22 มีนาคม 2565

“พลเอก ประยุทธ์” มุ่งเน้นการอนุรักษ์น้ำ–ลดการปนเปื้อนน้ำใต้ดินสอดรับธีมวันน้ำโลก

 “ร่วมรู้จัก อนุรักษ์ น้ำใต้ดิน” 22 มี.ค. นี้

“พลเอก ประยุทธ์” เชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมอนุรักษ์น้ำ บริหารจัดการน้ำ พร้อมใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และร่วมกันลดการปนเปื้อนของน้ำใต้ดิน สอดคล้องกับหัวข้อ “ร่วมรู้จัก อนุรักษ์ น้ำใต้ดิน” ในวันน้ำโลก 22 มีนาคม นี้ เพื่อบรรเทาวิกฤติน้ำ และเร่งขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามนโยบายสหประชาชาติ

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า “น้ำ” คือความต้องการขั้นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด แต่จากการขยายตัวของเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ที่ส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ทั่วโลกต้องประสบกับภาวะการขาดแคลนน้ำที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรง ดังนั้น องค์การสหประชาชาติ (UN) จึงประกาศให้วันที่ 22 มีนาคม ของทุกปี เป็น “วันน้ำโลก” หรือ “World Water Day” นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เพื่อเป็นการระลึกถึงความสำคัญของน้ำ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในเรื่องของการอนุรักษ์น้ำ และการพัฒนาแหล่งน้ำ เนื่องจากตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจก่อให้เกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำในอนาคต และเนื่องในโอกาส “วันน้ำโลก” ประจำปีนี้ ทางองค์การสหประชาชาติได้กำหนดหัวข้อ “Groundwater–Making the invisible visible.” หรือสื่อสารภาษาไทยว่า “ร่วมรู้จัก อนุรักษ์ น้ำใต้ดิน” เพื่อเน้นย้ำให้ทุกประเทศหันมาให้ความสำคัญกับการรักษาดูแลทรัพยากรน้ำใต้ดินมากยิ่งขึ้น โดยสำหรับประเทศไทย พลเอก ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำ ที่ใช้ทั้งในด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการบริการ ที่ต้องมีการบริหารจัดการให้สอดรับกับการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ไปพร้อมกัน เพื่อป้องกันและบรรเทาวิกฤติการขาดแคลนน้ำ โดยในปี พ.ศ. 2565 นี้ รัฐบาลขอเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงการอนุรักษ์น้ำ โดยการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และร่วมกันลดการปนเปื้อนของน้ำใต้ดิน ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นของ “วันน้ำโลก” อันจะนำไปสู่ประโยชน์สูงสุดในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน พร้อมปลูกจิตสำนึกให้ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์ต่อไป 

“ปัญหาด้านน้ำ โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนน้ำจืด ถือเป็นวาระสำคัญของโลก เพราะน้ำคือทรัพยากรที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ ในการประชุมของผู้นำในเวทีสหประชาชาติ จึงได้ให้ความสำคัญในเรื่อง “น้ำ” เป็นอย่างยิ่ง โดยมีการส่งเสริมการดำเนินการตามเป้าหมายที่เกี่ยวกับน้ำภายใต้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและเร่งขับเคลื่อนประเด็นด้านน้ำภายใต้ทศวรรษของน้ำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สทนช. ในฐานะหน่วยกำกับนโยบายด้านน้ำของประเทศไทย ได้เร่งขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำ 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4.จัดการคุณภาพน้ำ 5.การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ และ 6.การบริหารจัดการ เพื่อตอบสนองความต้องการของรัฐบาลไทยซึ่งมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำของประเทศให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบาย “ทศวรรษแห่งการร่วมมือปฏิบัติของทุกประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ของสหประชาชาติได้” เลขาธิการ สทนช. กล่าว


สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ / 22 มีนาคม 2565