หนึ่งในประเพณีไทยที่สืบสานกันมาตราบชั่วหลานชั่วหลาน และเป็นที่โด่งดังไปทั่วโลกนั่นคือ “วันลอยกระทง” ซึ่งทั่วประเทศต่างพร้อมใจกันจัดงานขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “วันเพ็ญเดือนสิบสอง” ในปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๑๙ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ โดยหนึ่งในสถานที่จัดงานวันลอยกระทงที่จัดกันมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีนั่นคือ “วัดหัวกระบือ”ตั้งอยู่ริมคลองหัวกระบือ ในแขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
ดร.พระครูวิบูลพัฒนกิตติ์ (สละ กตปุญโญ) เจ้าอาวาสวัดหัวกระบือกล่าวว่าประเพณีไทยกับพุทธศาสนามักจะเคียงคู่มาด้วยกันเสมอ เนื่องจากวัดจะเป็นศูนย์รวมจิตใจและศูนย์กลางในการกิจกรรมต่าง ๆ อย่างงานประเพณีลอยกระทงก็มักจะจัดกันในวัดซึ่งมีการทำบุญด้วยเพราะเป็นวันที่ตรงกับวันพระพอดี อย่างที่วัดหัวกระบือ ในวันศุกร์ที่ ๑๙ พฤศจิกายนนี้ ช่วงเช้ามีพิธีทอดกฐินประจำปี ส่วนช่วงเย็นถึงค่ำมีกิจกรรมวันลอยกระทง ใช้ชื่องานว่า“สืบสานประเพณีวัฒนธรรมทางสายน้ำ ลอยกระทง ๒๕๖๔” ซึ่งนอกจากได้ลอยกระทงใน ๒ ฝั่งคลอง ไหว้พระและทำบุญต่าง ๆ เช่น ไถ่ชีวิตโคกระบือ เป็นต้น ยังมีสีสันของงานคือการประกวด๕ ประเภทคือ หนูน้อยนพมาศ,นางนพมาศ,เทพบุตรนพมาศ,นางนพมาศจำแลงและการประกวดกระทงจากวัสดุธรรมชาติ ประจำปี ๒๕๖๔ รวมรางวัลมูลค่ากว่า ๑ แสนบาท
ซึ่งในปีนี้ได้กูรูนางงามระดับประเทศคุณหนุ่ม-นันท์นภัทร เจิมจุติธรรมมาเป็นแม่ใหญ่จัดงานพร้อมด้วยคุณเรย์-อิสริยา อภิชัย มิสไทยแลนด์เวิลด์๑๙๙๑,คุณเชอรี่-ดร.เมลิสา มหาพล มิสไทยแลนด์ ปี ๒๐๐๖, คุณคริส ปัญญา International Pageant Agency,คุณเสก-ทรงสิทธา จันทรา ออแกไนเซอร์มือทอง,คุณบ๊อบ-ดร.จุมพล โพธิสุวรรณ บรรณาธิการข่าว สำนักข่าวบางกอกทูเดย์ กับ คุณหนุ่ย-ดร.กัญฐณา สนเจริญ มาช่วยงานด้านประชาสัมพันธ์,โค้ชปิง-วชิรวิชญ์ปิติศิริธนบูรณ์ แห่ง SETTAPICHPERFORMING ARTS ACADEMY มาช่วยกำกับเวทีและดูแลผู้เข้าประกวด
ดร.พระครูวิบูลพัฒนกิตติ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ให้เกียรติมาร่วมตัดสิน นอกเหนือจาก ๒ มิสไทยแลนด์เวิลด์แล้ว ยังมี ครูปิ่น-ปิ่นศิริ ศิริปิ่น ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาศิลปิน SMD ๑๙๘๗,ดร.วโรดม ศิริสุขกรรมการผู้จัดการ บริษัท เก้าสตาร์กรุ๊ป จำกัด,คุณกนกพร ชาวดรMrs.Grand Prix๒๐๑๙,คุณชยเวศ สมวงศ์รอง Miss LGBT Thailand ๒๐๑๙และ คุณ Hotin Author Lo นายแบบ ดำเนินรายการโดย คุณสิทธิพลพร และ คุณชมภู
“อยากให้ทุกคน โดยเฉพาะพุทธศาสนิกชน ที่นอกจากได้มาร่วมกิจกรรมทั้ง ๒ อย่าง จะได้ชื่นชมกับสิ่งต่าง ๆ ภายในวัดหัวกระบือหรือสมัยก่อนเรียกว่า “วัดศีรษะกระบือ” เนื่องจากภายในบริเวณวัดมีหัวกระบือหรือศีรษะกระบือจำนวนมาก วัดแห่งนี้ที่มีประวัติอันยาวนาน สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายราว ปี พ.ศ.๒๒๘๑ ถึงวันนี้ครบ ๒๘๓ ปีแล้ว”
