21 มิถุนายน 2565

สรุปมหากาพย์ดารุมะ

เตือน !!! คนชอบของถูก ไม่มีในโลก  และคิดจะทำธุรกิจ อย่าหวังพึ่งใคร 

1- “ดารุมะ ซูชิ” (Daruma Sushi) เป็นชื่อร้านบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่น สามารถทานได้ไม่จำกัด จุดเด่นของร้านคือแซลมอนสดที่ทานได้ไม่อั้นและราคาไม่แพง มีสาขา 26 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในจำนวนนี้ 6 สาขาเป็นของเจ้าของบริษัท อีก 20 สาขาเป็นการขายแฟรนไชส์


2- เจ้าของบริษัทคือ “บอลนี่ – เมธา ชลิงสุข” เขาจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทเมื่อมกราคม 2559 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ก่อนเปิดร้านเมธาได้เข้าเรียนหลักสูตรการทำซูชิที่โรงแรมดุสิตธานี แล้วเปิดดารุมะสาขาแรกที่อุดมสุข 50 ริมถนนสุขุมวิท


3- เมธาเคยให้สัมภาษณ์สื่อแห่งหนึ่งไว้เมื่อมกราคม 2565 ว่า ตอนอยู่ที่ออสเตรเลียเขาเคยทำงานร้านอาหารไทย พอกลับมาเมืองไทยเมื่อ 7-8 ปีที่แล้วก็ฝันอยากมีร้านอาหารของตัวเอง ซึ่งตอนนั้นธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นกำลังดังมากในไทย จึงหันมาทำร้านอาหารญี่ปุ่น


4- ดารุมะได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภค เพราะหลายสาขาเปิดในศูนย์การค้าที่มีชื่อเสียง จุดขายคือการจำหน่ายเวาเชอร์ (คูปองล่วงหน้า) ผ่านแอปพลิเคชันในราคาเพียง 199 บาท (รวม vat = 212 บาท) ทานได้ไม่อั้น บัตรมีอายุถึง 6 เดือน แต่มีเงื่อนไขคือต้องซื้อ 5 ใบขึ้นไปจึงจะได้ราคานี้


5- คนที่ซื้อเวาเชอร์ของดารุมะมีตั้งแต่บุคคลทั่วไปที่ซื้อหาไว้ทานเองกับครอบครัวเพื่อนฝูง ไปจนถึงพ่อค้าแม่ค้าคนกลางที่ซื้อมาขายต่อเพื่อทำกำไร ซึ่งคนกลุ่มหลังนี้ซื้อเวาเชอร์ตุนไว้จำนวนมาก
ร้านปิด-เจ้าของหายตัว-ล้มทั้งระบบ


6- วันที่ 17 มิถุนายน 2565 คนที่ซื้อเวาเชอร์ไว้และจะไปทานอาหาร พบว่าดารุมะหลายสาขาพร้อมใจกันขึ้นป้าย “ปิดร้าน 1 วัน เพื่อปรับปรุงระบบ” แต่จนถึงวันที่ 18 ก็ยังไม่เปิด บางร้านเก็บข้าวของบางส่วนไปแล้ว เพจร้านหายไป เว็บไซต์ก็ปลิว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ผิดปกติมาก เมื่อโทรเข้าไปสอบถามบางสาขาแจ้งว่า “ระบบส่วนกลางล่ม”


7- ต่อมาผู้จัดการร้านดารุมะสาขาหนึ่งออกมาเล่าว่า อยู่ ๆ เจ้าของบริษัทก็ดีดตัวเองออกจากไลน์กลุ่มทั้งหมด แล้วยังลบไลน์ตัวเองทิ้ง ไม่มีใครติดต่อเขาได้อีก โดยที่เจ้าของแฟรนไชส์และพนักงานร้านทั้งหมดไม่มีใครทราบว่าเกิดอะไรขึ้น ซัพพลายเออร์ก็ไม่ส่งวัตถุดิบให้ จึงจำเป็นต้องปิดบริการไปก่อน


8- ส่วนที่บอกว่าระบบล่ม เพราะลูกค้ากระหน่ำโทรถาม ไม่รู้จะตอบอย่างไรดี จะบอกว่าติดต่อผู้บริหารไม่ได้ก็กลัวจะมีผลต่อหน้าที่การงานในอนาคต จึงต้องตอบแบบนั้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า พนักงานก็เดือดร้อนเช่นกัน ยังไม่ได้รับเงินเดือนและไม่มีคำตอบให้กับอนาคตของตัวเอง


9- ผู้จัดการสาขาคนหนึ่งเล่าว่า ตนทำงานมา 3 ปี เจ้าของบริษัทเป็นเจ้านายที่น่ารักกับลูกน้อง แต่บริษัทนี้ไม่มีฝ่ายบุคคล ไม่มีฝ่ายบัญชี ไม่มีทีมบริหาร การตัดสินใจทั้งหมดอยู่ที่เจ้าของบริษัทคนเดียว เมื่อเขาหายไปจึงล้มทั้งระบบ นอกจากนี้ยังพบว่าเขาค้างจ่ายค่าปลาแซลมอนให้ซัพพลายเออร์แห่งหนึ่งกว่า 30 ล้านบาท


10- ส่วนบริษัทที่พัฒนาแอปฯ ให้ดารุมะ เมื่อทราบข่าวก็รีบไปแสดงความบริสุทธิ์ใจกับตำรวจและ สคบ. ว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมปิดระบบในแอปฯ เพราะเกรงจะมีคนซื้อเวาเชอร์เพิ่ม


11- ต่อมาทราบว่าเมื่อตอนดึกของคืนวันที่ 16 มิถุนายน เมธาได้บินออกนอกประเทศไปแล้ว ปลายทางอยู่ที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (อ้างอิงจากผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง) บางกระแสข่าวบอกว่าหลังจากนั้นเขาบินต่อไปสหรัฐอเมริกา


⚫️ 2 ข้อสังเกตน่าสนใจ

:

12- มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ร้านไม่มีทางได้กำไรจากการขายเวาเชอร์ราคานี้ เพราะลำพังปลาแซลมอนก็ราคากิโลกรัมละ 380 บาทแล้ว (อ้างอิงจากราคาที่ซัพพลายเออร์ขายให้ร้านดารุมะ) ลูกค้าส่วนใหญ่ก็มาเพื่อจะกินแซลมอนแบบไม่อั้น จึงเชื่อว่าเมธาวางแผนจะลอยแพลูกค้าและผู้ลงทุนมาตั้งแต่แรก


13- “หนุ่ม กรรชัย” ซึ่งเคยทำแฟรนไชส์ไอศกรีม Monster ตั้งข้อสังเกตว่า การทำแฟรนไชส์ของดารุมะมีลักษณะคล้ายแชร์ลูกโซ่ คือผู้ซื้อแฟรนไชส์จ่าย 2.5 ล้านบาทแค่ครั้งแรก หลังจากนั้นไม่ต้องจ่ายอะไรอีก เมธาจ่ายให้หมดทั้งค่าเช่าสถานที่ เงินเดือนพนักงาน ค่าวัตถุดิบ ผู้ซื้อรอรับเงินปันผล 10% ทุกวันที่ 16 ของเดือนอย่างเดียว


⚫️ ผู้เสียหาย 4 กลุ่ม

:

14- คาดว่าเรื่องนี้มีมูลค่าความเสียหายร่วม 100 ล้านบาท มีผู้เสียหายอย่างน้อย 4 กลุ่มด้วยกัน คือ ผู้ซื้อแฟรนไชส์, ผู้ซื้อเวาเชอร์, พนักงาน และซัพพลายเออร์ นอกจากนี้ยังพบว่าบางสาขาค้างจ่ายค่าเช่าสถานที่มา 2 เดือนแล้ว


◾️ ผู้เสียหาย: ผู้ซื้อแฟรนไชส์


15- หนึ่งในคนที่ซื้อแฟรนไชส์ดารุมะคือ “เพชร กฤชฐารวี” ทายาทเครื่องครัวจระเข้ คุณเพชรเคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ “กรุงเทพธุรกิจ” เมื่อกันยายน 2564 ว่าเหตุผลที่เลือกลงทุนกับดารุมะเพราะเป็นเพื่อนกับเจ้าของแบรนด์ตั้งแต่ประถม โดยเธอซื้อแฟรนไชส์ไว้ 6 สาขา


16- หลังเกิดเหตุ คุณเพชรได้โพสต์ชี้แจงว่า หลังซื้อแฟรนไชส์เจ้าของแบรนด์ดูแลเองทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว ตั้งแต่การบริหารจัดการ บัญชีรายรับรายจ่าย ไปจนถึงการจัดโปรโมชั่นต่าง ๆ แล้วปันผลให้เธอเป็นรายเดือน


17- ผู้ซื้อแฟรนไชส์อีกรายเปิดสาขาที่สายไหม เล่าว่าซื้อแฟรนไชส์ในราคา 2.5 ล้านบาท ข้อตกลงคือเจ้าของแบรนด์จะปันผลกำไรให้ 10% จากยอดขายของทุกเดือน แต่ตนได้รับเงินปันผลแค่ 2 เดือนแรกเท่านั้น เฉลี่ยเดือนละแสนกว่าบาท แต่เดือนที่ 3 ไม่ได้เงิน และเจ้าของแบรนด์ไม่ส่งวัตถุดิบให้ จะไปซื้อวัตถุดิบจากแหล่งอื่นก็ไม่ได้เพราะผิดข้อสัญญา ทำให้ไม่สามารถเปิดร้านได้


18- นอกจากนี้ยังพบว่าเมธาขายแฟรนไชส์สาขาหนึ่งให้กับบุคคล 2 คน โดยทั้งสองคนไม่รู้ว่ามีการขายซ้ำซ้อน เพิ่งมาทราบเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ว่าต่างก็ถือสัญญาเป็นเจ้าของสาขาเดียวกัน ทำให้เมธาได้รับเงินในการขายแฟรนไชส์สาขานี้สาขาเดียว 5 ล้านบาท

.

◾️ ผู้เสียหาย: ผู้ซื้อเวาเชอร์


19- พบว่าร้านเปิดขายเวาเชอร์ผ่านแอปฯ เมื่อปี 2564 และลดราคาลงเรื่อย ๆ จนเหลือ 199 บาท ขายไปแล้วเกือบ 6 แสนใบ ใช้ไปแล้วประมาณ 4 แสนใบ เหลือที่ยังไม่ได้ใช้ 1.29 แสนใบ คิดเป็นจำนวนผู้ถือเวาเชอร์ประมาณ 3.3 หมื่นราย


20- หนึ่งในผู้ซื้อคือ “คุณเจน” เป็นแม่ค้าคนกลาง เธอซื้อเวาเชอร์เป็นเงินกว่า 5.5 แสนบาท ซึ่งชำระโดยการบัตรรูด ทำให้ตอนนี้เธอต้องเป็นหนี้ และยังมีเวาเชอร์ที่ไม่ได้ขายถึง 2,628 ใบ

.

◾️ ผู้เสียหาย: พนักงาน


21- ดารุมะมีพนักงานทุกสาขารวม 395 คน ซึ่งต่อมาพบว่าทุกคนมีสถานะเป็นลูกจ้างนอกระบบหรือแรงงานเถื่อน เพราะเมธาไม่ได้ทำเอกสารสัญญาจ้างใด ๆ ให้ และบริษัทดารุมะก็ไม่มีสำนักงานจริง แต่ใช้ที่ตั้งร้านสาขาหนึ่งมาจดทะเบียนเป็นสำนักงาน


22- เบื้องต้นตำรวจคาดว่า ตอนแรกเจ้าของบริษัททำธุรกิจร้านอาหารจริง แต่ประสบปัญหาหนี้สินจึงจัดโปรโมชั่น แต่ราคาไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง ต้นทุนสูงแต่ขายถูก และยังมีหนี้สินจากซัพพลายเออร์+ค้างค่าเช่าที่ จึงระดมจัดโปร 199 กินไม่อั้น โดยเจตนาฉ้อโกง 


23- ใครที่เป็นผู้เสียหายสามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โทร 1106 หรือสอบถามข้อมูลได้ที่เพจ “ตำรวจสอบสวนกลาง” นะคะ