09 ตุลาคม 2561

จ.อุบลฯ ปักหมุดจุดหมายใหม่ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี


‘เส้นทางธรรมนำวิถีพอเพียง’ 4 ชุมชนใน อ.ตาลสุม




เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่สำหรับโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ‘เส้นทางธรรมนำวิถีพอเพียง’ อ.ตาลสุม จ.อุบลราชธานี ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน โดย นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน ณ ริมสระบัว บ้านห่องแดง ต.นาคาย อ.ตาลสุม สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ล่าสุดที่ได้รับความนิยมจากประชาชนและนักท่องเที่ยว มาเดินชมทุ่งนาบัว ถ่ายรูปบนสะพานไม้ เช็คอิน และแชร์ภาพอย่างแพร่หลายอยู่ในขณะนี้






อ.ตาลสุม อยู่ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานีไปทางทิศตะวันออกประมาณ 34 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่มีต้นตาลจำนวนมากอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล จึงเรียกบริเวณนี้ว่า ‘ตาลชุม’ ต่อมาเพี้ยนเป็น ‘ตาลสุม’ มีคำขวัญประจำอำเภอว่า “ผ้าห่มงาม ข้าวหลามรสดี มากมีลูกตาล หวานมันฝักบัว” โดยมีชุมชนเป้าหมายในโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ‘เส้นทางธรรมนำวิถีพอเพียง’ 4 ชุมชน ประกอบด้วย บ้าน
ห่องแดง, บ้านสำโรงใหญ่, บ้านคำหว้า และบ้านนามน



​“บ้านห่องแดง ต.นาคาย” เป็นชุมชนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ด้วยต้นตาล
ซึ่งให้ลูกตาลรสชาติดีตลอดทั้งปีจนกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของชุมชน นอกจากภาพทุ่งนาเขียวขจีที่รายล้อมด้วยต้นตาลแล้ว ล่าสุด ‘ทุ่งนาบัวบ้านห่องแดง’ ก็กลายเป็นจุดเช็คอินแห่งใหม่ที่ดึงดูดผู้คนมาเที่ยวชมอย่างไม่ขาดสาย เป็นโอกาสให้ผลิตภัณฑ์ OTOP บ้านห่องแดง ได้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากดอกบัว ได้แก่ น้ำนมเม็ดบัว โดนัทเม็ดบัว ลูกประคำเม็ดบัว ดอกบัวแห้ง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น หมวกสาน เสื่อจากใบเตย เสื่อผือ กระติ๊บข้าว ตาลสดอ่อน และขนมตาล สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจลิ้มรสอาหารพื้นถิ่นของบ้านห่องแดง ต้องไม่พลาดชิม 5 เมนูเด็ด ได้แก่ยำผักจากเม็ดบัว ต้มไก่บ้านใส่ใบมะขาม ปลาทอด ส้มตำ และบัวลอยแก้ว

​“บ้านสำโรงใหญ่ ต.สำโรง” เป็นชุมชนที่มีชื่อเสียงด้านการอนุรักษ์งานพุทธศิลป์ด้วยฝีมือการวาดภาพพุทธประวัติที่มีสีสันสวยงาม โดยมีการจัดตั้งกลุ่มผลิตผ้าผะเหวด หรือผ้าวาดภาพพระเวสสันดรชาดก
ซึ่งถือเป็นงานหัตถกรรม OTOP ที่ขึ้นชื่อและได้รับการยอมรับทั้งในท้องถิ่นและในระดับจังหวัด สอดคล้องกับสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางจิตใจ นั่นคือ หลวงพ่อพระเจ้าใหญ่ประทานพร วัดสำโรงใหญ่ ที่คนในชุมชนและนักท่องเที่ยวนิยมมากราบไหว้ขอพร ขณะที่ผลิตภัณฑ์ OTOP ที่มีชื่อเสียงนอกจาก
ผ้าพระเวสสันดรชาดกแล้ว ยังมีกรอบพระ เครื่องจักสาน ผ้าห่มนาโน พรมเช็ดเท้า พริกป่นแปรรูป แจ่วบอง กล้วยฉาบ และมะยมเชื่อม ส่วนเมนูพื้นบ้านที่คนในชุมชนพร้อมเสิร์ฟนักท่องเที่ยว ได้แก่ แกงหน่อไม้ ต้มไก่บ้าน ป่นปลา-นึ่งผัก แจ่วบอง และข้าวเม่าคลุกมะพร้าวอ่อน


​“บ้านคำหว้า ต.คำหว้า” เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่โดดเด่นด้านการดำเนินชีวิตตามวิถีพอเพียง ทรัพยากร
ทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ถูกนำมาแปรรูปเป็นของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันก็กลายเป็นสินค้า OTOP หลากหลายประเภทที่สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างน่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็น ไม้กวาดทางมะพร้าว กระเป๋าผ้าฝ้าย ผ้ารองแก้ว พรมเช็ดเท้า เสื่อทอ เปล ยาหม่อง น้ำมันเขียว รวมไปถึงงานสานพลาสติก ได้แก่ พัด ตะกร้าสาน ส่วนเมนูอาหารพื้นถิ่นที่ชาวบ้านคำหว้า  ตั้งใจจัดให้นักท่องเที่ยวชิม ได้แก่ ต้มไก่บ้าน แกงหน่อไม้ ป่นปลา แจ่วบอง น้องนางทรงเครื่อง (ไข่ตุ๋น) และน้องนางรอดรู (
ลอดช่อง)




“บ้านนามน ต.ตาลสุม” เป็นชุมชนที่อยู่ติดกับแม่น้ำมูล คนในชุมชนส่วนใหญ่จึงออกหาปลาเป็นอาชีพหลัก และสืบสานภูมิปัญญาทางหัตถกรรมจากรุ่นสู่รุ่น พัฒนาต่อๆ กันมาจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ที่น่าสนใจ ได้แก่ ตะกร้าจากไม้ไผ่ ตะกร้าจากพลาสติก เบาะรองนั่ง ผ้ารองจาน ผ้ารองแก้ว เปลผ้า กระเป๋าผ้า ผ้าห่ม พรมเช็ดเท้า และไม้ถูพื้น ขณะเดียวกัน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสรสชาติอาหารพื้นถิ่น ชาวบ้านนามนจึงได้จัดสำรับเด็ดมาโดยเฉพาะ ได้แก่ ลาบปลา ยำน้องแก้ว (ปลาแก้ว) สิบล้อยกล้อ (ปูนาทอด) ป่นปลา-ลวกผัก ไข่หน้ามน (ไข่เจียว) และนารีจำศีล (กล้วยบวดชี)


ทั้งนี้ จังหวัดอุบลราชธานีมุ่งหวังว่าโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน จะสร้างรายได้แบบกระจายตัวทั่วถึงทั้งชุมชน และพัฒนาศักยภาพทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

สนใจสอบถามข้อมูลชุมชนท่องเที่ยวได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอตาลสุม โทรศัพท์ 081-8234131