ทางด้าน คุณหนุ่ม-นันท์นภัทร เจิมจุติธรรมกูรูนางงามระดับประเทศที่ได้มาร่วมจัดงานให้กับวัดหัวกระบือเป็นครั้งแรก กล่าวว่า นับว่าเป็นความกรุณาของ ดร.พระครูวิบูลพัฒนกิตติ์ เจ้าอาวาสวัดหัวกระบือ ที่ให้โอกาสมาช่วยจัดงานประกวดร่วมกัลยาณมิตรหลานท่าน จากการประสานความร่วมมือของคุณเรย์กับคุณคริส ซึ่งจะได้ใช้ประสบการณ์มาช่วยจัดช่วยสร้างสรรค์งานอย่างเต็มที่ รู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจที่ได้มาช่วยงานวัดหัวกระบือซึ่งเป็นวัดที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานเกือบ ๓๐๐ ปี และได้บอกกล่าวกับท่านเจ้าอาวาสว่า งานนี้ไม่ขอรับค่าตัวแต่อย่างใด ขอร่วมอนุโทนาเป็นการทำบุญด้วย ตนเองเชื่อว่าด้วยเพราะอานิสงส์ที่ชอบทำบุญอย่างสม่ำเสมอจึงทำให้รอดตายจากการป่วยหนักเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว
ทั้งนี้ภายในวัดหัวกระบือมีสิ่งที่น่าสนใจ ประกอบด้วย
๑.หลวงพ่อโตพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์พระประธานในโบสถ์เป็นพระพุทธปูนปั้นศิลปะแบบสุโขทัยพระพักตร์ยิ้มแย้มแจ่มใส โดยเหตุผลที่เรียกว่าหลวงพ่อโตนั้นเพราะสมัยโบราณเมื่อชาวบ้านเห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ก็จะเรียกหลวงพ่อโตไม่เพียงแค่คนไทยเท่านั้นชาวต่างชาติยังมากราบไหว้ขอพร
๒.พระอุโบสถลอยฟ้า กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินก่อสร้างสำหรับพระอุโบสถจตุรมุขไม้สักทองหลังใหม่ มีจำนวน ๓ ชั้น เมื่อสร้างเสร็จจะกลายเป็นพระอุโบสถลอยฟ้าที่สูงและมีความสวยงามแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครเลยทีเดียว ทั้งนี้พระอุโบสถหลังเดิมมีขนาดเล็กมาก ซึ่งก็เป็นจุดหนึ่งที่มีผู้คนมาเช็คอินกันเป็นจำนวนมาก
๓.วังพญานาคราช เป็นการจำลองลักษณะคล้ายถ้ำมี ๒ ชั้นบริเวณด้านหน้ามีรูปปั้นพญานาคขนาดใหญ่ ๒ ตัว เดินเข้าไปภายในจะพบบ่อเลี้ยงขนาดใหญ่เลี้ยงปลาคราฟเป็นจำนวนมากเมื่อขึ้นไปยังบริเวณชั้น ๒ จะสามารถมองเห็นทัศนียภาพของวัดหัวกระบือและบริเวณโดยรอบ นอกจากนี้ยังมี นครบาดาลตำนานพญานาคภายในสถานที่มีรูปปั้นจำลอง อาทิ พญานาคาและพญานาคี ทั้งในรูปลักษณ์นาคและรูปลักษณ์ในภาคมนุษย์
๔.น้ำตกจำลองพร้อมรูปปั้นพญาเต่ายักษ์โดยที่ใต้ฐานเต่ายักษ์และบริเวณโดยรอบนั้นเป็นศูนย์อนุรักษ์เต่าไทย
๕.กองซากหัวกระบือซึ่งเป็นสัญลักษณ์และที่มาของชื่อวัดแห่งนี้
๖.ตลาดริมน้ำวัดหัวกระบือเป็นตลาดริมน้ำที่เกิดจากแนวคิดของเจ้าอาวาสวัดหัวกระบือพระครูวิบูลย์พัฒนกิตต์ซึ่งมีแนวคิดที่จะส่งเสริมรายได้ให้กับประชาชนที่อยู่บริเวณคลองหัวกระบือคลองเฉลิมชัยพัฒนาและบริเวณใกล้เคียงเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจครอบครัวเศรษฐกิจชุมชนตามหลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงรวมทั้งเป็นส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำซึ่งเดิมประชาชนในท้องที่แถบนี้จะขายสินค้าในร้านค้าสองข้างทางของถนนที่ตรงไปยังท่าน้ำคลองหัวกระบือมีบางส่วนที่ขายสินค้าผักผลไม้ไอศกรีมเป็นต้นโดยเรืออีแปะพายขายของอยู่ในคลองหัวกระบือคลองเฉลิมชัยพัฒนาซึ่งเป็นคลองที่ไปเชื่อมต่อกับคลองสนามชัยคลองบางมดเป็นต้น
๗.สถานที่พักผ่อนบริเวณด้านข้างวัดเป็นสถานที่พักผ่อนของนักท่องเที่ยวซึ่งมีบึงน้ำบริเวณกว้างใหญ่ มีให้บริการเรือจักรยานน้ำพร้อมชมและให้อาหารฝูงปลาจำนวนมากมาย ซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์
๘.อาณาจักรหมูป่าโดยมีคนนำมามอบให้วัดหัวกระบือ ซึ่งทางวัดได้เลี้ยงไว้ได้กระทั่งแพร่พันธุ์ออกลูกเป็นจำนวนมาก ซึ่งญาติโยมใจบุญคอยเลี้ยงและให้อาหารจนเชื่อง
๙.ไถ่ชีวิตโคกระบือนับว่าเป็นจุดไถ่ชีวิตโคกระบือที่มีขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล