กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผย“อาหารสัตว์เลี้ยง”มีโอกาสขยายตลาดส่งออกฟิลิปปินส์ หลังชาวฟิลิปปินส์นิยมเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น แนะคุมเข้มคุณภาพ มาตรฐาน พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดึงดูด และร่วมมือกับคู่ค้าในการทำตลาดต่อเนื่อง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และสร้างการจดจำ
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า จากการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่างๆอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับข้อมูลจากนางสาวจันทนา โชติมุณี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ ถึงโอกาสในการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงเข้าสู่ตลาดฟิลิปปินส์ เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากแนวโน้มการเติบโตของประชากรที่นิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น โดยมีข้อมูลยืนยันจากการสำรวจของบริษัทราคูเท็น (Rakuten) ที่พบว่าใน
ปี 2564 อัตราการเป็นเจ้าของสุนัขของฟิลิปปินส์สูงที่สุดในเอเชียที่ร้อยละ 67 และอัตราความเป็นเจ้าของแมวสูงเป็นอันดับ 2 ที่ร้อยละ 43
ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ยังได้รายงานข้อมูลเพิ่มเติมว่า Global.Agricultural.Information.Network ของหน่วยงาน Foreign Agricultural Service (FAS) ภายใต้กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ได้ระบุความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยง ของฟิลิปปินส์ ในปี 2566 คาดว่าจะมีมูลค่า 434 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เนื่องจากจำนวนผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นและเทรนด์การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในบ้านที่ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราการเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงและยอดจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยงในฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นอย่างมาก
นอกจากนี้ ตามรายงานของ USDA-FAS ยังได้คาดการณ์การเติบโตของอาหารสัตว์เลี้ยงในแต่ละหมวดหมู่ว่าในปี 2566 ตลาดอาหารสุนัขแบบแห้ง (Dry Dog Food) จะเติบโตร้อยละ 9 และอาหารแมวแบบเปียก (Wet Cat Food) จะเติบโตร้อยละ 13 ในขณะที่ผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับนก ปลา และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ขนาดเล็ก จะมีการเติบโตเพียงเล็กน้อย โดยตลาดผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ดังกล่าว มีมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 4 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีมาตั้งแต่ปี 2560 และ USDA-FAS ยังระบุเพิ่มเติมว่าฟิลิปปินส์เป็นตลาดส่งออกใหญ่อันดับ 9 สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขและแมวของสหรัฐฯ และยังเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรใหญ่เป็นอันดับ 7 ของสหรัฐฯ โดยในปี 2564 พบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขและแมวไปยังฟิลิปปินส์มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมาก และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องในปี 2566 โดยส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขและแมวนำเข้าของฟิลิปปินส์จะนำเข้าจากประเทศไทย สหรัฐฯ และยุโรปเป็นหลักขณะเดียวกัน ข้อมูลของ USDA–FAS ยังระบุด้วยว่า แม้ในช่วงที่ผ่านมา จะมีจำนวนผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงในท้องถิ่นจำนวนมากขึ้น แต่เจ้าของสัตว์เลี้ยงพันธุ์แท้ในฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ยังคงนิยมชื่นชอบอาหารสัตว์เลี้ยงนำเข้ามากกว่าและยังพบว่าแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงนำเข้า มีการเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ รวมถึงเครือข่ายร้านจำหน่ายสัตว์เลี้ยง ซึ่งช่วยนำเสนอโอกาสในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ของแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงนำเข้าใหม่ ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง
นายภูสิต กล่าวว่า จากค่าความนิยมการเลี้ยงสัตว์ที่เติบโตขึ้นในฟิลิปปินส์ ได้รับปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์มีกำลังการซื้อสัตว์มาเลี้ยงมากขึ้น และชาวฟิลิปปินส์ยังมีวัฒนธรรมและมุมมองว่าสัตว์เลี้ยงเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในครอบครัว และในช่วงโควิด-19
ที่ผ่านมา ชาวฟิลิปปินส์ได้หันมาเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นเพราะต้องการมีสัตว์เลี้ยงเพื่อคลายความเหงา และสร้างกิจกรรมขณะอยู่บ้าน ทำให้จำนวนการเลี้ยงสัตว์ในฟิลิปปินส์เติบโต และตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงก็เติบโตตามไปด้วย และยังพบว่าพฤติกรรมเจ้าของสัตว์เลี้ยงชาวฟิลิปปินส์ นิยมเลือกซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงนำเข้ามากกว่าอาหารสัตว์ในเลี้ยงท้องถิ่น เนื่องจากเชื่อมั่นในคุณภาพและมีความน่าเชื่อถือสูงกว่า ทำให้ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพและเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย
“ปัจจุบันอาหารสัตว์ของไทย ได้รับความนิยมในลำดับต้น ๆ เพราะได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน โดยในปี 2565 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงไปยังฟิลิปปินส์มูลค่า 4,238.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.19 และคาดว่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในปี 2566 ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรใช้กลยุทธ์ผสมผสาน
ทั้งการกำหนดราคาที่แข่งขันได้และการสร้างแบรนด์ โดยอาจร่วมกับคู่ค้าในฟิลิปปินส์จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเพื่อสร้างภาพลักษณ์ ความตระหนักรู้ในแบรนด์สินค้าให้เป็นที่จดจำ และต้องรักษาคุณภาพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจ ตรงตามที่ผู้บริโภคต้องการ จะทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ดีขึ้น และเป็นที่ต้องการมากขึ้น”นายภูสิตกล่าว
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169