02 กันยายน 2565

เปิดอาณาจักรเส้นผม MCIC และแบรนด์ Dcash กับกลยุทธ์ยุคใหม่รุกตลาด B2C เต็มตัว ปั้นรายได้ 1,500 ล้าน


โมเดิรน์คาส อินเตอร์เนชั่นแนล คอสเมติคส์ (MCIC) เปิดกลยุทธ์แบรนด์ Dcash Professional เตรียมรุกตลาด B2C หลังจับโอกาสผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมเทรนด์ผมพุ่งแรง มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์เส้นผมแนวคิดใหม่ตอบโจทย์ end-consumer พร้อมเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ครอบคลุมลูกค้าในและต่างประเทศ ขยายไลน์ OEM อาหารเสริมและบรรจุภัณฑ์ สร้างรายได้หลังฟื้นโควิด ตั้งเป้า 1,500 ล้านบาทในปี 2566 พร้อมเตรียมบุกตลาดโลกร่วมโชว์ผลิตภัณฑ์ในงาน “Cosmoprof CBE ASEAN 2022” วันที่ 15-17 กันยายน 2565 นี้ ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี อีกด้วย

นางสาวประภาวรินทร์ สฤษฏ์เลิศธรสิน OEM Manager บริษัท โมเดิรน์คาส อินเตอร์เนชั่นแนล คอสเมติคส์ จำกัด กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของ MCIC Group อาณาจักรความงามด้านเส้นผมรายใหญ่ของประเทศ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2525 หัวหน้าครอบครัวสฤษฏ์เลิศธรสิน เริ่มทำธุรกิจขายน้ำยาดัดผมในซอยเฉลิมพระเกียรติ ร.9 และขยายไปถึงแขวงคลองตัน จนเป็นที่รู้จักของร้านค้าและร้านเสริมสวยในย่านนั้น ก่อนจะก่อตั้งเป็นบริษัท พร้อมกับการสร้างแบรนด์ Dcash Professional ขึ้นมาในปี 2538




 “ตอนนั้นแบรนด์ Dcash จะเน้นทำผลิตภัณฑ์สีผมส่งตามซาลอนเป็นหลัก ดังนั้นในยุคสมัยนี้บางคนอาจไม่รู้จัก Dcash ในแบบสินค้าที่ใช้กันได้เอง แต่จะมองว่าสินค้าอย่าง ครีมย้อม ครีมยืด ครีมดัด เป็นของที่ใช้ตามร้านทำผมเสียส่วนมาก ตอนนี้เราจึงพยายามปรับภาพลักษณ์ และสร้างกลยุทธ์ต่าง ๆ ในการเข้าหาลูกค้า end-consumer มากขึ้น ซึ่งไทม์มิ่งหลังสถานการณ์โควิดมีการเปลี่ยนแปลงที่สร้างผลบวกให้กับเราอย่างมาก ทั้งด้านเทรนด์ผมและพฤติกรรมของผู้บริโภค”

 แม้โรคระบาดโควิดระลอกแรก จะทำให้ธุรกิจของ MCIC ชะงักไปบ้างจากร้านซาลอนที่เป็น margin ใหญ่ถูกสั่งปิดชั่วคราว แต่ผู้บริหารหญิงเผยว่าบริษัทยังมีโชคอยู่บ้าง จากการที่เริ่มมีสินค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์บ้างแล้ว รวมถึงจุดแข็งของสินค้าบนเชลฟ์ convenience store ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศไม่ได้รับผลกระทบตามไปด้วย ทำให้บริษัทสามารถประคองตัวและพลิกสถานการณ์กลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมในโควิดระลอก 2-3-4

 “ปัจจัยที่ทำให้เทรนด์เรื่องผมกลับมาอยู่ในโฟกัส คือการที่คนใส่หน้ากากมีการดูแลใบหน้าน้อยลง และหันมาดูแลเรื่องเส้นผมกันมากขึ้น บวกกับคนยุคใหม่เปิดรับเทรนด์สีผมที่ต่างไปจากเดิม มีการทำสีแฟชั่น มีการเสิร์จหาวิธีทำสีด้วยตัวเองที่บ้าน ซึ่งพอเรื่องสีผมเข้ามาอยู่ในความสนใจของคน อีกผลิตภัณฑ์ที่เติบโตตามกันไปคือกลุ่ม hair care ที่ช่วยบำรุงเส้นผมในขณะทำสี” นางสาวประภาวรินทร์ กล่าวพร้อมให้ความมั่นใจเสริมว่าผลิตภัณฑ์ที่ MCIC วิจัยและพัฒนามาเป็นอย่างดี จะตอบความต้องการของผู้บริโภคได้แน่นอน

โดยในหัวข้อนี้ นางสาวนาฏสินี เชมนะสิริ International Business Development Manager บริษัท โมเดิรน์คาส อินเตอร์เนชั่นแนล คอสเมติคส์ จำกัด ได้ให้ข้อมูลว่า Dcash เป็นแบรนด์ที่อยู่ในวงการแฟชั่นสีผมมานานกว่า 40 ปี และเติบโตควบคู่กับการที่มีทีม R&D ที่เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ที่สร้างเส้นผมสุขภาพดีเหมาะกับคนเอเชีย รวมถึงมีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่แบ่งกลุ่มชัดเจน สำหรับการขายในกลุ่ม end-consumer และกลุ่ม salon shop

