03 สิงหาคม 2565

พาณิชย์ - DITP” สร้างความสำเร็จ ร่วมกับ STeP ผ่านการบ่มเพาะ เพิ่มศักยภาพ ผู้ประกอบการไทย ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมสู่สากล กับโครงการ Future Lab

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (DITP) เผยความสำเร็จ โครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการไทยที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมสู่ตลาดสากล หรือ Future Lab ถือเป็นผลสัมฤทธิ์จากการ

บูรณาการต่อยอดผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคเหนือ ที่ผ่านการบ่มเพาะจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) มาต่อยอดทางการค้ามุ่งสู่ตลาดต่างประเทศ พัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ 15 แบรนด์ผลิตภัณฑ์ 

นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า โครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการไทยที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมสู่สากล หรือ Future Lab เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่กรมได้ดำเนินการตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ส่งเสริมและผลักดันการส่งออกสินค้าและบริการไทย ที่ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ของโลกในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม กรมฯ ได้เดินหน้าสร้างและส่งเสริมผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจด้วย BCG Economy Model เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยได้ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ในการพัฒนาเชื่อมโยงระหว่างการค้า การตลาด การวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน ส่งเสริม ต่อยอดมูลค่าเพิ่มด้านแบรนด์ และนวัตกรรม ให้กับผู้ประกอบการไทย ในกลุ่มหัตถอุตสาหกรรมสินค้าไลฟ์สไตล์ ในพื้นที่ภาคเหนือ 

โครงการ Future Lab เน้นส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถแข่งขันได้ และส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า บริการศักยภาพ ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี การใช้ประโยชน์ จากงานวิจัย การออกแบบ สร้างความแตกต่างของสินค้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงพัฒนาคุณภาพมาตรฐานและสร้างตราสินค้า ผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับ และการค้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการ 15 แบรนด์ผลิตภัณฑ์ ที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการนี้ สามารถนำไปปรับใช้ในการบริหารธุรกิจให้เติบโต มั่งคั่ง และยั่งยืน ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจในระดับนานาชาติ สามารถสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยต่อไป 

นางสาวประอรนุช ประนุช ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กล่าวว่า ผู้ประกอบการ 15 แบรนด์ผลิตภัณฑ์ ที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการ Future Lab ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - กรกฎาคม 2565 เกิดองค์ความรู้ผ่านกิจกรรมการอบรมเชิงลึกเพื่อเพิ่มมูลค่าธุรกิจ อภิปรายอบรมเชิงปฏิบัติการและพัฒนาเชิงลึก และให้คำปรึกษาเชิงลึกตัวต่อตัวระหว่างผู้ประกอบการและ

ผู้เชี่ยวชาญแล้ว ผู้ประกอบการยังมีโอกาสได้รับคู่มือการสร้างแบรนด์เฉพาะแบบ (Brand Book) รวมถึงแคตตาล็อกสินค้าออนไลน์ (E-Catalog) เพื่อใช้เป็นสื่อในการนำเสนอสินค้า สร้างภาพลักษณ์ และ story telling ของแบรนด์สินค้าแก่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และในกิจกรรม Pitching วันสุดท้ายก่อนการรับมอบประกาศนียบัตรนั้นยังได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญ และนักธุรกิจ/นักลงทุน (Buyers) ชั้นนำของประเทศ อาทิ บริษัท ไทยพาวิลเลี่ยน คอร์ปอเรท จำกัด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ลาซาด้า จำกัด เป็นต้น ร่วมให้คำแนะนำถึงโอกาสทางการค้า นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคม – กันยายน 2565 กรมฯ มีกิจกรรมส่งเสริมผู้ประกอบการโครงการ Future Lab สู่ตลาดต่างประเทศ โดยจัด Thai brand Festival  ที่ห้างสยามดิสคอเวอร์รี่ และ platform online รวมถึง กิจกรรม Online Business Matching ในเดือนกันยายนนี้ต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ กล่าวถึงโครงการ Future Lab เป็นโครงการที่ดีที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต ถือเป็นจุดเริ่นต้นของการปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวโน้มการค้าโลกในปัจจุบัน สามารถขยายตลาดได้ในวงกว้าง สร้างคุณค่าและความเข้มแข็งให้กับแบรนด์สินค้า และดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด BCG Economy Model ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยรวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าและบริการของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล 


สำหรับผู้ประกอบการทั้ง 15 แบรนด์ผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมสินค้าไลฟ์สไตล์ ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ 

1.ผู้ประกอบการจากจังหวัดเชียงใหม่ 13 แบรนด์ ได้แก่ 1) แบรนด์ วาสุ แผ่นผนังทําจากเส้นใยธรรมชาติที่สามารถดูดซับเสียงก้องสะท้อน

ได้ 2) แบรนด์ ปาป้า เปเปอร์ คราฟท์ กระดาษจากใยธรรมชาติ 3) แบรนด์ รักษ์บาติก ผืนผ้าเพ้นท์ด้วยสีธรรมชาติ 4) แบรนด์ สยามศิลาดล เครื่องปั้นดินเผา เคลือบด้วยขี้เถ้าไม้ ผสมดินหน้านา 5) แบรนด์ สเตปโซล ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบรรเทาอาการบาดเจ็บป่วยจากเส้นใยทางการแพทย์เพื่อสุขภาพ 6) แบรนด์ ละอองทอง เครื่องสำอางสมุนไพร 7) แบรนด์ ม่อนทรายคำ ผลิตภัณฑ์ผ้าและโครเชต์ 

8) แบรนด์ ลองกอย เสื้อผ้าล้านนา 9) แบรนด์ โซรอน คอสเมติก ครีมโกนหนวดจากสมุนไพร 10) แบรนด์ ไลฟ์ เฟอร์นิเจอร์ เฟอร์นิเจอร์จากไม้ลำไย 11) แบรนด์ แอร์ แฮนดิคราฟท์ ผ้าย้อมสีธรรมชาติ 12) แบรนด์ อารียาแฟชันดีไซส์ เครื่องประดับ แฮนด์เมด และ 13) แบรนด์ เอสเค เทรเลอร์ เสื้อผ้าสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี 

2. ผู้ประกอบการจากจังหวัดแพร่ 1 แบรนด์ ได้แก่ แบรนด์ ม่อฮ่อมแพร่ ผ้าม่อฮ่อม 

3. ผู้ประกอบการจากจังหวัดน่าน 1 แบรนด์ ได้แก่ แบรนด์ อีนาง กระเป๋าหนังผสมผ้าทอมือที่เย็บด้วยมือทั้งกระบวนการ