิ่มขึ้นของนักเดินทางท่องเที่ยว นักธุรกิจ และนักลงทุน โดยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ภาคตะวันออกจะนำไปสู่การกระจายความเจริญและรายได้สู่ชุมชนในภูมิภาค อีกทั้งยังตอบโจทย์แผนยุทธศาสตร์ไมซ์ 20 ปี รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศด้วย





“ทีเส็บ ดำเนินการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2566 มีงานไมซ์เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกทั้งงานไมซ์ในประเทศและงานไมซ์นานาชาติจำนวน 2,261 งาน สร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ภาคตะวันออกกว่า 10,979 ล้านบาท” 




นายภูริพันธ์ กล่าวต่อว่า
 การเดินหน้าโชว์ศักยภาพภาคตะวันออกของทีเส็บในปีนี้ ได้จัดกิจกรรม    แฟมทริป นำคณะผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการไมซ์ และสื่อมวลชน ร่วมสัมผัสเส้นทางในพื้นที่อีอีซี ระหว่างวันที่ 7-9 ตุลาคม 2567 ณ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อสร้างการรับรู้สินค้าและบริการด้านไมซ์ในภูมิภาคตะวันออก ถึงความพร้อมในการรองรับการจัดงานไมซ์ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ







กิจกรรมแฟมทริปในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “FAM TRIP: One More Step of a Prosperous EEC ก้าว
ไปอีกขั้น...มุ่งสู่ความสำเร็จ” โดยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการไมซ์ และสื่อมวลชนกว่า 30 ราย จะได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่ผ่านความหลากหลายของอัตลักษณ์เชิงพื้นที่และสัมผัสกับประสบการณ์ตรงที่มีคุณค่าทั้งในด้านความพร้อมเชิงโครงสร้างของภาคตะวันออก ความพร้อมของการจัดงานไมซ์ รวมถึงการสัมผัสกับสินค้าและการใช้บริการไมซ์ในพื้นที่ดังกล่าว อาทิ การเยี่ยมชม “ตั้ง เซ่ง จั้ว แสนภูดาษ” ร้านขนมเปี๊ยะของฝากในรูปแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์นไชนีส ซึ่งออกแบบโดยอาจารย์ชาตรี ลดาลลิตสกุล ศิลปินแห่งชาติ พร้อมการเรียนรู้และเข้าใจวิธีการทำขนมเปี๊ยะ การเยี่ยมชม “EEC Automation Park” มหาวิทยาลัยบูรพา พร้อมศึกษาดูงานสายการผลิต (Model Line of Smart Factory) ระบบจัดเก็บอัตโนมัติ (Automated Storage/Retrieval System) และโรงประลองต้นแบบวิศวกรรม (Fabrication Laboratory)








อีกทั้ง ยังได้เข้าร่วมงาน “Mini EEC Fair 2024” ซึ่งถือเป็นงานสำคัญในการนำเสนอข้อมูลและโอกาสทางธุรกิจให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยมีไฮไลท์สำคัญภายในงาน ประกอบด้วย ปาฐกถาพิเศษ "EEC Opportunities: Investment Solution Towards Sustainable Locals" โดย ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาฯ
อีอีซี การเสวนา "บทบาทภาคการเงินในการสนับสนุนการลงทุนใน อีอีซี" โดยผู้แทนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินชั้นนำ การนำเสนอสิทธิประโยชน์และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงการจับคู่เจรจาธุรกิจ (Business Matching)





นอกจากนี้ ยังเข้าเยี่ยมชม “ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง–พัทยา” (U-TAPAO Rayong PattayaInternational Airport) เพื่อเยี่ยมชมศักยภาพในการรองรับผู้ใช้บริการในปัจจุบันและอนาคต การร่วมกิจกรรม “ชุมชนบ้านทะเลน้อย” สัมผัสวิถีชีวิตการปลูกผักกระชับ ซึ่งเป็นผักพื้นถิ่นบ้านทะเลน้อย การทำอาหารกับเชฟชุมชน เมนูยำผักกระชับการเยี่ยมชมวังจันทร์  วัลเลย์ “สวนป่าวังจันทร์” พร้อมศึกษาดูงาน

ณ อาคารบ้านต้นไม้ ที่ตั้งของนิทรรศการปลูกป่า โดยได้รวบรวมองค์ความรู้จากประสบการณ์การดำเนินโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ ทั่วประเทศของ ปตท. ไว้อย่างครบถ้วน


ปิดท้ายด้วยการเยี่ยมชม “เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of  Innovation: EECi)” เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้าของไทย ที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการขยายขนาดงานวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ระบบอัจฉริยะ เป็นต้น