แบรนด์ Dcash Professional จะแบ่งหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์เป็น 6 ประเภท คือ ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม กลุ่มครีมย้อมและแชมพูเปลี่ยนสีผม, ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม กลุ่มทรีตเมนต์ เซรั่ม เนื้อโลชั่น สเปรย์ป้องกันความร้อน, ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม แบบมูสจัดแต่งทรง สเปรย์เซตผม แว็กซ์-เจลสำหรับผู้ชาย, ผลิตภัณฑ์น้ำยายืดและดัดผม, อุปกรณ์ทำผม ภายใต้แบรนด์ Dcash Next Power ในกลุ่มไดร์เป่าผม ที่หนีบผม และ อุปกรณ์ภายใต้แบรนด์ Dcash Tapas กลุ่มของแบตตาเลี่ยน หวี สเปรย์ต่าง ๆ สำหรับร้านบาร์เบอร์

  “จุดแข็งของบริษัทคือความพร้อมด้านการผลิต แต่ละไลน์ผลิตภัณฑ์จะมีทีม R&D ที่เชี่ยวชาญเฉพาะคอยดูแล มีความปลอดภัยในโรงงานที่ได้มาตรฐานสากล GMP ซึ่งนอกจากการพัฒนาสินค้ากันภายในแล้ว เรายังคอยพูดคุยกับ supplier ผู้ผลิต raw material รวมไปถึงทีม packaging ในลักษณะ Co project เพื่อให้ได้สินค้าคุณภาพดี ใช้งานง่าย และแตกต่างจากในตลาด ตอบโจทย์ครอบคลุมตลาด B2B และ B2C ทั้งในและต่างประเทศ” นางสาวนาฏสินี กล่าว

ปัจจุบัน MCIC Group มีรายได้ต่อปีประมาณ 1,200 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับมูลค่าของตลาดความงามด้านเส้นผมในไทย 40,000 ล้านบาท MCIC ต้องแข่งขันกับแบรนด์เกิดใหม่ ทั้งผู้ขายในประเทศและแบรนด์สินค้านำเข้า โดยนอกจากตลาดในประเทศแล้ว MCIC ยังต้องมองโอกาสการทำตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่ม CLMV รวมถึงตลาด OEM ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งหากรวมกับธุรกิจเครื่องสำอางที่กำลังกลับมา OEM Manager คาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถทำรายได้ถึง 1,500 ล้านบาท ในปี 2566

 โดย นางสาวประภาวรินทร์ ให้ข้อมูลว่า MCIC มีสัดส่วนรับทำ OEM คิดเป็น 30% ของการผลิต โดยนอกจากด้านสีผมที่เป็น specialized อยู่แล้ว ในปี 2565 บริษัทจะขยับตัวด้านธุรกิจ OEM มากขึ้นทั้งการขยายกำลังรับผลิตอาหารเสริมในกลุ่มผงชงดื่ม กาแฟ โปรตีน คอลลาเจน แคปซูล รวมถึง ready to drink ซึ่งเป็นข้อแตกต่างที่โรงงานอื่นไม่มี และยังมีการเปิดโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แบบขวดและกระปุกที่ขึ้นจากพลาสติก ซึ่งถือเป็นไลน์ผลิตใหม่ที่สามารถ customization ได้ตามความต้องการของลูกค้า

 ฝั่ง นางสาวนาฏสินี ได้เสริมถึงด้านตลาดต่างประเทศ โดย MCIC มีการขยายไปประมาณ 7 ประเทศทั่วโลก และเป็นผู้นำทางตลาดกัมพูชา พม่า และลาว โดยเน้นผลิตภัณฑ์เส้นผม รวมถึงผลิตภัณฑ์กลุ่มฟอกขนในส่วนสินค้าแบรนด์ X-Cute Me Simply ซึ่งหลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายและประเทศเริ่มเปิด MCIC จะมุ่งเน้นขยายตลาดเพิ่มไปที่ประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงมุ่งเน้นทางกลุ่มตะวันออกกลางมากขึ้นภายใน 3-5 ปี

 นอกจากนี้ สำหรับความเคลื่อนไหวด้านตลาดความงามในประเทศ MCIC จะเข้าร่วมงานแสดงสินค้า เพื่อธุรกิจความงามระดับโลก “Cosmoprof CBE ASEAN 2022” วันที่ 15-17 กันยายน 2565 นี้ ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีการขึ้นเวทีสาธิตผลิตภัณฑ์แชมพูย้อมสีผมสีแฟชั่นจาก Dcash ซึ่งถือเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภค รวมถึงมีการสาธิตเทคนิคการย้อมสีผมด้วยตัวเอง และจัดแสดงบรรจุภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มสีย้อมผมจากสารสกัดธรรมชาติที่ใช้แล้วสบายหัวไม่คันหนังศีรษะ โดยเน้นตอบโจทย์ end-consumer มากขึ้น