18 ธันวาคม 2561
สทท. แถลงสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยปี ๒๕๖๒ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไตรมาส ๔/๒๕๖๑
นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) แถลงข่าวสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยปี ๒๕๖๒ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไตรมาส ๔/๒๕๖๑ ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อคาดการณ์ถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการในไตรมาสที่ ๔ ปี ๒๕๖๑ นี้ เป็นผลการสำรวจในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม และคาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นในไตรมาสที่ ๑/๒๕๖๒ ตลอดจนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี ๒๕๖๑
ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น ไตรมาสที่ ๔/๒๕๖๑ เท่ากับ ๑๐๐ อยู่ในระดับปกติซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำกว่าปกติในไตรมาส ๒ (๙๔) และไตรมาส ๓ (๙๖) เนื่องมาจากเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว อีกทั้งยังได้รับปัจจัยสนับสนุนการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกิจกรรมใหม่ๆ ที่น่าสนใจจากภาครัฐ เช่น ททท.ซึ่งช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของไทยได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงการขยายตัวของสายการบินต้นทุนต่ำและต้นทุนการเดินทางอื่นๆ ที่ราคาถูกลงช่วยทำให้การเดินทางท่องเที่ยวง่ายขึ้น แม้จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าโลกซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจโลกและการท่องเที่ยวชะลอตัวลงไปบ้าง
โดยเฉพาะประเทศไทยเองมีปัญหาในเรื่องอุบัติเหตุของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งภาครัฐและเอกชนที่ได้ช่วยกันประคับประคองและแก้ไขปัญหาร่วมกันมาโดยตลอด ทำให้ในปีนี้ยังคงมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศทั้งสิ้นประมาณ ๓๘.๒๕ ล้านคนและสร้างรายได้ ๒ ล้านล้านบาท เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่ตอนต้นปี ซึ่งมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม VOA ในช่วงปลายปีก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง ๑ ล้านคนจากที่ประมาณไว้เดิมในช่วงไตรมาส ๓ คิดเป็นรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ ๕ หมื่นล้านบาท และในปีหน้า (๒๕๖๒) ไตรมาสที่ ๑/๒๕๖๒ คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นเท่ากับ ๑๐๐ ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงปกติอย่างต่อเนื่อง จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาท่องเที่ยวในประเทศประมาณ ๔๐ ล้านคน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ ๕.๕ จากปีนี้ และสร้างรายได้ให้กับประเทศสูงถึง ๒.๓ ล้านล้านบาท
ประกอบกับในต้นปีหน้าสทท.จะมีโครงการร่วมกับทาง สนช.(สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) คือ โครงการ We Care About You โดยจะเลี้ยงอาหารไทยให้กับนักท่องเที่ยวจีน ๑๐,๐๐๐ คน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์อาหารไทยในตลาดโลก รวมถึงจะมีการสร้างสถิติโลกในการจัดทำข้าวเหนียวมะม่วงที่หนักที่สุดในโลก (Guinness Book World Record)
ซึ่งข้าวเหนียวมะม่วงเป็นเมนูขนมไทยที่ติดอันดับ ๕๐ ขนมอร่อยจากทั่วโลกจากการจัดอันดับล่าสุดของ CNN ทางสทท.อยากให้คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างวัฒนธรรมในการรับประทานอาหารท้องถิ่นที่ใช้วัตถุดิบจากภายในพื้นที่ เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นการได้ไปสัมผัสกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของที่นั่นจริงๆ และเป็นการกระจายรายได้สู่พื้นที่อย่างยั่งยืน
ส่วนการสำรวจความเห็นทั้งผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยวชาวไทย และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติพบว่า ปัญหาหลักที่ควรได้รับการแก้ไขคือการบริการขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่มีไม่เพียงพอและไม่ได้มาตรฐาน
โดยการสำรวจความเห็นพบว่า ควรต้องมีการพัฒนาการบริการขนส่งสาธารณะในแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะรถแท็กซี่หรือรถรับจ้างประเภทต่างๆ เช่น การพัฒนาและใช้ระบบลักษณะ Grab/Uber ให้ถูกกฎหมายและอาจจะขยายไปยังรถโดยสารประเภทอื่น (รถตู้ รถสองแถว) เพื่อเพิ่มการบริการ และเพิ่มความสะดวกในการติดต่อ และควบคุมดูแลมาตรฐานได้ ส่งเสริมพัฒนากลไกในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยว ผ่านการดำเนินงานกองทุนที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะในการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว (สอดคล้องกับการดำเนินงานของภาครัฐในปัจจุบัน
ในการพัฒนาการจัดตั้งและการดำเนินงานกองทุนพัฒนาการท่องเที่ยว) จัดทำปฏิทินการท่องเที่ยวของแต่ละพื้นที่ให้สอดรับและมีจุดเด่นตลอดทั้งปี และให้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านทางช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย
สทท.จึงขอเสนอให้ภาครัฐควรร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สร้างมาตรฐาน
ให้แหล่งท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยวเพื่อให้ได้มาตรฐานสากล มีความปลอดภัยและนักท่องเที่ยวไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากการซื้อสินค้าและบริการ รวมทั้งเร่งพัฒนาระบบการเดินทางสาธารณะเพื่อเข้าถึงในแหล่งท่องเที่ยว โครงการเสริมสร้างและบำรุงรักษาสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง เพื่อบูรณาการให้ยั่งยืน ป้องกันปัญหาเกิดแหล่งเสื่อมโทรมในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างกิจกรรมเพื่อแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆในชุมชนเมืองรอง