11 พฤษภาคม 2565

แม็คโคร ทำกำไรไตรมาสแรก 2,050 ล้านบาท โตแข็งแกร่ง 18.3%

เร่งต่อยอดธุรกิจ O2O สู่ผู้นำธุรกิจค้าส่งค้าปลีกในภูมิภาคเอเชีย ท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจ 

MAKRO โชว์กำไรสุทธิ ไตรมาสแรกปี 2565 รวม 2,050 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,734 ล้านบาท ขานรับการฟื้นตัวของธุรกิจ และผลพวงการรวมกิจการกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ดันยอดขายโตถึง 93.7% หรือกว่า 1 แสนล้านบาท พร้อมเดินหน้ารุกตลาด O2O ต่อยอดธุรกิจออนไลน์ อี-คอมเมิร์ซ เสริมศักยภาพสู่เป้าหมายผู้นำธุรกิจค้าส่งค้าปลีกในภูมิภาคเอเชีย ท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้นในธุรกิจค้าส่งค้าปลีก 





นางเสาวลักษณ์ ถิฐาพันธ์ ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจ สายงานบัญชีและการเงิน เปิดเผยว่า ไตรมาสแรกของปี 2565  บริษัทฯ มีการเติบโตในระดับที่ดี จากสถานการณ์การฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ภาคการท่องเที่ยวของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร   โดยบริษัทมีกำไรสุทธิ 2,050 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,734 ล้านบาท  และมียอดขายเติบโต 106,268 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจํานวน 51,400 ล้านบาท หรือ 93.7%  จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน  

ผลการดำเนินงานที่ดีในไตรมาสแรกนี้  เป็นผลมาจากการรวมกิจการกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2564 ประกอบกับการเติบโตของรายได้จากการขายของกลุ่มธุรกิจค้าส่ง ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจแม็คโครประเทศไทย ทั้งการขยายสาขาใหม่ การเปิดแพลตฟอร์มตลาดค้าส่งออนไลน์ maknet  สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการรายย่อย 

นอกจากนี้ธุรกิจ แม็คโครต่างประเทศ ยังมีการเติบโตจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นใน กัมพูชา อินเดีย และ เมียนมาร์  รวมถึงธุรกิจฟูดเซอร์วิสที่ได้รับอานิสงส์จากกลุ่มโรงแรมร้านอาหาร ที่ฟื้นตัวจากวิกฤตโรคโควิด-19 และภาคการท่องเที่ยว  ตลอดจนรายได้จากค่าเช่าและการให้บริการศูนย์การค้าของกลุ่มธุรกิจค้าปลีก  

นางเสาวลักษณ์ กล่าวอีกว่า ผลการดำเนินงานดังกล่าว ตอกย้ำถึงความแข็งแกร่งและศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยนับจากนี้บริษัทฯ มีแผนงานในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี สร้างโอกาสการเติบโตในตลาด O2O เพื่อขยายธุรกิจออนไลน์และออฟไลน์อย่างต่อเนื่อง  ทั้งในกลุ่มค้าส่ง (แม็คโคร) และค้าปลีก (Lotus’s) โดยตั้งเป้าหมายสู่การเป็นผู้นำธุรกิจค้าส่งค้าปลีกในภูมิภาคเอเชีย 

อย่างไรก็ตาม  นับจากนี้ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก  ยังคงต้องเผชิญความท้าทายท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ  ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น  สถานการณ์ราคาน้ำมันในประเทศและทั่วโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น  ส่งผลต่อต้นทุนราคาสินค้าและการดำเนินงาน  แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อ   ค่าครองชีพสูงที่อาจส่งผลต่อการชะลอตัวของกำลังซื้อ  รวมถึงกระแสการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะส่งผลกับทุกธุรกิจ